“อนุทิน”ระบุไม่มีประกาศ-คำสั่ง “ถอดหน้ากากอนามัย”
สธ.ประกาศพร้อมเข้าสู่ “ระยะโรคประจำถิ่นโควิด19” ชงข้อพิจารณาหน้ากากอนามัยเข้าศบค.สัปดาห์หน้า “อนุทิน”ระบุคงไม่มีประกาศ-คำสั่งถอด กลางมิ.ย.อาจพิจารณาลดระดับเตือนภัย
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวในงาน “Move on จากโควิด ใช้ชีวิตแบบมั่นใจ รเตรียมความพร้อมโรคโควิด19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น”ว่า จากรายงานสถานการณ์โควิด19ในไทย แนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตลดลงต่อเนื่อง รายงานติดเชื้อใหม่ต่ำกว่า 3,000 รายต่อวัน เสียชีวิตต่ำกว่า 30 รายต่อวันมาเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์แล้ว เป็นการยืนยันถึงประสิทธิภาพในการควบคุมโรค และความร่วมมือของประชาชน ในการปฏิบัติตามคำแนะนำในการควบคุม ป้องกันโรค จึงถึงเวลาที่จะต้องมีการสื่อสารเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมประชาชนและประเทศไทยในการปรับวิถีชีวิตไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
การเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงลดลง แต่เป็นโรคที่จะต้องอยู่กับเรา และเราต้องอยู่กับมัน แต่การเป็นโรคประจำถิ่นจะทำให้มีความคุ้นชินและเข้าใจในการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย เลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ยังมีปัญหาคนจำนวนมากยังไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรณรงค์ให้คนที่ยังไม่ยอมฉีดวัคซีนมาฉีดวัคซีนต่อไป รวมถึง ควรต้องปฏิบัติตามมาตรการ 2 U ยังควรใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และเข้ารับวัคซีนตามกำหนด
"พยายามที่จะคืนความเป็นปกติสุขให้พี่น้องประชาชนมากที่สุด มีการพูดถึงการถอดหน้ากาก กลับมาใช้ชีวิตปกติ เปิดทุกอย่างไม่ต้องมีข้อจำกัดใด ๆ ก็เป็นเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขเพียงแต่ต้องใช้ความเข้าใจของสถานการณ์ ของแต่ละคนด้วย ถ้ามีความเสี่ยงก็ประเมินได้ ถ้าเสี่ยงก็หยิบหน้ากากมาใส่ได้ แต่คงไม่มีประกาศถอดหน้ากากอนามัย จะใส่ก็ใส่ จะถอดก็ถอดอยู่ที่การประเมินสถานการณ์ของแต่ละคนด้วยความเข้าใจ ด้วยความรู้ที่ได้ประสบมา 2 ปีกว่า " นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สาส์นถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่รักทุกท่านเพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่นของโรคโควิด 19 ขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวสาธารณสุขทุกท่าน ทุกหน่วยบริการทั้งระดับจังหวัด อำเภอและตำบล ร่วมมือกันเตรียมความพร้อมทางสาธารณสุข ทั้งเรื่องการดูแลรักษาพยาบาล เตียงดูแลรักษา การจัดหาเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ และวัคซีนให้มีความเพียงพอ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
และขอให้ทุกจังหวัดเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมในเข้าสู่การเป็นโรคประจําถิ่น รวมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนรับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเกณฑ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยในช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด 19
นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในประเด็นหน้ากากอนามัยว่า คงไม่มีคำสั่งหรือประกาศให้ถอดหน้ากากอนามัย เพราะตอนที่สวมหน้ากากก็ไม่มีคำสั่ง แต่เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้ปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากโควิด ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงแพทย์ก็ยังมีคำแนะนำให้สวมหน้ากาก ประเมินสถานการณ์เสี่ยงนั้นๆ เช่น อยู่กันหลายคน ที่ไม่สามารถทราบได้ว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงอย่างไร ก็ยังควรสวมหน้ากากอยู่ แต่หากไปงานสังสรรค์กันเอง ตรวจ ATK ไม่พบเชื้อ ไม่มีความเสี่ยงอะไรมา เช่น ผับบาร์ กิจกรรมรวมกลุ่มคน ประเมินความเสี่ยงแล้วก็สามารถถอดหน้ากากได้ ทั้งหมดขึ้นกับความรับผิดชอบต่อสังคม
ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์โควิด19ของประเทศไทยอยู่ตรงไหนและกำลังจะไปในทิศทางไหน จะประกาศเข้าระยะPost pandemicของประเทศไทยได้แล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ในการดำเนินการมีศบค.ที่มีบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงาน ซึ่งสธ.เป็นส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น จะประกาศเมื่อไหร่ หรืออย่างไร ก็ต้องฟังศบค. โดยสธ.เตรียมข้อมูลทั้งหมดสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันส่งให้ศบค.พิจารณา
“ทุกวันนี้ก็คล้ายๆPost pandemic อยู่แล้ว เข้าประเทศไทยไม่ต้องมีการตรวจโควิด19 ด้วยวิธีPCRแล้ว เดินทางไปที่ไหนก็มาได้ไม่ต้องATK สามารถเข้าไปในร้านอาหารได้ คาราโอเกะ ผับบาร์ สถายบันเทิงต่างๆก็เปิดตามกำหนดเวลาไม่เกินเที่ยงคืน ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็จะผ่อนคลายเรื่องอื่นต่อไป เรื่องหน้ากากอนามัยก็เช่นกัน ส่วนวันไหนจะประกาศเป็นPost pandemic หรือโรคประจำถิ่น(Endemic)ก็ต้องมีการหารือกันว่าสถานการณ์โรคเป็นอย่างไร องค์การอนามัยโลกว่าอย่างไร หน่วยงานอื่นๆมีความเห็นอย่างไรก็ไปประชุมในศบค.
