บริหารจัดการน้ำ ลดผลกระทบห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทย

บริหารจัดการน้ำ ลดผลกระทบห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทย

นายกฯ เปิดงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ ย้ำการบริหารจัดการน้ำสำคัญ ลดปัญหาอุทกภัย ฝากทุกภาคส่วนร่วมดูแล ขณะที่ดร.คุณหญิงกัลยา ระบุน้ำคือชีวิต บริหารจัดการน้ำได้ดีช่วยลดผลกระทบห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทย เปิดหลักสูตรชลกร สร้างความรู้การเกษตรทันสมัย

วันนี้ (16 มิ.ย.2565) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติ ครั้งแรกในประเทศไทย “Water and Waste Management International Conference & Expo Thailand : Water for Life” ในโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ  ตอนหนึ่งว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการหารือแลกเปลี่ยน และร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยต้องพัฒนาต่อไป ซึ่งไทยมีโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลได้มีการดำเนินการสืบสานโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

“จากการประชุมครั้งนี้ คาดว่าจะมีแนวการดำเนินการใหม่ๆ มากขึ้น อันนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำ และการทำให้ประชาชนมีความสุข  เพราะน้ำมีความสำคัญอย่างมาก เราได้กำหนดบทบาทน้ำ ทั้งเพื่อการบริโภคอุปโภค น้ำเพื่ออุตสาหกรรม น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

การใช้ชีวิตของไทยอาจจะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ การประชุมนานาชาติแลกเปลี่ยนกัน เกิดความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการเกี่ยวกับน้ำให้ได้มากขึ้น  ส่วนหลักสูตรชลกร ขอให้มีการติดตามนักศึกษา เมื่อจบแล้วจะไปเรียนต่อ หรือทำงานอะไร เพื่อเป็นการเก็บข้อมูล ให้ได้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน

 

  • บริหารจัดการน้ำ ลดปัญหาอุทกภัยทางน้ำ

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งให้มีปัญหาเรื่องน้ำจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ล้วนต้องใช้น้ำ หากทำให้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และลดปัญหา ความเสียหายจากอุทกภัยเกี่ยวกับน้ำ

นอกจากการบริหารจัดการน้ำแล้ว ต้องมีการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้มีการให้ความสำคัญบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ให้เกิดความยั่งยืน พอเพียงแก่คนไทย

อยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทรัพยากรน้ำ ซึ่งแต่ละปี รัฐบาลมีแผนในการดำเนินงานตลอด แต่จะไม่เห็นผลเป็นสำเร็จหากทุกคนไม่ช่วยกัน รวมถึงในส่วนของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจต้องมีการจัดการน้ำ ไม่ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง อีกทั้งจะมีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับน้ำ  สร้างนวัตกรรม และแหล่งบริการให้แก่ประชาชนได้รู้และเข้าใจ ใช้ประโยชน์จากน้ำโดยเป็นมิตรกับคนและสิ่งแวดล้อมพล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ารัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้แผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศปี 2561-2580  ซึ่งได้มีการดำเนินงานมาตลอด จนเป็นผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์รูปธรรมอย่างชัดเจน โดยงานสัมมนาการบริหารจัดการน้ำนานาชาติครั้งนี้ ถือเป็นบทบาทสำคัญในเวทีโลกของประเทศไทย

 

 

  • น้ำคือชีวิต ช่วยจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหาร

ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่าได้มีโอกาสถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเวลาหลาย 10 ปี  ทำให้ซึมซับพระราชปณิธานในการบริหารจัดการน้ำโดนชุมชนตามแนวพระราชดำริ ด้วยหลักการ 3 ประการ  คือ ประหยัด ให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุด ต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ

เมื่อน้ำ คือชีวิต และน้ำเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าไม่บริหารจัดการน้ำฝนนอกเขตชลประทานอย่างเป็นระบบ  จะทำให้เกิดปัญหาตามมาและเกิดผลกระทบหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และภาวะสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยประสบปัญหาห่วงโซอุปทานด้านอาหาร ผู้คนดำรงชีวิตด้วยความยากลำบากมากขึ้น ประเทศต่างๆ จึงตระหนักถึงสถานการณ์เหล่านี้ รวมถึงประเทศไทยดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

  • “หลักสูตรชลกร” พัฒนาเกษตรสมัยใหม่จัดการน้ำ

รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่าไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม และเป็นประเทศ 1 ใน 6 ของโลกที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก ด้วยจิตสำนึกและสนองพระราชปณิธาน โดยได้มีการจัดทำหลักสูตรชลกร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกิดจากความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร เป็นการจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรขั้นสูง (ปวส) ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย เพื่อให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการน้ำฝนนอกเขตชลประทาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว มีการปฎิรูปองค์ความรู้ตามศาสตร์พระราชามาผสมผสานกับองค์ความรู้สากล  เป็นการทำให้เห็นถึงความสำคัญในการเรียนการสอนเกษตร เพื่อช่วยประเทศอีกทางหนึ่ง ให้ผู้เรียนมีรายได้มากขึ้น

โดยการเรียนหลักสูตรชลกร จะใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมนำมาปรับใช้ร่วมกับอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย ฉะนั้น ต่อจากนี้ไป การเรียนทางการเกษตร จะเป็นเกษตรสมัยใหม่ ให้นักเรียนจบออกมาเป็นเกษตรกรทันสมัย มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และเมื่อมีน้ำแล้วทุกอย่างก็จะทำให้ทุกคนพึ่งพิงตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อเกษตรกรมีน้ำ มีอาหารแล้วก็จะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ กล่าวได้ว่าการเกษตรจะนำไปสู่การก้าวข้ามวิกฤตในทุกรูปแบบได้  การจัดสัมมนาครั้งนี้ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จะสร้างคุณูปการสังคมไทยและสังคมโลก โดยเฉพาะเรื่องน้ำ การจัดการน้ำเสีย และทำให้ทุกตนตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ ที่ถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

  • 12 วิทยาลัยเกษตรฯเปิดสอนหลักสูตรชลกร

ทั้งนี้ สำหรับหลักสูตรชลกร นั้น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้เกิดเป็น "หลักสูตรชลกร" ครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้บรรจุเข้าสู่หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรขั้นสูง (ปวส) ซึ่งได้เปิดสอนเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว ในปีการศึกษา 2565 ใน 12 วิทยาลัยฯ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี

 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย โดยได้รับความสนใจจากนักเรียนสมัครเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับปีการศึกษาที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนฯ ได้มีการขับเคลื่อนโครงการมาจนถึงปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 3 ซึ่งถือเป็นปีที่จะยกระดับองค์ความรู้จากไทยสู่สากล โดยได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม เอกชน และสถาบันการศึกษา จัดงาน Water And Waste Management International Conference & Expo Thailand : Water for Life ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดงานสัมมนาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำระดับโลกกว่า 30 คนจากหลากหลายประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนและให้องค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยงานจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-17 มิ.ย.2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์  กรุงเทพมหานคร

ในงานดังกล่าวนอกจากจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำมาให้ความรู้แล้วยังมีเจ้าหน้าที่จากทางภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม นักวิชาการ และนักวิจัยอื่นๆ จากหลายประเทศเข้าร่วมงาน ซึ่งนอกจากนักเรียนและอาจารย์หลักสูตรชลกรจะได้รับองค์ความรู้ในระดับสากลแล้ว จะก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการต่อยอดองค์ความรู้และความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งการวางแผน การบริหารจัดการและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการบริหารจัดการน้ำร่วมกันต่อไป