อยากไปทำงานบนเรือสำราญ ชวนสำรวจข้อดี-ข้อเสีย “Shipboard Life”
ชวนสำรวจการใช้ชีวิตบนเรือสำราญ หรือ "Shipboard Life" ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เพื่อรับรู้ถึงข้อดีและข้อเสีย รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ก่อนตัดสินใจสมัครทำงานบน "เรือสำราญ"
เมื่อไม่นานมานี้ (25 พ.ค.) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมแรงงาน ได้แจ้งว่า บริษัทจัดหางาน ทีเอสทีซี ไทย จำกัด มีความต้องการบุคคลสัญชาติไทยไปทำงานบน “เรือสำราญ” ในตำแหน่งต่างๆ อาทิ กุ๊กหรือผู้ช่วยกุ๊ก พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ พนักงานบริการห้องพัก พนักงานต้อนรับ ช่างภาพ เวทีแสงสีเสียง เป็นต้น
จากข้างต้น นับว่าเป็นโอกาสของคนไทยจำนวนมาก โดยความน่าสนใจของการทำงานบนเรือสำราญคือ รายได้ที่ค่อนข้างสูง ทั้งยังสามารถเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่จำเป็น อาทิ ค่าที่พัก และค่าอาหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ชีวิตบนเรือสำราญหรือ “Shipboard Life” มีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่ต้องให้ความสนใจ ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจลงเรือสำราญเพื่อทำงานในตำแหน่งต่างๆ การสำรวจข้อมูลชีวิตบนเรือสำราญจึงนับเป็นเรื่องที่สำคัญ
การประกอบอาชีพบน “เรือสำราญ”
การท่องเที่ยวผ่านเรือสำราญนับเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภาคบริการ ผู้ให้บริการจึงต้องสรรหาแรงงานหรือลูกเรือมาเพื่ออำนวยสะดวกนักท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวบนเรือสำราญมักเป็นคนรวยที่ยอมจ่ายแพง รายได้ของลูกเรือในทุกตำแหน่งงานจึงสูงตามไปด้วย
รายได้ของลูกเรือจะแตกต่างกันไปตามขั้นและแผนกของตำแหน่งงาน โดยสามารถยกตัวอย่างแผนกงาน ตำแหน่ง และรายได้ ดังนี้
1. แผนกแม่บ้าน (Housekeeping)
- Hotel Steward หรือพนักงานทำความสะอาดบนเรือสำราญ รายได้ 550-700 ดอลลาร์
- ผู้ช่วยหัวหน้าแผนก (Assistant Stateroom Steward) รายได้ 1,000-1,400 ดอลลาร์
- หัวหน้าแผนก (Stateroom Steward) รายได้ 3,000-4,000 ดอลลาร์
2. แผนกบาร์ขายอาหารและเครื่องดื่ม
- พนักงานรับออเดอร์ประจำบาร์ (Bar Steward) รายได้ 550-700 ดอลลาร์
- พนักงานเสิร์ฟ (Bar waiter/waitress) รายได้ 1,000-3,000 ดอลลาร์
- บาร์เทนเดอร์ (Bartender) รายได้ 2,500-3,500 ดอลลาร์
3. แผนกห้องอาหาร (Dining room)
- พนักงานดูแลห้องอาหาร รายได้ 800-1,400 ดอลลาร์
คุณสมบัติของผู้สมัครทำงานบนเรือสำราญ
- อายุระหว่าง 21-35 ปี
- ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวต้องห้าม และมีใจรักงานบริการ
- สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ในระดับดีถึงดีมาก
- มีประสบการณ์ทำงานบริการ
ข้อดีและข้อเสีย รวมถึงข้อควรพึงระวัง
แม้การทำงานบนเรือสำราญจะมีรายได้ที่สูง และทำให้ได้ท่องเที่ยวไปในหลายพื้นที่ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานที่หนักกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และทำตามสัญญาว่าจ้างไม่ต่ำกว่า 6-9 เดือนติดต่อกัน และด้วยการทำงานเป็นกะและอยู่ตามประเทศต่างๆ ทำให้การติดต่อกับครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่ลำบาก เนื่องจากช่วงเวลาที่ต่างกัน
นอกจากนี้ ก่อนลงเรือสำราญยังต้องสำรองค่าใช้จ่ายเองบางส่วน อาทิ ค่าตรวจสุขภาพ ค่าทำ Passport หรือ Visa เป็นต้น รวมมูลค่าราว 40,000-60,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรพึงระวังสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานบนเรือสำราญที่สำคัญ คือ การถูกหลอก เนื่องด้วยการลงเรือสำราญจะต้องมีประสบการณ์ รวมถึงหลายคนอาจไม่รู้วิธีการสมัครกับบริษัทของเรือสำราญโดยตรง ทำให้มีเอเจนซี่หรือนายหน้าที่เข้ามาเสนอตัวพาไป และผู้สมัครต้องจ่ายเงินเพิ่มสำหรับค่าบริการ ซึ่งหากไม่ตรวจสอบให้ดี อาจต้องเสียเงินบางส่วนตรงนี้ไปแบบฟรีๆ
จากข้างต้น จะเห็นได้ว่าแม้การทำงานบนเรือสำราญจะให้ผลตอบแทนที่สูง และแทบไม่ต้องควักเงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำ ตรงนี้จึงทำให้คนที่ทำงานสามารถเก็บเงินได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่การจะเข้าไปทำงานบนเรือได้ ก็มีขั้นตอนและข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องประสบการณ์ ภาษา และสุขภาพ เป็นต้น ทำให้การคัดเลือกจึงมีความเข้มข้นมาก ซึ่งหากจะหาตัวช่วยก็ต้องหาข้อมูลและตรวจสอบเป็นอย่างดี ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการทำงานบนเรือสำราญจึงต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ เพื่อการตัดสินใจที่รอบคอบและถี่ถ้วน
------------------------------------------------
อ้างอิง