TikTok ช่องทางใหม่ ลักลอบโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์
‘สาธิต’ รับทราบผลการดำเนินงานควบคุมแอลกอฮอล์ สสส. แก้ไข-ป้องกัน-ผลักดันกฎหมาย-สร้างวัฒนธรรมประเพณีปลอดเหล้า ห่วงโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ โดยเฉพาะ TikTok มอบ คร.ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังเด็ก-เยาวชนหลงผิด
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 กล่าวในการประชุมคณะกรรมการกองทุน สสส. ครั้งที่ 5/2565 ว่า จากการสรุปความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานแผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติด ปี 2565 ของ สสส. ทำให้เห็นถึงกลไกการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับนโยบาย การผลักดันกฎหมายควบคุม การเพิ่มมาตรการ เกิดความรู้งานวิจัยกับภาคีเครือข่าย นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ป้องกัน สร้างการรับรู้ และความตระหนักถึงพิษภัยจากการดื่มสุรา
การให้นักดื่มเข้าสู่การบำบัดและฟื้นฟูยาเสพติด รวมถึงการรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีและเทศกาลปลอดเหล้า ในงานบุญต่างๆ ที่นำมาสู่นโยบายสาธารณะที่ใช้ได้จริง เช่น นโยบายสาธารณะงานบุญประเพณีวัฒนธรรมวิถีใหม่ ปลอดเหล้า ปลอดภัย ห่างไกลโควิด จ.ประจวบคีรีขันธ์ นโยบายสาธารณะงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยง ลดพื้นที่บาป เพิ่มพื้นที่บุญ จ.อุบลราชธานี เป็นต้น
ที่ผ่านมา สสส. ทำงานขับเคลื่อนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง มีภาคีเครือข่าย ที่สามารถทำงานเชิงรุก จนถึงระดับท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการผลักดันการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาโดยตลอด
"ยังมีความเป็นห่วงในประเด็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนออนไลน์ที่กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะติ๊กตอก (TikTok) ซึ่งเป็นที่นิยมของเด็กและเยาวชน เชื่อว่าหลายคนเมื่อดูแล้วรู้สึกสนุก กระตุ้นให้มีความรู้สึกอยากดื่ม จึงขอมอบให้ กรมควบคุมโรค(คร.) เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” ดร.สาธิต กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผลการดำเนินงานแผนควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งเสพติดของ สสส. มีการผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่าย จนเกิดนโยบายที่สำคัญ 4 นโยบาย อาทิ แผนปฏิบัติการด้านการควบคุมแอลกอฮอล์ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564-2570 นโยบายสาธารณะงานบุญประเพณีวิถีใหม่ ปลอดเหล้า ปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19
นอกจากนี้ยังสนับสนุนองค์ความรู้กว่า 26 เรื่อง สนับสนุนงานวิจัย 31 เรื่อง มีการพัฒนาคู่มือต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม เพื่อให้เครือข่ายพระสงฆ์นำไปใช้ต่อยอดในการทำงานต่อไป การทำงานในทศวรรษที่ 3 ของ สสส.จะมุ่งให้เกิดการพัฒนานโยบายสาธารณะ ผลักดันการบังคับใช้กฎหมาย สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และประชาชนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา สนับสนุนการวิจัยและการบำบัด สร้างระบบการติดตามงานอย่างมีประสิทธิภาพ