"ฝีดาษลิง"โรคเก่าไม่ธรรมดา ทำโลกหวั่น ปี2022ระบาดใหม่
แม้ “ฝีดาษลิง”จะไม่ใช่โรคใหม่ แต่การเจอระบาดในยุโรปแล้วอย่างน้อย 3 ประเทศ และมีรายงานพบผู้ป่วยอีกหลายประเทศนอกพื้นที่แอฟริกา ทำให้ทั่วโลกต้องเพิ่มกลไกเฝ้าระวังโรคนี้มากขึ้น เพื่อติดตามว่า “โรคมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีสิ่งไม่ธรรมดาเกิดขึ้น”หรือไม่
โรคฝีดาษลิง(monkeypox) เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โดยเชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ ที่ผ่านมามีการรายงานพบผู้ติดเชื้อประปรายในประเทศแถบแอฟริกา
ณ 24 พ.ค.2565 องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศยกระดับการระบาดของโรคฝีดาษลิง มีเพียงการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ามีการระบาดผิดปกติ ในยุโรป ต้องติดตามใกล้ชิด คาดว่าจะมีการประชุมอีกเร็วๆ นี้ และพิจารณาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่จากการติดตามในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ตัวเลขไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ยังต้องติดตามต่อไปในระยะนี้
ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 22 พ.ค.2565 ระบุมี ประเทศที่มีรายงานยืนยันพบผู้ติดเชื้อ 17 ประเทศ ประกอบด้วย อังกฤษ สเปน โปรตุเกต ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย สวีเดน นอร์เวย์ กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และออสเตรเลีย โดย 3 ประเทศมีการกระจายแพร่เชื้อในประเทศ คือ อังกฤษ สเปน และโปรตุเกส
หลายประเทศจึงต้องเริ่มกลไกการเฝ้าระวังโรค รวมถึงประเทศไทยด้วย เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรณี โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เจัดทำแผนทั้งในระยะยาว ระยะกลาง ในการปรับปรุงกลยุทธ์ และมาตรการให้เหมาะสม
การจัดตั้งศูนย์ มิอาจแปลว่า “โรคฝีดาษลิงจะต้องเกิดการระบาดใหญ่เหมือนโควิด-19แต่อย่างใด” เพราะในอดีตก็มีการเฝ้าระวังหลายโรค แต่โรคนั้นก็มิได้เกิดการระบาดใหญ่ และไม่ได้พบผู้ติดเชื้อในไทย หรือ เจอผู้ป่วยยืนยันไม่กี่ราย เช่น อิโบล่า และเมอร์ส
เฝ้าระวังฝีดาษลิงจากประเทศเสี่ยง
และตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.2565 เริ่มต้นการคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ระยะแรกเน้นทุกไฟลท์ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคภายในประเทศ คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกสและบางประเทศในแถบแอฟริกากลาง อย่างไรก็ตาม รายชื่อประเทศอาจจะมีการปรับลดหากมีการควบคุมการระบาดได้ดีหรือปรับเพิ่มกรณีประเทศนั้นพบการระบาดภายในประเทศ ซึ่งผู้เดินทางเข้าจะได้รับ "บัตรเตือนสุขภาพ(Health beware card)" และเป็นคิวอาร์โค้ดให้สแกน เพื่อให้คำแนะนำว่าหากเดินทางมาจากประเทศเสี่ยง และมีอาการ ไข้หรือตุ่ม ให้รีบไปรพ.ที่ใกล้ที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยง
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้มีการกำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ และคลินิกเฉพาะโรคทางต่างๆ เฝ้าระวังสังเกตอาการในผู้ป่วย เช่น มีไข้ และมีตุ่มน้ำใส จากนั้นจะเริ่มขุ่นและกลายเป็นแผล โดยหากพบผู้ที่มีอาการร่วมกับประวัติเสี่ยง คือ เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคอยู่ หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ จะต้องเก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผู้ติดเชื้อ
ส่วนคำแนะนำคนไทยที่จะเดินทางไปยังต่างประเทศที่พบการระบาดของโรคนี้ ขอให้เน้นย้ำเรื่องเฝ้าระวังดูแลตนเอง โดยเฉพาะการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้คน และการรวมกลุ่มกิจกรรมในคนหมู่มาก ซึ่งการป้องกันตนเองทั้งสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างเป็นแนวปฏิบัติที่ยังจำเป็นในการป้องกันโรค
