เช็ค คุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ - แผ่นรองซับ "สปสช."

เช็ค คุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ - แผ่นรองซับ "สปสช."

สปสช. จับมือ กรมอนามัย เตรียมออกหลักเกณฑ์กำหนดคุณภาพ และมาตรฐานราคา "ผ้าอ้อมผู้ใหญ่" และแผ่นรองซับ ให้ท้องถิ่นเป็นหลัก ยึดในการจัดซื้อแจกผู้ป่วยติดเตียง - ผู้มีปัญหาการขับถ่าย เผยคนไทยทุกคนมีสิทธิ ทุกเพศ ทุกวัย ได้รับสิทธิประโยชน์ ตามคุณสมบัติที่ระบุไว้

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และแผ่นรองซับ ซึ่งคณะกรรมการ สปสช. เพิ่งอนุมัติไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า สิทธิประโยชน์นี้เป็นเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้น คนไทยทุกคนมีสิทธิทุกเพศ ทุกวัย จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้ใช้ สิทธิบัตรทอง เท่านั้น

 

คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 

 

โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ คือ

 

1.บุคคลที่มีภาวะติดบ้าน ติดเตียง และมีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 6 คะแนน ตามแผนการดูแลรายบุคคลระยะยาวด้านสาธารณสุข (Care Plan) ของหน่วยจัดบริการ

 

2.บุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และผลประเมินของ หน่วยจัดบริการ ซึ่งหลังจากที่ สปสช.ประกาศสิทธิประโยชน์นี้ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก มีการสอบถามวิธีว่าจะการขอรับสิทธิได้อย่างไร

 

นพ.อภิชาติ กล่าวอีกว่า แหล่งงบประมาณที่ใช้จัดซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และแผ่นรองซับจะใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ (กปท.) ซึ่งเป็นกองทุนที่ สปสช. สมทบเงินร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ เช่น อบต. อบจ. เทศบาล จัดตั้งกองทุนนี้ในพื้นที่ขึ้นมา ขณะนี้ครอบคลุมกว่า 99% ของประเทศแล้ว แต่ละปี กปท.ได้รับงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท และมีงบที่เหลือจากการดำเนินงานตามปกติ ซึ่งยังไม่มีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม รองรับ ดังนั้นจึงสามารถนำงบประมาณคงเหลือมาใช้จัดซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และแผ่นรองซับได้โดยไม่ต้องของบประมาณเพิ่มจากรัฐบาล

 

เช็ค คุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ - แผ่นรองซับ \"สปสช.\"

คาดครึ่งปีที่เหลือ ใช้งบ 200 ล้านบาท 

 

"เคยมีการศึกษาว่าถ้ารัฐช่วยอุดหนุนผ้าอ้อม และแผ่นรองซับจะช่วยประหยัดรายจ่ายครัวเรือนไปได้ประมาณ 20,000 บาท ยิ่งยุคนี้น้ำมันแพง ข้าวของแพง ก็ช่วยลดภาระประชาชนได้พอสมควร ปีนี้เนื่องจากผ่านไปครึ่งปีงบประมาณแล้ว ก็น่าจะใช้เงินจัดซื้อผ้าอ้อม และแผ่นรองซับประมาณ 200 ล้านบาท และปีต่อๆ ไปเต็มปีงบประมาณก็น่าจะใช้ประมาณ 400-500 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 10% ของงบ กปท.ทั้งหมดเท่านั้น" นพ.อภิชาติ กล่าว

 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของวิธีการขอรับผ้าอ้อม และแผ่นรองซับนั้น ผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้มีปัญหาการขับถ่ายไม่สามารถขอรับด้วยตัวเองได้ ผู้ที่จะขอจัดสรรงบจาก กปท.ได้ต้องเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยจัดบริการ (หน่วยบริการ สถานบริการ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ) จึงจะสามารถเขียนโครงการของบประมาณได้

 

แต่โดยปกติเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการสำรวจจำนวนผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง มีการจัดบริการดูแลแบบ Long term care (การดูแลสุขภาพระยะยาว) ผู้ป่วยแต่ละรายมี care plan (แผนการดูแลสุขภาพรายบุคคล) อยู่แล้ว ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่อยู่แล้วจึงแทบไม่ต้องทำอะไร บุคลากรที่ดูแลเรื่อง Long term care ในแต่ละพื้นที่จะดำเนินการของบประมาณและจัดซื้อให้แก่ผู้ป่วยเอง

