รู้ได้อย่างไรว่า “ข้อเข่า" และ "ข้อสะโพก” กำลังมีปัญหา
"โรคข้อเข่าเสื่อม" และ ข้อสะโพกเสื่อม ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเกิดจากปัจจัยที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการใช้ชีวิต อายุ เพศ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบัน มีการพัฒนานวัตกรรมการผ่าตัดใหม่ๆ เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น
การใช้ชีวิตประจำวันของใครหลายคน มีการทำกิจกรรมหรือกิจวัตรที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่า ปวดขาได้ บางคนปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ในขณะที่บางคนปวดแบบพอทนไว้ บางคนมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน แต่จะทุเลาลงเมื่อได้พักหรือหยุดการใช้งาน เหล่านี้เป็นอาการเตือนให้รู้ว่า “ข้อเข่าและข้อสะโพก” กำลังมีปัญหา
อาการ โรคข้อเข่าเสื่อม
นพ. สมบัติ โรจน์วิโรจน์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านข้อสะโพกและข้อเข่า ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายว่า โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Arthritis) จะมีอาการ ได้แก่
- ปวดเข่า
- เข่าบวม
- เข่าอักเสบ
- เดินแล้วมีเสียงก๊อบแก๊บในข้อเข่า
- ไม่สามารถยืดหรือเหยียดขาได้สุด
- รวมทั้งการเดินขึ้นลงบันไดที่ลำบาก
ปัจจัยเสี่ยง
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น
- เพศหญิง
- การที่มีน้ำหนักตัวเกิน
- ซึ่งในเพศหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย
- การได้รับแรงกระแทกซ้ำ ๆ ที่ข้อเข่า
- การเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณข้อเข่าและพันธุกรรม
- ถ้าผิวของข้อเข่าได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากการอักเสบของข้อเข่าหรืออุบัติเหตุ จะรู้สึกปวดแม้ขณะนั่งหรือนอน
การตรวจวินิจฉัยข้อเข่าเสื่อม
- การซักประวัติสุขภาพ
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจการทำงานของเข่า เช่น X-ray เพื่อดูพยาธิสภาพ ความเสียหายของเข่าที่เสื่อม
- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูสภาพของกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆ รอบกระดูก
การรักษาข้อเข่าเสื่อม
- เริ่มจากเปลี่ยนวิธีการใช้งาน
- ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดและกระแทกที่เข่า เช่น การนั่งยองๆ คุกเข่า ขึ้นลงบันได วิ่ง หรือการยกของหนัก
- รวมทั้ง รับประทานยาเพื่อลดการอักเสบในเข่า
- พร้อมกับ การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อให้เข่ามีการเคลื่อนไหวที่มั่นคง
- ถ้าการรักษาไม่ได้ผล อาจพิจารณา ฉีดยาเข่าในข้อเข่าเพื่อลดการอักเสบและเพื่อเพิ่มการหล่อลื่นในเข่า เช่น ยาสเตียรอยด์ หรือน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมสังเคราะห์
- หากยังไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
"สำหรับ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement) มีการพัฒนาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ทั้งในด้านเทคนิคการผ่าตัด และวัสดุข้อเทียมที่ใช้ ทำให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพสูง ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวไว พร้อมกลับไปใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ โดยจะตัดเอาผิวข้อที่เสียออกและใช้ผิวข้อเทียมที่ทำด้วยโลหะและมีส่วนพลาสติกกันระหว่างผิวโลหะ เพื่อกันการกระแทกและลดแรงเสียดสีระหว่างผิวข้อ โดยใช้ข้อเทียมรุ่นมาตรฐานและรุ่น พรีเมี่ยมที่มีคุณภาพและอายุการใช้งานได้นานประมาณ 15-20 ปีขึ้นไป”
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เทคโนโลยีขั้นสูง
