ส่องสถานการณ์ "เต่าทะเลไทย" กับอัตรา "วางไข่" ในรอบ 10 ปี
เนื่องในวันที่ 16 มิถุนายน ของทุกปีเป็น "วันเต่าทะเลโลก" (World Sea Turtle Day) ทั่วโลกพบเต่าทะเล 7 ชนิด ขณะที่ไทยมี 5 ชนิด โดยในปี 2563 พบว่าการวางไข่ของเต่าเพิ่มมากขึ้น อยู่ที่ 491 รัง จากปี 2553 จำนวน 101 รัง อย่างไรก็ตาม ยังพบเต่าทะเลเกยตื้นมากกว่า 500 ตัว
ข้อมูลจาก ระบบฐานข้อมูลทัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบายว่า "เต่าทะเล" เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่เคยมีหลักฐานพบว่าอาศัยอยู่ทั่วไปในสมัย 130 ล้านปีก่อน นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าเคยพบซากโบราณ (fossil) ก่อนหน้านั้นไม่น้อยกว่า 200 ล้านปี
ทั่วโลกพบเต่า 7 ชนิด
การแพร่กระจายของเต่าทะเล พบอยู่เฉพาะในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น เต่าทะเลทั่วโลกพบอยู่ 7 ชนิดด้วยกัน คือ
- เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea)
- เต่าตนุ (Chelonia mydas)
- เต่าหลังแบน (Natator depressus)
- เต่ากระ (Eretmochelys imbricata)
- เต่าหัวฆ้อน (Caretta caretta)
- เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea)
- เต่าหญ้าแคมป์ (Lepidochelys kempi)
เต่าทะเลทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลกระทบโดยตรงจากมนุษย์ ในอดีตเต่าทะเลจำนวนมากต้องถูกล่าเพื่อนำเนื้อและไขมันมาบริโภค กระดองและซากเต่าทะเล ถูกนำมาแปรรูปเป็นเครื่องประดับตกแต่ง ไข่เต่าทะเลเกือบทั้งหมดถูกนำมาบริโภค ทำให้เต่าทะเลที่จะเจริญเติบโตไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็ว กิจกรรมของมนุษย์บริเวณทะเลและชายฝั่ง ทำให้แหล่งวางไข่ แหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งหากินของเต่าทะเลมีจำนวนลดลง
พบเต่า 5 ชนิดในไทย
สำหรับ ในประเทศไทยพบเต่าทะเลเพียง 5 ชนิด คือ
- เต่ามะเฟือง
- เต่าตนุ
- เต่ากระ
- เต่าหญ้า
- เต่าหัวค้อน
โดยเต่าหัวค้อนไม่เคยพบขึ้นวางไข่ในประเทศไทยเลยตลอดระยะ 20 ปี ที่ผ่านมาเพียงแต่มีรายงานพบหากินอยู่ในน่านน้ำไทยเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน "เต่ามะเฟือง" ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน ส่วนเต่าทะเลอีก 4 ชนิด อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
สภาพแวดล้อม ส่งผลต่อเต่าทะเล
ทั้งนี้ สภาวะแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง ยังส่งผลให้ประชากรเต่าทะเลมีความอ่อนแอลง ในประเทศไทยสถิติการวางไข่ของเต่าทะเลลดลงมากกว่า 5 เท่า จากจำนวนมากกว่า 2,500 รังต่อปี เหลือเพียงปีละ 300-400 รังต่อปี ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าเต่าทะเลในประเทศไทยจะได้รับความคุ้มครองก็ตาม แต่สถิติการลดลงก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเต่าทะเลลดลงจนมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า สาเหตุที่ทำให้เต่าทะเลลดลงมีสาเหตุสำคัญ ดังนี้
อัตราการรอดของลูกเต่าทะเลเองในธรรมชาติต่ำมาก และใช้ระยะเวลานานนับ 10 กว่าปีที่จะถึงวัยเจริญพันธุ์
การลักลอบเก็บไข่เต่าทะเล เนื่องจากค่านิยมในการบริโภคไข่เต่าทะเลของนักท่องเที่ยว ทำให้ปริมาณความต้องการไข่เต่าทะเลสูง ราคาไข่เต่าทะเลจึงสูง การลักลอบเก็บไข่เต่าเพื่อบริโภคหรือจำหน่ายจึงยังเป็นปัญหาใหญ่
การติดเครื่องมือประมงทั้งที่ไม่เจตนาและโดยตั้งใจ เช่นทำการประมงอวนลาก อวนลอย และเบ็ดราว บริเวณชายฝั่งหน้าแหล่งวางไข่เต่าทะเล หรือ แหล่งหาอาหารของเต่าทะเล โดยเฉพาะในช่วงฤดูการวางไข่เต่าทะเล ซึ่งเครื่องมือทำการประมงเหล่านี้ เป็นตัวการโดยตรง ที่ทำลายพันธุ์เต่าทะเลทั้งที่เจตนาและไม่ได้เจตนา
ซึ่งเต่าทะเลเป็นสัตว์น้ำที่หายใจด้วยปอดเมื่อติดอวน หรือ เบ็ดอยู่ใต้น้ำนานๆ ก็จะจมน้ำตายได้ นอกจากนั้นชาวประมงบางกลุ่มทำการดักจับเต่าทะเลโดยเจตนา เพื่อนำเนื้อไปบริโภคหรือฆ่าเพื่อเอาไข่ในท้อง
การบุกรุกทำลายแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ของเต่าทะเล โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญจึงมีการบุกรุกสร้างที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ทำให้สภาพความเหมาะสมของแหล่งวางไข่เต่าทะเลเสียไป ปัจจุบันแหล่งที่เหมาะสมสำหรับวางไข่เต่าทะเลเหลือน้อยมาก
สภาพแวดล้อมชายฝั่งเสื่อมโทรม เต่าทะเลส่วนใหญ่อาศัยตามแนวชายฝั่ง (ยกเว้นเต่ามะเฟืองซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในทะเลเปิด) ดังนั้นสภาพชายฝั่งเสื่อมโทรมจากการทำการประมงที่ผิดวิธีก็ดี จากการถ่ายเทของเสียสู่ทะเลก็ดี ต่างๆ เหล่านี้ทำให้สภาพแหล่งอาหารและแหล่งอาศัยของเต่าทะเลเสียสภาพไป เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เต่าทะเลลดลง
การวางไข่ของเต่าทะเล ปี 2553
สำหรับข้อมูลระหว่างปี 2552-2553 พบการวางไข่ของเต่าทะเล 4 ชนิด ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่ามะเฟือง ในพื้นที่พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล ดังนี้
- ปี 2552 พบการวางไข่ 115 รัง
- ปี 2553 พบการวางไข่ 101 รัง
ที่มา : สถานภาพเต่าทะเลในน่านน้ำไทย
ปี 2563 เต่าทะเล "วางไข่" เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด ในปี 2563 พบการวางไข่ของ "เต่าทะเล" เพิ่มขึ้น
- ปี 2561 พบการวางไข่ 413 รัง
- ปี 2563 พบการวางไข่ 491 รัง
- ปี 2563 เต่าทะเลเกยตื้น 536 ตัว
- สาเหตุการเกยตื้น 80% เกิดจากเครื่องมือประมง อวน ใบพัดเรือ
“โสภณ ทองดี” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า โดยรวมของสัตว์ทะเลหายากของไทยมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพะยูน ซึ่งมีแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติในการเพิ่มจำนวนให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงวาฬ โลมา และเต่ามะเฟือง ซึ่งเป็นเต่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะเดียวกันจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวน้อยลง หรือนักท่องเที่ยวในประเทศที่เดินทางไปท่องเที่ยวตามจังหวัดชายทะเลน้อยลงในระยะ 2 ปีกว่า ทำให้เต่ามะเฟือง มีปริมาณเพิ่มขึ้น สมัยก่อนค่าเฉลี่ยของการเพาะฟักวางไข่ ปี 2550 มีเพียง 1.5 รังต่อปี เท่านั้น ขณะที่ปัจจุบัน เต่ามะเฟืองมีการวางไข่หลายสิบรังต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ส่องสถานการณ์ "ทะเลไทย" ทรัพยากร - สัตว์ทะเลหายาก มีอยู่เท่าไหร่
อนุรักษ์ระบบนิเวศและสัตว์หายาก
สำหรับในทะเลและชายฝั่งของไทย ไม่เพียงแค่เต่าเท่านั้น ยังมีสัตว์ทะเลหายากที่มีความสำคัญอื่นๆ อีก โดยในปี 2563 พบว่า
- พะยูน 261 ตัว เกยตื้น 17 ตัว (80% เกิดจากเครื่องมือประมง อวน ใบพัดเรือ)
- วาฬและโลมา 3,025 ตัว เกยตื้น 248 ตัว (65% เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ)
สัตว์ทะเลหายากที่ได้ขึ้นทะเบียนตามบัญชีสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ได้แก่ วาฬโอมูระ วาฬบรูด้า ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง และพะยูน
ทั้งนี้ การดำเนินงานด้านอนุรักษ์นิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลหายาก ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีดังนี้
การช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก
- ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก สิรีธาร จ.ภูเก็ต
- ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง
แหล่งเรียนรู้สัตว์ทะเลและระบบนิเวศทางทะเล
- พิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตในทะเลไทยเฉลิมพระเกีรยติ
- รวมถึงมีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งเอกชน และประชาชนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