"ฝีดาษลิงในไทย" อัปเดตล่าสุด ผู้สัมผัสใกล้ชิด 12 ราย เช็กอาการเข้าข่ายไหม?
อัปเดต "ฝีดาษลิงในไทย" ล่าสุด ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในไทย แต่พบว่ามีผู้สัมผัสใกล้ชิด 12 ราย กับผู้ป่วยยืนยันที่ออสเตรเลีย ซึ่งมีประวัติแวะพักบนเครื่องบินที่ประเทศไทย จากกรณีนี้ชวนเช็ก "อาการฝีดาษลิง" อีกครั้ง แบบไหนเข้าข่าย?
อย่าเพิ่งตื่นตระหนก! รายงานข่าวล่าสุด "ฝีดาษลิงในไทย" ยังไม่พบผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย แต่มีกรณีพบคนไทยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่พบในต่างประเทศ 12 ราย โดยเป็นผู้โดยสารเครื่องบินและลูกเรือ ที่มีประวัติเดินทางบนเครื่องบินลำเดียวกับผู้ป่วยยืนยันที่ประเทศออสเตรเลีย และได้มีการแวะพักบนเครื่องบินที่ประเทศไทย ทางการไทยจึงมีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้ง 12 ราย โดยถือว่าเป็นความเสี่ยงต่ำ
จากกรณีนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเช็ก "อาการฝีดาษลิง" อีกครั้งว่า อาการแบบไหนเข้าข่ายบ้าง?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- "ฝีดาษลิงในไทย" อัปเดตล่าสุด เช็ก 5 อันดับประเทศพบผู้ป่วย ฝีดาษลิง สูงสุด
- "ฝีดาษลิงในไทย" ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย 12 ราย
- "ฝีดาษลิงในไทย" ล่าสุด ชี้แจงประเด็นพบ ฝีดาษลิง 9 รายที่เกาะช้าง
- "ฝีดาษลิงในไทย" พบต่างชาติเข้าข่ายสงสัย ส่งเชื้อตรวจ
1. "ฝีดาษลิง" อาการแบบไหนเข้าข่ายติดเชื้อ?
เชื้อไวรัส "ฝีดาษลิง" พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น โรคนี้สามารถติดต่อสู่คนได้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน โดยหากติดเชื้อแล้ว ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7- 21 วัน และจะมีอาการ ดังนี้
- มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
- ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย
- มีผื่นขึ้นบริเวณแขน ขา ใบหน้า ลำตัว
- ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง กลายเป็นสะเก็ด แล้วหลุดออกมา
- อาการป่วยจะกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
- ส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ ไม่รุนแรง ยกเว้นในเด็กจะพบอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่
2. อัปเดตสถานการณ์ "ฝีดาษลิง" ล่าสุด (29 พ.ค.65)
มีรายงานข้อมูล ณ 29 พ.ค. 2565 ระบุว่า ทั่วโลกพบผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงใน 32 ประเทศ เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 406 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวม 494 ราย ส่วนฝีดาษลิงในไทย ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย
ส่วนอีกกรณีที่ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่าพบผู้ป่วยต้องสงสัยฝีดาษลิงในไทย จำนวน 5 ราย ล่าสุด.. มีผลตรวจออกมาแล้วว่า ไม่ใช่เชื้อฝีดาษลิง แต่พบว่าเป็นเชื้อเริม (ตรวจหาเชื้อทางห้องแล็ป 2 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก จุฬาลงกรณ์)
3. หากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" ควรทำอย่างไร?
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ฝีดาษลิงในไทย จัดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย หากใครพบว่าตนเองเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน มีคำแนะนำและข้อปฏิบัติ ดังนี้
- กรณีที่เป็น "ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ" ให้ติดตามอาการตนเองอย่างเคร่งครัด
- หากยังไม่มีอาการป่วยใดๆ สามารถไปทำงานได้ปกติ แต่ถ้ามีอาการป่วย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน
- กรณีที่เป็น "ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง" ให้แยกกักตัวเองที่บ้าน 21 วัน
- ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ (เข้าไทย) โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ หากมีอาการเข้าข่ายให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง
- ผู้ที่จะเดินทางจากไทยไปต่างประเทศ (ออกจากไทย) ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมในที่ชุมนุม และล้างมือบ่อยๆ
4. วิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันการติดเชื้อ "ฝีดาษลิง"
ก่อนหน้านี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เคยให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรค "ฝีดาษลิง" ที่เฉพาะเจาะจง แต่ควบคุมการระบาดได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% ส่วนวิธีการหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
- หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
- กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและทำการแยกกักตัว
---------------------------------------
อ้างอิง : กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)