เปิดข้อมูลระบาดวิทยา “อาการฝีดาษลิง” ที่พบมาก
เปิดข้อมูลระบาดวิทยา “ฝีดาษลิง” ประเทศที่พบอาการที่พบมาก และความเสี่ยง "ฝีดาษลิงในไทย" พร้อม 3 กลุ่มผู้ป่วยต้องเฝ้าระวัง
ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ประจำวันที่ 2 มิ.ย.2565 ระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลกของโรคฝีดาษวานรตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2565 ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรกใน ประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจำถิ่นของโรคนี้ ถึงวันที่ 2 มิ.ย. 2565 มีการรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิงทั้งหมด 812 ราย (เพิ่มขึ้น 76 ราย) เป็นผู้ป่วยยืนยัน 706 ราย (เพิ่มขึ้น 100 ราย) และผู้ป่วยสงสัย 106 ราย (ลดลง 24 ราย) ใน 38 ประเทศทั่วโลก (เพิ่มขึ้น 3 ประเทศ)
ประเทศที่มีผู้ป่วยฝีดาษลิงสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่
- สเปน 208 ราย
- อังกฤษ 188 ราย
- โปรตุเกส 119 ราย
- แคนาดา 65 ราย
- เยอรมัน 48 ราย
ประเทศใหม่ที่พบผู้ป่วย ได้แก่ British Overseas Territories (ช่องเเคบยิบรอลตาร์) พบผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย ปารากกัย คอสตาริกา พบผู้ป่วยสงสัยประเทศละ 1 ราย
ข้อมูลทางระบาดวิทยาของสถานการณ์ทั่วโลก
จากรายงานทั้งหมด มี 276 ราย ที่มีการรายงานข้อมูล ปัจจัยเพศ พบว่าส่วนใหญ่
- เป็นเพศชาย 99 %
- เพศหญิง 1 %
สำหรับอายุ จากรายงาน 146 ราย ที่มี ข้อมูลทั้งหมดส่วนใหญ่เป็น
- กลุ่มอายุ 20-59 ปี 99%
- กลุ่มอายุ 10-14 ปี 1 ราย 1%
ฝีดาษลิงอาการที่พบมาก
จากรายงานที่มีข้อมูลอาการ 94 ราย ส่วนใหญ่ 99% มีผื่น
- ผื่นที่พบ ได้แก่
- ลักษณะแผลหรือ ulcerative lesion 78%
- ไม่ระบุลักษณะ 12%
- ตุ่มน้ำใส 8%
- ผื่นนูน และตุ่มหนอง 1%
- ตำแหน่งของผื่น ได้แก่
- บริเวณอวัยวะเพศ 56%
- ไม่ระบุตำแหน่ง 42%
- บริเวณปาก 18%
- บริเวณรอบทวารหนัก 1%
- อาการอื่นที่พบ ได้แก่
- ไข้ 28%
- ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต ปวดศีรษะ 2%
- ไอ กลืนลำบาก เล็กน้อย ปวดกล้ามเนื้อ 1%
จากรายงานที่มีข้อมูลสายพันธุ์13 ราย ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ West African จากรายงานทั้งหมด มี 96 ราย ระบุว่ามีประวัติเดินทาง 53ราย 55% โดยมีข้อมูลระบุมีประเทศต้นทาง34ราย 64% ได้แก่
- สเปน 40%
- ประเทศในยุโรปแต่ไม่ระบุชื่อ 14%
- โปรตุเกส 11%
- อังกฤษ 9%
- แคนาดา เบลเยียม ประเทศในแอฟริกาแต่ไม่ระบุชื่อ 6%
- ไนจีเรีย เยอรมัน และเนเธอแลนด์ 3%
ฝีดาษลิงในไทย
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ฝีดาษลิงในไทย ยังไม่พบผู้ป่วยสงสัย ผู้ป่วยเข้าข่ายและผู้ป่วยยืนยัน อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ไทยจะมีงานไพรด์พาเหรดขึ้นที่กรุงเทพฯ คาดว่าสัปดาห์หน้าจะพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย เนื่องจากจะมีการเดินขบวนพาเหรดงานไพรด์ในไทย ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าร่วมงานจำนวนมาก ก็อาจจะพบผู้ป่วยเข้ามาอย่างแน่นอน
ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิด แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่กรมควบคุมโรคได้ประสานไปยังโรงพยาบาล คลินิกเฉพาะทางต่างๆ เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง ในการสังเกตุและเฝ้าระวังผู้ป่วยด้วย โดยหากพบผู้ป่วยที่เข้านิยามสงสัยให้ส่งข้อมูลมาส่วนกลาง เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาในคลินิกเฉพาะทางด้วย
ผู้เข้าร่วมงานไพรด์พาเหรดกรุงเทพฯ หากมั่นใจว่าไม่ได้ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการป่วย ออกผื่นก็ไม่น่ากังวล แต่หากใกล้ชิดกันโดยไม่ได้สังเกต ก็เป็นความเสี่ยง ฉะนั้นหากพบผู้ที่มีอาการผื่นก็ขอให้พามาตรวจที่ รพ. เพื่อยืนยันว่าไม่ใช่โรคฝีดาษลิง ทั้งนี้ ระยะฟักตัวของโรคคือ 5-21 วัน ดังนั้นหากจะเฝ้าระวังตัวเองก็ต้องอย่างน้อย 3 สัปดาห์หรือ 21 วันหลังจากมีความเสี่ยงนั้นๆ อาการเบื้องต้น 10 วันแรกจะเป็นไข้ หลังจากนั้นจะเป็นผื่นขึ้น ก็ขอให้รับการตรวจที่ รพ.
“โรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง ดังนั้น มาตรการ Universal Prevention หรือ UP ด้วยการเว้นระยะห่างกัน ไม่สัมผัสใกล้ชิด ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่ายๆ จะยังช่วยป้องกันได้” นพ.จักรรัฐกล่าว
3 กลุ่มผู้ป่วยเฝ้าระวังฝีดาษลิงในไทย
ตามแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรประเทศไทย (ฝีดาษลิงในไทย) กรมควบคุมโรค จะแยกผู้ป่วย 3 กลุ่ม คือ
1.ผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง) คือ ผู้ทีมีอาการดังต่อไปนี้
- ไข้หรืออุณหภูมิมากกว่า 38 องศาเซลเซียส และมีอาการอย่างน้อย 1 อย่างนี้ ได้แก่
- เจ็บคอ
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
- ต่อมน้ำเหลืองโต หรือผื่น ตุ่มนูน ผื่นกระจายตามใบหน้า ลำตัว ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด
- ประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาภายใน 21 วันที่ผ่านมา ได้แก่
- ประวัติเดินทางมาจาก/อาศัยอยู่ในประเทศที่การรายงานการระบาดโรคฝีดาษวานร ภายในประเทศ(Local transmission)
- ประวัติร่วมกิจกรรมในงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศเป็นประจำ
- ประวัติสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นำเข้าจากทวีปแอฟริกา
2.ผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง) คือ ผู้ป่วยสงสัยที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด ดังต่อไปนี้ ได้แก่
- สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย
- สัมผัสสิ่งของที่อาจมีเชื้อปนเปื้อนของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าผู้ป่วย
- ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วย หรือใช้ห้องน้ำหรืออุกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย
- ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ ผู้ป่วยภายในระยะ 2 เมตร
3.ผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) คือ ผู้ป่วยสงสัยหรือเข้าข่ายที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน สำหรับแนวทางการจัดการผู้ป่วย หากเป็นผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยเข้าข่าย ตรวจหาเชื้ตามแนวทางที่กำหนด รับการรักษา ตรวจสอบประวัติเสี่ยง สอบสวนโรคและพิจารณาแยกกัก จนกว่าตรวจไม่พบเชื้อ ส่วนผู้ป่วยยืนยัน รับการรักษาและพิจารณาแยกกัก 21 วัน นับจากวันเริ่มป่วย