ประชุมรมว.ศธ.ระดับภูมิภาค สร้างความยั่งยืนการศึกษา แก้ผลกระทบจากโควิด

ประชุมรมว.ศธ.ระดับภูมิภาค สร้างความยั่งยืนการศึกษา แก้ผลกระทบจากโควิด

เป็นอีกครั้งของการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APREMC ) ปี 2565  ซึ่งเป็นการประชุมที่สืบเนื่องจากการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม APREMC ครั้งแรกเดือนสิงหาคม ปี 2557 โดยการประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาความก้าวหน้า ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการด้านการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของการศึกษาในอนาคต

รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะของภูมิภาคเกี่ยวกับการศึกษาภายหลังปี 2558 ซึ่งเป็นวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Post-2015 Global Education and Development Agendas) มีรัฐมนตรีด้านการศึกษาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมการประชุมจำนวน 37 ประเทศ รวมถึงผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ  

  • ทำความรู้จักการประชุมรมว.ศธ APREMC

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนที่คาดการณ์ไม่ได้และมีผลกระทบต่อการศึกษาทั้งในระดับโลกและภูมิภาค รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เรียน ดังจะเห็นได้จากผลการดำเนินการและความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา (SDG4) และการแพร่ระบาดยังจะมีผลกระทบระยะยาวต่อเด็ก ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะผู้เรียนที่เป็นกลุ่มด้อยโอกาส

ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประสบกับวิกฤตด้านการเรียนอยู่แล้วก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ดังนั้น จึงต้องเร่งพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการศึกษาเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อให้การศึกษามีความเท่าเทียม ครอบคลุม เชื่อมโยง ตอบสนอง และยืดหยุ่น รวมถึงการคำนึงถึงงบประมาณด้านการศึกษา

 

  • แนะจัดเตรียมวาระการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต

วันนี้ (6 มิ.ย.2565)  เวลา 09.00 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลลูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2

โดยทรงมีพระราชดำรัสแสดงความชื่นชมแก่ผู้จัดงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีหารือความท้าทายและลำดับความสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาภายหลังยุคโควิด-19เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ของภูมิภาคนี้

ในการนี้ พระองค์ได้ทรงกล่าวถึงเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมผู้สูงวัย และช่องว่างทางการเรียนรู้ ซึ่งเป็นแนวโน้มโลกที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของภูมิภาค ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมวาระการศึกษาและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มาซึ่งความรู้และทักษะ ค่านิยมและทัศนคติ อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป

ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคควรต้องวางมาตรการในการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางการศึกษาในแง่ของการลดโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มผู้เรียน เยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีความเปราะบางมากที่สุด และให้มั่นใจว่าผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยและสุขภาวะที่ดี

 

 

  • จัดการเรียนรู้ผสมผสาน รับการเรียนรู้ไม่หยุดนิ่ง

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทบาทของครูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน ตลอดจนการจัดฝึกอบรมครูเพื่อให้มั่นใจว่าครูจะได้รับทักษะและองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อการจัดรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานแนวใหม่

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสชื่นชมต่อความพยายามของยูเนสโกต่อการเสริมสร้างระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อสภาพการเรียนรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง รวมทั้งการขับเคลื่อนทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบการศึกษาทั่วโลก

นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีความปรีดียิ่งในการทำงานร่วมกับยูเนสโกและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือ เด็กทุกคนให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานในเรื่องของสิทธิการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งรวมถึงสิทธิทางโภชนาการและการดูแลสุขภาพ

พระองค์ทรงกล่าวเชื่อมั่นว่า รัฐมนตรีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการศึกษาจะทำงานร่วมกัน และนำไปสู่การเจรจาที่เกิดผล อันจะนำไปสู่การดำเนินความร่วมมือทางการศึกษาในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ การประชุม APREMC-II ในปี 2565 ศธ.เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ สนับสนุนจาก UNICEF East Asia and Pacific Regional Office (UNICEF EAPRO) UNICEF Regional Office for South Asia (UNISEF ROSA) กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (Ministry of Education, Cultures, Sports, Science and Technology – MEXT) ประเทศญี่ปุ่น และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEF)