ทั้งนี้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ที่ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล มีทีมศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าที่มากด้วยประสบการณ์ พร้อมด้วยทีมแพทย์สหสาขา เช่น วิสัญญีแพทย์ แพทย์กายภาพบำบัด และ อายุรแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยแต่ละรายจะได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม ครบทุกมิติ ด้วย มาตรฐานการดูแลรักษาระดับสากลที่ได้รับการรับรอง (Program Certificate สำหรับ Total Knee Replacement Program) โดย JCI ประเทศสหรัฐอเมริกา
อีกทั้ง มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (digital template / pre-operative planning program) เพื่อวางแผนให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างถูกต้อง ช่วยระบุเลือกขนาด และตำแหน่งของข้อเทียมได้อย่างตรงจุด ร่วมกับ เทคนิคระงับปวด (pain intervention technique) เช่น การบล็อคเส้นประสาท และการใช้คลื่นไฟฟ้าความถี่สูง (เป็นกรณีทางเลือกเสริมสำหรับการระงับอาการปวดหลังผ่าตัด)
"ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย หรือไม่เจ็บเลย ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียง ตลอดจน ผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัดต่ำ เช่น ลดการทำลายเส้นประสาท ลดโอกาสการติดเชื้อหลังผ่าตัด และลดความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว สามารถเดินได้ภายใน 24 ชม. หลังผ่าตัด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติรวดเร็วมากยิ่งขึ้น"
สัญญาณเตือน ข้อสะโพกเสื่อม
นอกจากอาการปวดเข่าแล้ว ปัญหาวัยเก๋าที่หลายคนมีคืออาการปวดสะโพก ทำให้เดินขึ้นหรือลงบันไดไม่สะดวก หรือไม่สามารถทำกิจกรรมที่ชอบได้ เช่น การออกกำลังกายต่างๆ การออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของข้อสะโพกเสื่อม ส่งผลให้ใช้ชีวิตลำบาก คุณภาพชีวิตแย่ลง
การรักษาข้อสะโพกเสื่อม
การรักษาข้อสะโพกเสื่อมได้มีการนำเทคนิคแนวใหม่ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมโดยไม่ตัดกล้ามเนื้อด้วยเทคนิค Direct Anterior Approach (DAA) พร้อมการใช้นวัตกรรม Non-Invasive Hip Navigation เพื่อเพิ่มความแม่นยำ และเลือกใช้วัสดุข้อเทียมที่เหมาะสม
นพ. พนธกร พานิชกุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านข้อสะโพกและข้อเข่า ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายให้ฟังว่า เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เอาส่วนของข้อสะโพกที่เสียหายออกและแทนที่ด้วยข้อสะโพกเทียมที่สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนที่แตกต่างกันหลายชนิด โดยศัลยแพทย์จะเลือกขนาดและวัสดุของข้อสะโพกเทียมที่ดีที่สุดและเหมาะสมให้กับผู้ป่วยในแต่ละบุคคล
ผ่าตัดแนวใหม่ ไม่ตัดกล้ามเนื้อ
โดยทางโรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ได้เป็นผู้ริเริ่มนำเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2015 โดยได้ทำการผ่าตัดผู้ป่วยด้วยเทคนิคนี้ไปแล้วมากกว่า 700 ราย และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี สำหรับเทคโนโลยีใหม่ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ หรือ DAA (Direct Anterior Approach) นั้น
ศัลยแพทย์จะใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยคอมพิวเตอร์นำวิถีรุ่นใหม่ เรียกว่า Velys™Hip Navigation ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะ เพื่อช่วยระบุตำแหน่งของข้อสะโพกเทียมในขณะผ่าตัดให้ตรงตำแหน่งมากขึ้น เลือกขนาดและวัสดุของข้อเทียมให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล และยังช่วยผ่าตัดให้ผู้ป่วยมีความยาวขาทั้งสองข้างให้เท่ากันหลังผ่าตัดอีกด้วย ซึ่งเทคโนโลยีตัวนี้ไม่จำเป็นต้องเจาะกระดูกของผู้ป่วยเหมือนระบบคอมพิวเตอร์นำวิถีหรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดรุ่นอื่นๆ ในอดีต ทำให้ผู้ป่วยมีการบาดเจ็บที่น้อยลงและฟื้นตัวได้ไวกว่าเดิม