เกณฑ์3ด้านประเมินฝีดาษลิง
และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะกำหนดให้ “โรคฝีดาษลิง”เป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยพบโรคนี้ในประเทศไทยมาก่อน โดยจะใช้เกณฑ์พิจารณา 3 ข้อ คือ 1.เกณฑ์ทางคลินิค อาการที่เข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง 2. เกณฑ์ทางห้องปฏิบัติการ(แล็ป) ว่าจะต้องมีการใช้แล็ปแบบไหน ระดับใด และ3.เกณฑ์ทางระบาดวิทยา เกี่ยวกับประวัติสัมผัส ประวัติเสี่ยง
สิ่งที่ทั่วโลกกำลังติดตามข้อมูลสำคัญของ “ฝีดาษลิง” อย่างใกล้ชิดในขณะนี้ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า คงเป็นประเด็นเรื่องการแพร่โรคว่าจะมีความรุนแรงหรือไม่ เพราะในแอฟริกามีการเสียชีวิต แต่ในยุโรปและอเมริกายังมีผู้ป่วยที่มีอาการน้อย รวมถึง สายพันธุ์ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ด้วย
ผู้ติดโรคฝีดาษลิงในฝั่งยุโรปตอนนี้ เท่าที่ดูข้อมูลจากอายุ ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานจึงน่าจะไม่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ(smallpox)มาก่อน ผู้ที่เคยได้วัคซีนน่าจะต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไปเพราะในยุโรปมีการยุติการปลูกฝีก่อนประเทศไทยที่ยุติในปี 2523
"คนที่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษมาก่อน ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันฝีดาษลิงได้ราว 85 %นั้น จากข้อมูลที่ได้รับตอนนี้ วัคซีนนี้น่าจะยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้อยู่ แต่ต้องติดตามข้อมูลต่อไป" นพ.จักรรัฐกล่าว
แล็ปในไทยตรวจยืนยันเชื้อได้
ส่วนความพร้อมในการตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิง ในประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ทั้งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยต่าง นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อในคน โดยได้เตรียมการตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยเทคนิค Real-time PCR ระยะเวลาการตรวจ 24 - 48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ ด้วยเทคนิค DNA sequencing ระยะเวลาการตรวจ 4 - 7 วัน
รวมถึง การตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษ(smallpox) เพื่อให้การรับรองคุณภาพวัคซีนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรค โดยทั่วโลกไม่มีการให้วัคซีนนี้มากว่า 40 ปี แต่ยังมีการผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ และป้องกันโรคฝีดาษลิง ซึ่งสหรัฐอเมริกามีวัคซีนฝีดาษคน จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกาแล้ว
เข้มสกัดโรคสัตว์นำเข้า
อย่างไรก็ตาม จากที่โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คนและสัตว์สู่คนได้เช่นกัน โดยเฉพาะในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเฝ้าระวังในสัตว์ด้วย
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้มีหารือแนวทางการปฏิบัติงานกรณีโรคฝีดาษลิง ในสัตว์ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตว์แพทย์หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง และกรมจะเพิ่มโรคนี้ในชื่อของโรคที่เฝ้าระวังในลิงเพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้าสัตว์ จะมีการเข้มงวด การตรวจสุขภาพสัตว์ป่าที่นำเข้ามาในประเทศ รวมถึง เสนอกรมปศุสัตว์ให้พิจารณาเพิ่มการตรวจโรคฝีดาษลิง สำหรับสัตว์ป่าที่จะนำเข้ามาจากประเทศในกลุ่มแอฟริกาที่ด่านตรวจสัตว์ป่าด้วย
อีกทั้ง ประสานผู้ประกอบการให้ชะลอการนำเข้า ส่วนช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สัตว์ป่าที่มีการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มแอฟริกา สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะประสานผู้ประกอบการ ในการสำรวจข้อมูลการเฝ้าระวังในสัตว์ป่าที่มีการนำเข้ามาแล้วต่อไป