 

"ในพื้นที่ต่างจังหวัดไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนมากก็จะรู้กันว่าบ้านไหนที่มีผู้ป่วยติดเตียง มีภาวะพึ่งพิง แต่ในพื้นที่ กทม.เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก มีการโยกย้ายถิ่น มีความซับซ้อนทางสังคมสูง ข้อมูลต่างๆ อาจจะตกหล่นบ้าง ดังนั้น แนะนำให้ผู้ป่วยหรือญาติไปแจ้งข้อมูลผู้ป่วยแก่ศูนย์บริการสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ก่อน" นพ.อภิชาติ กล่าว

เช็ค คุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ - แผ่นรองซับ \"สปสช.\"

อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในการสำรวจของทีมสาธารณสุข เช่น ผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อหูรูดไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ - อุจจาระได้ หรือผู้ป่วยติดเตียงที่ตกสำรวจ ก็สามารถเข้าไปแจ้งหน่วยบริการในพื้นที่ เช่น รพ.สต. โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข ให้เพิ่มรายชื่อเข้าไปในฐานข้อมูลและขอรับการจัดบริการได้ 

 

แนะ ปชช. เสนอท้องถิ่นทำโครงการ

 

นพ.อภิชาติ กล่าวต่อไปว่า สิทธิประโยชน์นี้จะเป็นการจัดการพื้นที่ใครพื้นที่มัน ไม่สามารถขอรับสิทธิข้ามพื้นที่ได้ เช่น ตำบล A ไม่ได้ทำโครงการขอจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ ประชาชนในพื้นที่เลยไปขอใช้สิทธิจากตำบล B แบบนี้ไม่ได้ ซึ่งในกรณีที่ กปท.ในพื้นที่ตำบลนั้นๆ ไม่ได้ทำโครงการสนับสนุนผ้าอ้อมแก่ผู้ป่วย

 

ข้อแนะนำ คือ ให้ผู้ป่วยรวมกลุ่มกัน และเข้าไปพูดคุยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อชักจูงให้เขียนโครงการของบประมาณ หรือแจ้งข้อมูลมาที่ สปสช.เขตพื้นที่หรือ สปสช.ส่วนกลาง เพื่อที่ สปสช.จะได้ประสานงานโน้มน้าวให้พื้นที่นั้นๆ นำงบประมาณของ กปท. มาใช้ ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าสิทธิประโยชน์นี้เป็นประโยชน์กับสังคม ดังนั้น ไม่น่าจะมีท้องถิ่นไหนที่ไม่ทำโครงการ เว้นแต่จะมีปัญหาเช่นเป็นตำบลขนาดเล็กไม่มีงบประมาณ เป็นต้น

 

"ตอนนี้ สปสช. กำลังอยู่ระหว่างหารือกับกรมอนามัยเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ มาตรฐานคุณภาพและราคาที่เหมาะสมของผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และแผ่นรองซับ รวมทั้งเจรจาต่อรองราคากับผู้ผลิตในภาพใหญ่ของทั้งประเทศเพื่อให้ได้ราคาต้นทุนที่ต่ำลงมาอีก หลังจากนี้อีกไม่นาน เราจะทำหนังสือแจ้งไปยังท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้ทางท้องถิ่นยึดหลักเกณฑ์นี้เป็นหลักในการจัดสรรงบประมาณและการจัดซื้อ"

 

เปิดโอกาส วิสาหกิจชุมชน 

 

"นอกจากนี้ เรายังเปิดช่องให้สามารถใช้ผ้าอ้อมทางเลือก เช่น เป็นผ้าอ้อมที่วิสาหกิจชุมชนผลิตขึ้นมาก็ได้ แต่ต้องมีมาตรฐานคุณภาพตามที่ กรมอนามัย กำหนด และที่สำคัญคือ การแจกผ้าอ้อมและแผ่นรองซับเป็นเพียงการสนับสนุนส่วนหนึ่ง หัวใจสำคัญคือ เราต้องการให้มีการจัดบริการดูแลแบบองค์รวมแก่ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ โดยที่ผ้าอ้อมและแผ่นรองซับเป็นเพียงส่วนเสริมให้ดูแลได้มีคุณภาพมากขึ้น" นพ.อภิชาติ กล่าว

 

ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

เช็ค คุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ - แผ่นรองซับ \"สปสช.\"

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์