 โดยเชิญผู้แทนระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่าจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวน 46 ประเทศ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม เยาวชน ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

  • สถานการณ์โควิด ส่งผลการศึกษาระดับภูมิภาคเปลี่ยน

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ายูเนสโก มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาความยั่งยืน ซึ่งการเป็นศึกษาเป็นหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพให้ยั่งยืน และศธ.มีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ผล ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19  เป็นเหตุการณ์ที่เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน  ซึ่งแต่ละประเทศในระดับภูมิภาคต้องมีการปรับการจัดการเรียนการสอน เปลี่ยนระบบจัดการศึกษาต่างๆ ให้เป็นไปตามบริบทของแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต่อเด็ก

“การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนแก่ประเทศสมาชิกในการจัดการศึกษา เพราะโควิด ทำให้โครงสร้างการจัดการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลายๆ ประเทศได้มีแนวคิดการจัดการศึกษาใหม่ๆ ก็จะได้นำมาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การจัดการศึกษาคุณภาพอย่างยั่งยืน” น.ส.ตรีนุช กล่าว

อย่างไรก็ตาม  เป้าหมายที่สำคัญ คือ การสร้างความมั่นใจในเรื่องของการศึกษาสำหรับประชาชนทุกคน เป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ และการศึกษาตลอดชีวิตภายในปี 2573  รวมถึงการดำเนินการด้านการศึกษาระดับภูมิภาคภายใต้หัวข้อที่สำคัญ ได้แก่  การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกคน ความเสมอภาคและเท่าเทียม ทักษะและสมรรถนะเพื่อชีวิตและ การทำงาน คุณภาพการศึกษาและครู การส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศและการศึกษาสำหรับการศึกษา และ การบริหารจัดการและงบประมาณ

  • วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 มุ่งการศึกษาคุณภาพ

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การประชุมวันแรกเป็นการประชุมเชิงวิชาการ Technical Segment เพื่อนำเสนอสถานะและความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (SDGs 4 : การศึกษาที่มีคุณภาพ) ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมเปิดให้มีการอภิปรายของผู้บริหารระดับสูงด้านการศึกษา นักการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญนักวิจัย ฯลฯ ภายใต้หัวข้อย่อยด้านการศึกษามิติต่าง ๆ 

ดร.อรรถพล  กล่าวต่อว่า วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 หรือ SDGs ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดทำขึ้นมีวัตถุประสงค์หลักที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุลใน 3 มิติระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความเชื่อมโยงเกื้อหนุนและบูรณาการการพัฒนาระหว่างมิติต่าง ๆ

  • รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยรั้งอันดับที่ 3 ของเอเชีย

รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDR) ปี 2565 ที่เพิ่งเผยแพร่ล่าสุดต้นเดือน มิ.ย.นี้เอง มีการจัดอันดับ SDG Index ของประเทศไทย อยู่อันดับที่ 44 จากทั้งหมด 163 ประเทศ เมื่อเปรียบเทียบในระดับทวีป ไทย รั้งอันดับที่ 3 ของเอเชีย เป็นรองเพียง ญี่ปุ่น (อันดับ19) และ เกาหลีใต้ (อันดับ27) เท่านั้น และ ไทย ยังครองอันดับ 1 ของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ และยังรักษาแชมป์ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน (ปี 2562 -2565)

 ที่ผ่านมาที่โลกเผชิญกับวิกฤตการณ์หลายเรื่องในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกต่อมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงความขัดแย้งในภูมิภาค-ภาวะสงครามในยูเครน ล้วนเป็นเหตุชะลอและหยุดยั้งความก้าวหน้าของ SDGs ในหลายเป้าหมาย รวมทั้งในประเด็น SDGs4 เป็นการมุ่งเน้นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

การประชุมครั้งนี้จะได้โฟกัสถึงประเด็นความท้าทายของการจัดการศึกษาช่วงหลังวิกฤต โควิด-19นำไปสู่การฟื้นฟูและการจัดการต่อสภาวะวิกฤตการเรียนรู้ การพลิกโฉมการศึกษาและระบบการศึกษาเพื่อให้มีความเท่าเทียม ครอบคลุม เชื่อมโยง ตอบสนองและยืดหยุ่น ส่งผลต่อศักยภาพของเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก