จุดอันตราย ! ปลดล็อก "กัญชาไทย” เมื่อ“กฎหมายควบคุม”ออกมาไม่ทัน
น่ากังวลและอาจเกิดปัญหาไม่น้อย กับ“กัญชาไทย” หลัง“ปลดล็อกกัญชา”จากยาเสพติดตั้งแต่ 9 มิ.ย.2565 ขณะที่กฎหมายที่จะนำมาใช้ในการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดๆหรือไม่เหมาะสม “ยังไม่ผ่านสภา” และออกมาบังคับใช้ไม่ทัน
ก่อนหน้านี้มีเสียงทักท้วงจากนักวิชาการขอให้มีการ “ชะลอ”การปลดล็อก ออกไปก่อน จนกว่า “ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ...”จะมีผลบังคับใช้ เนื่องจากกังวลเรื่อง “อันตรายจากการใช้กัญชา ที่ไม่เหมาะสม” แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงมีการบังคับใช้ตามเดิมในวันที่ 9 มิ.ย.2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสารTHC เกิน 0.2 %
ซึ่งค่า THC ไม่เกิน 0.2 % เป็นค่าที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO กำหนดว่า “ไม่เป็นยาเสพติด”
แต่หากตีความตามกฎหมายไทยเท่าที่มีอยู่ในตอนนี้ หลังการ “ปลดล็อก”เท่ากับว่า “ส่วนอื่นๆของกัญชา แม้มีTHC เกิน 0.2 % แต่ไม่ใช่สารสกัด ก็สามารถใช้ได้ ไม่ผิดกฎหมาย”!!!
การจะนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ ด้วยการใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) คือ ยา อาหารสำเร็จรูป เครื่องสำอาง แม้ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกมาไม่ทัน แต่ยังมีพ.ร.บ.ของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดกำหนดไว้ รวมถึง การออกประกาศ อย.กำหนดปริมาณกัญชาเป็นส่วนผสมในแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะต้องขออนุญาตอย.และมีการตรวจสอบก่อนออกสู่ตลาด
ทว่า ปัญหาอยู่ที่ “ช่อดอก” ที่จะมีการสุ่มเสี่ยงและอันตรายจากการใช้กัญชา ที่จะนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เพราะจะสามารถซื้อ ขายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และแน่นอนว่า หากไม่ได้นำ “ช่อดอก”ไปใช้ในรูปแบบของสารสกัดเพื่อเป็นส่วนผสมในยา อาหาร หรือเครื่องสำอาง หรือมากกว่ารูปแบบของการกิน ดื่ม ทาในปริมาณที่เหมาะสม ก็ย่อมเป็นการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม สุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
ข้อมูลจากเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ระบุว่า ช่อดอกมีสาร THC สูงถึง 10-20 % เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่กำหนดค่าไว้ที่ 0.2 % ไปถึง 50-100 เท่า !!
หรืออาจจะมีการนำส่วนอื่นของกัญชา มาผสมในอาหาร ก็สุ่มเสี่ยงที่จะมี “สารTHC เกิน 0.2 %"
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลการวิจัยวิเคราะห์ปริมาณสาร THC(Tetrahydrocannabinol) ของกัญชาเกินมาตรฐานในอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง และเครื่องดื่มหลายชนิด พบว่า หลายผลิตภัณฑ์ไม่ผ่านเกณฑ์คือมี THC เกินมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นยาเสพติด ได้แก่ บางตัวของเครื่องดื่มผสมสมุนไพรและผงชากัญชามี THC 0.214-0.231% และคุกกี้มี THC 0.498 %
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลข้อควรรู้ว่า
1.สาร THC ซึ่งมีมากในช่อดอกมีฤทธิ์เสพติดและทำให้เสียสุขภาพได้
2.กัญชาอาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อประชาชนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะ เด็กและวัยรุ่น สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร
3.การใช้ปริมาณทำให้เกิดภาวะ “กัญชาเป็นพิษ”ได้ เช่น อารมณ์ครื้นเครง หูแว่ว ระแวง หัวใจเต้นเร็ว การเคลื่อนไหวไม่ประสาน สูญเสียการตัดสินใจที่ดี เป็นต้น
4.การใช้มากและนานทำให้เกิดการเสพติดได้
และ5.การเสพติดกัญชาในระยะยาว ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ เช่น เชาวน์ปัญญาลดลง และเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิต โรคไบโพลาร์ และโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
ขณะที่กลไกของการนำไปใช้ “ถูกปลด”ให้นำไปใช้ได้แบบไม่ผิดกฎหมาย แต่ฟากฝั่งของ “กลไกการควบคุมไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ผิดๆ หรือไม่เหมาะสม” กลับยังไม่มีออกมาดำเนินการ
ทั้งที่ “กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)” ย้ำเสมอถึงการ “ปลดล็อกกัญชาเสรีทางการแพทย์”
แม้ว่าสธ.จะมีการหยิบเอาข้อกำหนดเรื่อง “เหตุรำคาญ”ตามพรบ.การสาธารณสุข มาใช้ในระหว่างที่ “ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง” ยังไม่เป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ โดยกำหนดให้ “กลิ่นควันกัญชากัญชงเป็นเหตุรำคาญ” มีโทษจำคุก 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
แต่ก็ดูจะมีประโยชน์เพียงการควบคุมกรณี "การจัดปาร์ตี้"เพียงเท่านั้นหรือไม่
รวมถึง การนำข้อกฎหนดที่มีอยู่ใน “ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง” มาระบุไว้ในข้อยอมรับของการยจดแจ้งปลูกกัญชา กัญชง ว่า ห้ามจำหน่ายให้ 3 กลุ่ม คือ ห้ามจำหน่ายให้ใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งผู้ฝ่าฝืนจะโดน “แบล็คลิสต์”ไว้ เมื่อพ.ร.บ.กัญชา กัญชง มีผลบังคับอาจจะส่งต่อการปลูกหรือดำเนินการของบุคคลนั้นเกี่ยวกับกัญชาในอนาคต
แต่ก็ต้องยอมรับว่า “ดูจะเป็นเรื่องที่อ่อนเกินไป” หากจะนำใช้ควบคุมเรื่องใหม่ที่เพิ่งปลดล็อกจากยาเสพติดอย่าง “กัญชา กัญชง” ที่ไม่อาจปฏิเสธว่าคนจำนวนไม่น้อย “อยากลองของใหม่”
นี่เป็นเพียง “จุดอันตราย”ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสมที่จะเกิดต่อสุขภาพ ซึ่งสวนทางจากเจตนารมย์ของนโยบาย “ปลดล็อกกัญชาเสรีทางการแพทย์” ไม่นับรวม ในส่วนของความมั่นคง ที่จะต้องดำเนินการ เพราะมีส่วนที่เชื่อมโยงกับ อนุสัญญาระหว่างประเทศ
ปัจจุบันจึงเหมือนว่าการใช้กัญชาแบบถูกหรือผิด จึงอยู่ที่การให้ความรู้แล้วขึ้นอยู่ที่วิจารณญาณของผู้ใช้เอง ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนี้
เพราะการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ยังเป็นเรื่องใหม่ และมีข้อกังวลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในวันที่ยังไม่มี “กฎหมายควบคุม” เท่ากับแทบจะ “ไร้กลไก”ที่เข้ามาช่วยกลั่นกรองการนำไปใช้ที่ไม่เหมาะสมให้กับประชาชนอีกขั้นหนึ่ง
แทนที่จะให้ประชาชนใช้การรู้เท่าทันของตัวเองในการกลั่นกรองเพียงอย่างเดียว