อึ้ง ! พบเด็ก 9 ขวบ ทดลองสูบดอกกัญชาอ้างไม่ใช่ยาเสพติด
อึ้ง ! พบเด็ก 9 ขวบ ทดลองสูบดอกกัญชาอ้างไม่ใช่ยาเสพติด – เลียนแบบยูทูปทำบ้องใช้เอง เครือข่ายต้านภัยยาเสพติดไม่ทน ยื่น ป.ป.ส.ประชุมด่วนหามาตรการคุมก่อนปลดกัญชาเสรี
นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น นักพัฒนางานวิชาการ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ หนึ่งในเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด กล่าวว่า เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านยาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างพบเยาวชนอายุ 9-13 ปี จับกลุ่มจำนวน 6 คน กำลังทดลองสูบช่อดอกกัญชาสด ระหว่างการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเยาวชนกลุ่มเสี่ยง และครอบครัวที่มีความ เปราะบาง
โดยกลุ่มเยาวชนอ้างเหตุผลว่ากัญชาไม่เป็นยาเสพติด ไม่ผิดกฎหมาย ปลดล็อคแล้วตามข่าวสารที่ได้รับ อีกทั้งยังประดิษฐ์ที่สูบกัญชาขึ้นใช้เอง ผ่านการเลียนแบบจากคลิปวีดิโอในแอพลิเคชันยูทูป (Youtube) และเมื่อ ตรวจสอบภาพรวมระดับประเทศ พบรายงานเยาวชนไทยใช้กัญชาในทุกภูมิภาค ส่วนอายุของเด็กที่ทดลองใช้ กัญชาในทางที่ผิดก็ต่ำลงเรื่อย ๆ
“กัญชาที่เด็ก ๆ เอามาสูบก็ไปขโมยจากหลังบ้านของคนในหมู่บ้าน ซึ่งแอบปลูกกันทุกหลังคาเรือน แต่ด้วยเพราะยังเด็กไม่ได้มีความรู้ก็ไปเก็บช่อดอกกัญชาสดมาสับแล้วใส่ไปกับบุหรี่เพื่อสูบ อีกส่วนก็ ใส่ในบ้องกัญชาที่ทำขึ้นเองแล้วสูบ” นักวิจัยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ให้ข้อมูลเพิ่ม
นายวัชรพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ในเขตบางกอกน้อยและคลองเตย เราได้รับรายงานว่า “การสูบแป๊ะ” หรือการโรยเฮโรอีนบนกัญชาที่อยู่ในรูบ้องเพื่อให้มีการอาการเมาที่ถึงมากขึ้นนั้นเริ่มกลับมา กล่าวได้ว่ากลับมาในรอบ 20 ปี หลังจากที่หายไปนาน เป็นข้อน่ากังวลว่าสถิติการใช้กัญชาในรูปแบบยาเสพติด ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ จะนำไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่น ๆ ที่เคยบรรเทาลง เช่น กรณีการสูบแป๊ะที่จะทำให้คนสูบกัญชา หันไปติดเฮโรอีน และนำไปสู่การเสพเฮโรอีนอย่างเดียวในที่สุด ซึ่งข้อมูลนี้ตรงกับนักวิจัยของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงานพื้นที่ภาคเหนือเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย
จากสถานการณ์การใช้กัญชาในกลุ่มเยาวชนไทยที่มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทาง เครือข่ายนักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามยาเสพติด เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565
โดยเนื้อความจดหมายระบุว่า ด้วยจุดยืนสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ในทาง ที่ถูกต้อง และความห่วงใยต่อโอกาสที่จะเกิดการใช้กัญชาในทางที่ผิด ทางเครือข่ายฯ มีความประสงค์ ขอให้ประธานและคณะกรรมการ ป.ป.ส. จัดประชุมพิจารณาด่วนเรื่องครบ 120 วัน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องรายชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ในวันที่ 9 มิ.ย.2565 ที่จะถึงนี้ เพื่อพิจารณาชะลอการบังคับใช้ประกาศ กระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวออกไปก่อน จนกว่าจะมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชา ก่อนที่จะมีการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด อย่างเป็นทางการ
เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว ระบุรายชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีเพียงสารสกัดที่มี THC (Tetrahydrocannabinol) มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเท่านั้นที่เป็นยาเสพติด ส่วนพืชกัญชา ส่วนของกัญชา และสารสกัดที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ไม่เป็นยาเสพติด สามารถเสพ ใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายยาเสพติด โดยมีผลบังคับใช้ เมื่อพ้น 120 วัน หลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคือวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565 นั้น ผลที่จะตามมาด้านบวก คือ จะสามารถใช้กัญชาหรือสารสกัดกัญชา ที่มีส่วนผสมของ CBD (Cannabidiol) ที่เหมาะสม และมี THC น้อยเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้
แต่ผลที่จะตามมาด้านลบ คือ 1.เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่สามารถสูบช่อดอกได้ (ช่อดอกมีสารเมา THC สูงมากถึงร้อยละ 20-30) เพราะช่อดอกไม่ใช่ยาเสพติด โดยสามารถอ้างว่าใช้เพื่อสุขภาพ 2.การตรวจวัดระดับ THC ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหาร และเครื่องดื่ม ว่ามี THC มากกว่าหรือน้อยกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือจะมีการเสพใช้ช่อดอกกัญชาอย่าง แพร่หลาย และยากที่จะบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ได้
และ 3.การปลดกัญชาจากการ เป็นยาเสพติดให้ใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่นได้ นอกจากเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นการกระทำผิด ต่อการเป็นสมาชิกของอนุสัญญาระหว่างประเทศ เกี่ยวกับยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททั้ง 3 ฉบับ อันเป็นเหตุให้ประเทศไทยสามารถถูกคณะกรรมการ ควบคุมยาเสพติดระหว่งประเทศเรียกไปสอบถาม ตักเตือน ตำหนิ แนะนำ หรืออาจจะตอบโต้ได้ เช่น การตัดการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ยาบางชนิด ซึ่งจะทำให้ยาที่จำเป็น ชนิดนั้นขาดแคลนได้ในประเทศไทย เป็นต้น
อีกทั้งการที่พรรคภูมิใจไทยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ.... เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรวันที่10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรแต่ประการใด ทำให้ไม่มีมาตรการ ควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดใดๆ เมื่อครบ 120 วัน