"BCG" กลไกสำคัญของไทย ในยุคเศรษฐกิจ-สังคม เปลี่ยน
โมเดล "เศรษฐกิจ BCG" ขณะนี้ เปรียบเสมือนวัคซีนสำคัญของประเทศ เป็นกลไกป้องกันจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และ ถือเป็นโอกาส กระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ จากรากฐาน ทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวิภาพ ที่ไทยมี
ประเทศไทยมีรากฐาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งดีๆ ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เช่น ศิลปวัฒนธรรม เป็นรากฐานที่หลายประเทศไม่มี กว่า 10% ของความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ที่ไทย กลไกสำคัญ คือ การที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติ ได้แก่
- เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy)
- เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
- เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
เมื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยังส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย ทำให้ BCG ตอบโจทย์ทั้งปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่ รุ่นกลาง หรือรุ่นเก๋า รวมถึงตอบโจทย์อนาคตของโลกใบนี้ ที่มีเป้าหมายในเรื่องของการเติบโตอย่างยั่งยืน
วันนี้ (20 พ.ค. 65) “ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวในช่วงเสวนา สิ่งแวดล้อมยุคใหม่เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ ในงาน “Better Thailand Open Dialogue : ถามมา-ตอบไปเพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” โดยระบุว่า BCG มีองค์ประกอบสำคัญ ที่เป็นตัวกระตุ้นหลายอย่าง เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากจะทำ เพราะทุกคนอยากจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีน้ำสะอาด มีอากาศที่ดี สุขภาพดี เพราะฉะนั้น BCG จึงเป็นความประสงค์ของทุกคนและทั่วโลก
หากไม่ทำจะเกิดผลเสียไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การกีดกันทางการค้า และกลไกการป้องกันในเรื่องต่างๆ อาทิ ระบบการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่าโดนลงโทษ โดนปรับในเรื่องต่างๆ ดังนั้น BCG จึงเป็นองค์ประกอบ เครื่องจักรสำคัญ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในยุคปัจจุบันและอนาคต
สำหรับ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมี 3 องค์ประกอบ คือ "B" เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) รวมการแพทย์ สาธารณสุข เกษตร สิ่งแวดล้อม "C" เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การหมุนเวียน ไม่มีของเสีย นำของเสียกลับมาใช้ใหม่ในการผลิต และ "G" เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความยั่งยืนกระบวนการ Sustainable Business
BCG จากรากฐานทรัพยากรประเทศ
ขณะที่ ไทยมีรากฐานดีในเรื่อง BCG เป็นการขยายฐานจากสิ่งที่มี ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ สาธารณสุขไทย ซึ่งเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่มีความเข้มแข็งและได้รับการยอมรับ ขณะเดียวกัน ด้านการเกษตร ไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ มีความหลากหลาย อาหาร ปลูกพืชผลได้ดี และ อุตสาหกรรมแข็งแกร่ง รวมถึงวัฒนธรรม
"นอกจากนี้ ภาควิชาการ องค์ความรู้ ที่ อว. เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยของไทย ด้านสุขภาพและการแพทย์เป็นอันดับที่ 14 ของเอเชีย เทียบกับมหาวิทยาลัยหลายร้อยแห่ง ในอาเซียนเอง มหาวิทยาลัยไทยเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน แพ้ 2 มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์เท่านั้น ดังนั้น เรามาถูกทาง ในการขับเคลื่อน BCG ให้เป็นหัวรถจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย" ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว
4 การเดินหน้า เคลื่อน BCG
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า BCG เป็นเรื่องของปัจจุบันและอนาคต สิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว ต้องเห็นในทางปฏิบัติ ความมุ่งมั่นที่สำคัญ ที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง 4 ประการ คือ
1. มีคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG ระดับประเทศ ส่งสัญญาณไปยังกระทรวง ทบวง กรม มีมิติ BCG มาเกี่ยวข้องตลอด โดย นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน
2. สนับสนุนในเชิงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และ โครงสร้างพื้นฐานในการจัดการ รัฐบาลลงทุนขับเคลื่อน BCG โดยเฉพาะในพื้นที่ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC และ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi รวมถึง ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) Sustainable manufacturing center และเรื่องอื่นๆ
ขณะเดียวกัน ใน "โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ" เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็น System Integrator เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ให้มีงานทำและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน โดยในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการระยะ 1 ไป และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการระยะที่ 2
"มิติของการดำเนินการ BCG เป็นประเด็นมุ่งเน้นในการสนับสนุน BOI ในกิจกรรมที่สนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG ได้รับสิทธิประโยชน์ ในการส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น BCG ได้รับประโยชน์ตั้งแต่รายใหญ่ รายกลาง รายย่อย"
3. สนับสนุนเชิงวิจัย และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มการแข่งขัน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ได้ระบุ BCG เป็นองค์ประกอบสำคัญ ในยุทธศาสตร์การวิจัย ไม่ว่าจะ อว. มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ ได้ระบุหัวข้อ BCG เป็นหมุดหมายสำคัญ มีเครื่องมือต่างๆ เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งให้ผู้วิจัยเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา สำคัญมากในการกระตุ้นให้เกิด Innovation
4. การพัฒนากำลังคน ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยวานนี้ (19 พ.ค. 65) นายกรัฐมนตรี ได้พูดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่การคิดกระบวนการพัฒนากำลังคน แซนด์บ็อกซ์การศึกษา โอกาสในการเปิดทดสอบ ทดลอง การผลิตกำลังคน โดยที่เอาภาคการผลิตและผู้ใช้มาร่วมด้วยตั้งแต่ต้น ปรับเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ และมุ่งเอาการวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้
พัฒนาคนรุ่นใหม่ตอบโจทย์ BCG
ขณะนี้ เกิดการตื่นตัวอย่างมากในเชิงภาควิชาการ ภาคกำลังคน และเรามุ่งให้เอาระบบเศรษฐกิจ BCG เป็นสิ่งสำคัญ เรื่องนี้มีโอกาสน้อยที่เราทำเราได้ประโยชน์ อากาศดี สุขภาพดี สังคมก็ได้ประโยชน์ เศรษฐกิจประเทศก็ได้ประโยชน์ ดังนั้น การปรับ Mindset การพัฒนา คนรุ่นใหม่ก็สนใจอยู่แล้ว และสิ่งที่น่าดีใจ คือ คนรุ่นใหม่อยากได้อะไร เขาอยากจะได้สิ่งแวดล้อมที่ดี
"โมเดลเศรษฐกิจ BCG ทำแล้วได้ประโยชน์ สังคมดี เศรฐกิจดี การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยไม่ว่าสังคมและเศรษฐกิจ เข้าสู่เศรษฐกิจ BCG เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องและขยับทิศทาง สิ่งสำคัญที่สุด ยิ่งทำเร็ว ก็ยิ่งจะดี"