ข้อสะโพกเทียม ลดผลแทรกซ้อน
นอกจากนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ยังเป็นผู้ริเริ่มนำข้อสะโพกเทียมรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า Actis® Total Hip System ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อมาใช้ ซึ่งตัวข้อเทียมจะมีผิวสัมผัสที่ทำให้กระดูกเข้าไปยึดติดกับข้อสะโพกเทียมได้ดีขึ้นกว่าเดิม มีจะงอย (Collar) ที่ป้องกันไม่ให้ข้อสะโพกเทียมจมหลังผ่าตัด และลดผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะผ่าตัดลงได้ ทำให้การผ่าตัดประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
“เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ โดยปกติแล้วแนวแผลผ่าตัดจะอยู่บริเวณหน้าต้นขา ซึ่งอาจจะเห็นแผลได้ง่าย แต่ด้วยเทคนิคการลงแผลแบบใหม่ จะมีการซ่อนแผลผ่าตัดใต้ต่อขาหนีบหรือที่เรียกว่า BIKINI Incision ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก” มีความแนบเนียน เพราะแผลผ่าตัดขนาดเล็กจะอยู่ด้านหน้าบริเวณขาหนีบ ซ่อนใต้แนวกางเกงใน ทำให้ไม่เห็นรอยแผลเมื่อใส่กางเกงขาสั้นหรือชุดว่ายน้ำ"
รวมไปถึง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดลดลง สามารถฟื้นตัวได้ไวขึ้น เดินได้ทันทีหลังการผ่าตัด เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อ ตลอดจน ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถวางตำแหน่งข้อสะโพกเทียมได้ดีขึ้น อัตราการหลุดของข้อสะโพกเทียมต่ำมาก มีความยาวขาที่เท่ากันหลังผ่าตัด มีขนาดแผลที่เล็ก สวยงาม สามารถซ่อนแผลผ่าตัดใต้ขาหนีบ และยังสามารถทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมได้ทั้งสองข้างพร้อมกันอีกด้วย ช่วยให้ผู้ป่วยการเคลื่อนไหวข้อสะโพกได้ดีขึ้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รพ.เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ
นพ.วัลลภ สำราญเวทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดดำเนินการรักษาพยาบาล โดยจดทะเบียนเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกและข้อเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2562 มุ่งเน้นให้การดูแลรักษาผู้ป่วยด้านกระดูกและข้อ อย่างครบครัน ชูคอนเซ็ปต์ Advanced Total Joint Care: เรื่องข้อครบ จบที่เดียว โดยนำเทคนิคและนวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียม ที่ช่วยให้เกิดผลลัพธ์และคุณภาพชีวิตที่ดีกับผู้ป่วย
อาทิ การใช้ Digital Template Program วางแผนในการผ่าตัด Pre-operative planning program การใช้ระบบนำวิถีเนวิเกเตอร์นำร่องในขณะการผ่าตัด (Non-Invasive Navigation System) ร่วมกับเทคนิคระงับปวด (Pain Intervention Technique) และ ERAS Program (Enhanced Recovery After Surgery โปรแกรมช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไว ในทุกขั้นตอน ก่อน-ระหว่าง-หลังผ่าตัด)
ด้วยทีมแพทย์สหสาขา ผู้ชำนาญการเฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ ผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยห้องผ่าตัด “Hybrid Operating Room” เป็นห้องผ่าตัดทันสมัยที่รวมเอาเทคโนโลยีขั้นสูงของการผ่าตัดไว้ด้วยกัน ช่วยให้ผู้ป่วยได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่เป็นอย่างดี บาดเจ็บน้อย ฟื้นตัวไวซึ่งในปัจจุบัน ได้ให้การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยมาแล้วมากกว่า 1,000 ราย