ลาออกจากงาน ยังมีสิทธิได้ "เงินชราภาพ" จาก "ประกันสังคม" ไหม?

ลาออกจากงาน ยังมีสิทธิได้ "เงินชราภาพ" จาก "ประกันสังคม" ไหม?

กรณี "เงินชราภาพ" จากประกันสังคม ประชาชนยังมีข้อสงสัยในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือ หาก "ลาออก" จากงาน และสิ้นสถานะการเป็น "ผู้ประกันตน ม.33" แล้ว จะยังมีสิทธิได้เงินชราภาพหรือเงินชดเชยอื่นๆ จากประกันสังคมหรือไม่?

ก่อนหน้านี้มีประเด็นสำคัญที่ "ผู้ประกันตน ม.33" ได้เฮกันยกใหญ่ เมื่อ "ประกันสังคม" อัปเกรดใหม่ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณี "เงินชราภาพ" ที่จะให้สิทธิ "3 ขอ" ได้แก่ ขอเลือกบำเหน็จ/บำนาญ, ขอคืนเงินสะสมชราภาพ, ใช้เป็นหลักประกันเพื่อการกู้เงิน

แต่ทั้งนี้ บางคนอาจยังมีข้อสงสัยในหลายๆ ประเด็นเกี่ยวกับ "เงินชราภาพ" หนึ่งในนั้นคือปัญหาที่ว่า หากลาออกจากงาน และสิ้นสถานะการเป็นผู้ประกันตน ม.33 แล้ว ยังจะมีสิทธิได้เงิยชดเชย หรือเงินออมชราภาพอยู่หรือไม่?

เรื่องนี้มีคำตอบจาก "ประกันสังคม" ที่ได้เผยแพร่ผ่านเพจ "สำนักงานประกันสังคม" ระบุรายละเอียดไว้ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

1. ลาออกจากงาน และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ม.33 จะได้เงินชราภาพไหม?

เงินสมทบในส่วนของ "เงินออมชราภาพ" สามารถยื่นเรื่องขอรับคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์เป็นต้นไป แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ประกันตนแล้วก็ตาม 

หมายความว่า หากลาออกจากงานแล้ว ไม่สามารถยื่นขอเงินที่เคยส่งเป็นเงินสมทบเข้าประกันสังคมไปก่อนหน้านั้นได้ทันที แต่จะต้องรอจนถึงอายุเกษียณตามกำหนดของประกันสังคม นั่นคือ อายุ 55 ปีบริบูรณ์ก่อน จึงจะยื่นขอเงินคืนได้ โดยขึ้นอยู่กับข้อกำหนดและระยะเวลาในการส่งเงินสมทบ

แต่ทั้งนี้ ล่าสุด.. ประกันสังคมเพิ่งจะมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณี "เงินชราภาพ" ในหัวข้อ "การขอคืนเงินสะสมชราภาพได้บางส่วน" จากหลักการ "3 ขอ" (ประมาณ 20-30% ของเงินที่สะสมไว้) ทำให้ผู้ประกันสังคมอาจจะยื่นขอเงินชราภาพออกมาใช้ได้ก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ อย่างไรก็ตาม จะต้องรอประกาศใช้คำสั่งนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง 

อยากรู้ว่าตนเองได้สะสม "เงินชราภาพ" มาเป็นเวลากี่เดือนแล้ว? และมียอดเงินสะสมอยู่จำนวนเท่าไร? สามารถดูวิธีเช็กข้อมูลได้ที่นี่ : วิธีดูยอดเงินสะสม "ประกันสังคม" คำนวณเงินชราภาพง่ายๆ รู้เลยได้กี่บาท? 

2. เงื่อนไขการยื่นขอ "เงินชราภาพ" กรณีเงินบำนาญ

  • ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • ไม่เป็นผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39
  • ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม

โดยจะมี "สิทธิประโยชน์" ที่ผู้ประตนมาตรา 33 ต้องรู้ กรณีเลือกขอเป็นเงินบำนาญชราภาพ มีดังนี้

  • หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 งวดเดือน จะได้รับเป็นบำนาญรายเดือนไปตลอดชีวิต โดยจ่ายให้ในอัตราร้อยละ 20 ของฐานค่าจ้าง (แต่ไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • หากมีการจ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน จะปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพ จากอัตราร้อยละ 20 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

*หมายเหตุ : กรณีผู้ประกันตนรับบำนาญชราภาพ ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแก่ทายาทตามกฎกระทรวงใหม่ คือ

จากเดิมให้ 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย ปรับใหม่เป็น ให้เงิน “จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน เช่น หากผู้ประกันตนเคยได้เงินบำนาญชราภาพ 5,000 บาทต่อเดือน มาแล้ว 20 เดือน ก่อนเสียชีวิต ทายาทจะได้เงินที่เหลือคือ 5,000 x (60-20) = 200,000 บาท เป็นต้น

อ่านเพิ่ม : เงินช่วยเหลือทายาท ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เดิมได้ 5 หมื่นเปลี่ยนเป็น 2 แสนบาท

 

3. เงื่อนไขการยื่นขอ "เงินชราภาพ" กรณีเงินบำเหน็จ

  • มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
  • ไม่เป็นผู้ประกันตน ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39
  • จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน

โดยจะมี "สิทธิประโยชน์" ที่ผู้ประตนมาตรา 33 ต้องรู้ กรณีเลือกขอเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว) มีดังนี้

  • หากจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพมาไม่ครบ 12 เดือน จะได้รับเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนจ่าย
  • หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับส่วนของผู้ประกันตน ส่วนของนายจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี

*หมายเหตุ : เงินบำเหน็จชราภาพ หากผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพคืน โดยจ่ายให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ เช่น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย, สามี-ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย, บิดา-มารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะได้เฉพาะมารดา หรือ บุคคลอื่นที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุไว้ให้ได้รับร่วมกับทายาทผู้มีสิทธิ

ทั้งนี้ เงื่อนไขการได้รับสิทธิ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย

--------------------------------------

อ้างอิง : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน