รู้จักภาวะ "สมองเสื่อมถอย" หนึ่งในอาการที่พบได้หลังติดโควิด 1-6 เดือน
หนึ่งในอาการ Long COVID ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงหรือมองข้ามไปก็คือ ภาวะ "สมองเสื่อมถอย" โดยพบได้หลังจากติดโควิด 1-6 เดือน ชวนรู้จักอาการที่เข้าข่าย พร้อมส่องวิธีฟื้นฟูให้สมองกลับมามีสมรรถภาพที่ดีตามเดิม
แม้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในไทยเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตลดลง แต่สำหรับกลุ่ม "ผู้ป่วยโควิด" ที่รักษาหายแล้ว ยังคงต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพราะมีรายงานว่าบางรายประสบกับภาวะ "สมองเสื่อมถอย" อีกหนึ่งอาการ Long COVID ที่พบได้หลังติดโควิด ทำให้ความสามารถทางการคิดวิเคราะห์ สมาธิ และการตัดสินใจลดลง
ภาวะดังกล่าวอันตรายแค่ไหน รักษาให้กลับมาดีขึ้นได้หรือไม่? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปทำความรู้จักอาการ "สมองเสื่อมถอย" และแนวทางการดูแลตัวเองเพื่อฟื้นฟูสมองให้กลับมามีสมรรถภาพดีเช่นเดิม
1. ภาวะ "สมองเสื่อมถอย" คืออะไร?
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยบางรายได้รับผลกระทบหลังติดเชื้อโควิด คือ ภาวะ "สมองเสื่อมถอย" มักพบในช่วง 1-6 เดือน หลังจากติดเชื้อโควิด-19
สมองเสื่อมถอย เป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอย ส่วนมากในด้านสมาธิ ทักษะในการตัดสินใจ การวางแผน และความจำระยะสั้น โดยจะมีอาการรู้สึกสมองล้า (brain fog) รู้สึกตื้อ มึน ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การทำงาน หรือการเข้าสังคม ทำให้ส่งผลเสียในระยะยาวได้ ดังนั้นหากใครเพิ่งหายจากการป่วยโควิดและมีอาการดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์
2. ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะ "สมองเสื่อมถอย"
สำหรับปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ "สมองเสื่อมถอย" หลังการติดโควิด ได้แก่
- ผู้ป่วยมีโรคทางระบบประสาทและสมองอยู่เดิม เช่น โรคหลอดเลือดสมอง
- เป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวร่วมหลายอย่าง เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล
- ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แบบเฉียบพลันและมีอาการรุนแรง จนทำให้ร่างกายมีภาวะขาดออกซิเจน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาทและสมองเสื่อมถอย
3. วิธีการดูแลและฟื้นฟูตนเองให้อาการดีขึ้น
จริงๆ แล้ว อาการ "สมองเสื่อมถอย" สามารถดีขึ้นเองได้ เมื่อเวลาผ่านไป แต่ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวก็ควรดูแลตนเองอย่างดี ได้แก่
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเสมอ ด้วยการกินอาหารดีและมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ทำกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นสมอง ฝึกการคิดวิเคราะห์ ฝึกสมาธิ หรืองานอดิเรกที่สร้างความผ่อนคลาย เช่น เล่นดนตรี ปลูกต้นไม้ จะช่วยให้สมองและระบบประสาทฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้เร็วยิ่งขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือผู้สูงอายุที่มีโรคร่วมหลายๆ อย่าง ควรกินยาสม่ำเสมอและติดตามการรักษาต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ยังควรปฏิบัติให้เป็นประจำในช่วงที่โควิดยังอยู่ นั่นคือ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเสมอ เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค
นอกจากเป็นการป้องกันการติดโควิดแล้ว ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดอาการสมองเสื่อมถอยหลังติดเชื้อโควิด -19 ได้ด้วย
--------------------------------------
อ้างอิง : กรมการแพทย์