ถามต่อว่าสธ.ให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนได้อย่างไร ในการMove on จากโควิด19 นายอนุทิน กล่าวว่า มีการเตรียมความพร้อมเรื่อง 3 พอ คือ หมอพอ ยาพอ เตียงพอ สิ่งนี้ประชาชนเกิดความมั่นใจได้ว่า ถ้าป่วยหนักเข้ารับการรักษาก็พร้อมให้การดูแลตามสิทธิฟรี
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กล่าวว่า สธ.แนะนำการใส่หน้ากากอนามัย ที่เป็นหัวใจในการป้องกันโรคหลายโรค รวมถึงฝุ่นละอองด้วย ถ้าใส่ได้ก็ดี ก็พยายามให้มีการพิจารณา โดยศปก.ศบค.ได้ให้สธ.ส่งข้อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องหน้ากากอนามัยไป ก็จะเสนอให้ศปก.ศบค.พิจารณา ทั้งเรื่องคนกลุ่มเสี่ยง สถานที่ หรือกิจกรรมต่างๆ ก็รอผลการพิจารณา ทั้งนี้ จะมีการประชุมศบค.ในสัปดาห์หน้า
มาตรการทางการแพทย์และสาธารณสุขก็ประเมินแล้ว โรคลดน้อยลง การรักษาที่มีประสิทธิภาสพ จำนวนเตียงเพียงพอขณะนี้มีการใช้ประมาณ 10 %ของจำนวนเตียงรพ.ที่มีอยู่ วัคซีนมีเพียงพอ บุคลการสาธารณสุขรองรับได้ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและศูนย์ปฏิบัติภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโควิด19 (EOC สธ.)เห็นว่าขณะนี้เป็นไปตามแผนที่สธ.วางไว้ว่าโรคนี้น่าจะเข้าสู่ระยะท้ายๆแล้ว และยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาให้เกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งทุกจังหวัดอยู่ในระยะการลดลงของโรคแล้ว ไม่มีลักษณะของการระบาดใหญ่ รวมถึง มีการผ่นคลายเปิดเรียน ก็ยังไม่มีการระบาดให้เห็น ส่วนการเปิดสถานบันเทิง ยังไม่มีลักษณะการระบาด แต่ยังต้องติดตามเฝ้าระวังอีก 1 สัปดาห์ถึงจะบอกได้อย่างแน่นอนว่าระบาดเพิ่มขึ้นหรือไม่
“แต่จากการคาดการณ์ ประมาณการณ์โดยคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว ขณะนี้ภภูมิคุ้มกันประเทศมีพอสมควร และมีความพร้อมทุกๆด้าน โรคนี้ก็จะเข้าสู่ระยะPost pandemic คือผ่านการระบาดใหญ่ของโรคไปแล้ว ซึ่งคล้ายๆหลายประเทศ ก็มีการเฝ้าระวัง ป้องกัน ตามสมควร โรคไม่ได้มีความทร้ายแรงกมาก ใช้การรักษาอย่างทั่วถึง”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะประกาศลดระดับเตือนภัยโควิด19หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สธ.ต้องมีความระมัดระวัง เพราะการเตือนภัยเป็นการสื่อสารถึงประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งเมื่อเปิดสถานบันเทิง ก็เฝ้าระวังอยู่ถ้าพ้นระยะที่คิดว่าจะเกิดปัญหาไปได้ ก็แสดงว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่มีความพอเพียง เพราะฉะนั้น การจะลดการเตือนอาจจะมีขึ้นและมาตรการที่สอดคล้องกัน น่าจะประมาณกลางเดือนมิ.ย.นี้