"กัลฟ์" หนุน "ขยะทะเล" เป็นศูนย์ ติดทุ่นกักขยะนำร่อง 5 ปากแม่น้ำ
"กัลฟ์" และพันธมิตร 5 บริษัท ติดตั้งทุ่นกักขยะ (Boom) จัดการ "ขยะทะเล" ในประเทศไทย ให้เป็นศูนย์ นำร่อง 5 ปากแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรทั้งขยะบนบกและขยะทะเล โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอย และขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติในการร่วมกันบริหารจัดการขยะในประเทศและมีแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ.2561 - 2573)
วันทะเลโลก ประจำปี 2565 ตรงกับวันที่ วันที่ 8 มิ.ย.2565 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF และพันธมิตร 5 บริษัท ได้ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กับสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล ติดตั้งทุ่นกักขยะ (Boom)ร่วมกันจัดการขยะทะเลในประเทศไทยให้เป็นศูนย์นำร่อง 5 ปากแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล ณ สวนสาธารณะลานโลมา ชายหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต
นวัตกรรมแก้ปัญหา "ขยะทะเล"
"ยุพาพิน วังวิวัฒน์" กรรมการ กรรมการด้านความยั่งยืน กำกับดูแลกิจการและบริหารความเสี่ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า GULFให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนต่อโลกในทุกมิติ และดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและทิศทางพลังงานโลกที่มีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้นจึงเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆที่มุ่งหวังให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น
"โครงการดังกล่าวเป็นการผนึกกำลังร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนเพื่อนำเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคส่วนมาร่วมมือกันสร้างสรรค์นวัตกรรมจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและสามารถแก้ปัญหาขยะทะเลได้อย่างยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาขยะทะเล"
ซึ่งภายหลังจากที่หน่วยงานได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือแก้ไขปัญหาขยะทะเลฯ แล้วมีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
โดยทั้ง 6 บริษัท จะร่วมมือกับหน่วยงานใน MOUในการดำเนินโครงการติดตั้งทุ่นกักขยะ (Boom)และการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องในบริเวณปากแม่น้ำสายหลักบริเวณอ่าวไทยตอนบนเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
รวมพลังฟื้นฟู กอบกู้มหาสมุทร
"วราวุธ ศิลปอาชา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดการขยะในประเทศไทยให้เป็นศูนย์ภายใต้แนวคิด “รวมพลังฟื้นฟู กอบกู้มหาสมุทร”แก้ไขปัญหาขยะทะเลลดปริมาณขยะในแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเลในบริเวณปากแม่น้ำโดยเร็ว ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมกันผลักดันการดำเนินงานตามโครงการฯ ให้บรรลุผลสำเร็จโดยมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ เป็นต้นไป
"จตุพร บุรุษพัฒน์" ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะได้นำนวัตกรรมอย่างทุ่นกักขยะ (Boom)เข้ามามีบทบาทในการจัดการแก้ไขปัญหาขยะในแหล่งน้ำโดยนำร่องบริเวณพื้นที่ 5 ปากแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ ปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำเจ้าพระยาปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง และปากแม่น้ำบางตะบูน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเลปรับเปลี่ยนระบบการจัดการขยะทะเลจากปลายทางไปสู่การจัดการขยะจากต้นทางและมุ่งให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเชิงรุกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้ดำเนินการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาด้านขยะให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ ให้ข้อเสนอแนะ และสนับสนุนข้อมูลเทคนิควิชาการ องค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งประสานความร่วมมือและส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม เครือข่ายภาพประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรู้ความเข้าใจและสร้างกระแสให้สังคมมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการขจัดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืนสืบไป
ต้นแบบสานพลังเล็กๆ จัดการปัญหาขยะทะเล
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรจะต้องร่วมกันดูแลรักษาให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในรูปแบบใหม่ ตามหลักการของการเป็นภาครัฐที่เปิดกว้าง (Open Government) โดยภาคเอกชน ชุมชน และประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาขยะทะเลบริเวณปากแม่น้ำ ตลอดห่วงโซ่ของการบริหารจัดการขยะ
ซึ่งจะมีประสิทธิภาพกว่าการที่ภาครัฐดำเนินการเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ภาคเอกชนจะนำนวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญมาช่วยบริหารจัดการขยะทะเลอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นการมีส่วน ร่วมที่เข้มข้นกว่าการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ( Corporate SocialResponsibility: CSR) ด้วยการบริจาคเงินหรือทำกิจกรรมครั้งเดียวจบ
“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กล่าวว่า ก.ล.ต. มุ่งมั่นพัฒนาระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้ตลาดทุนยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจคํานึงถึงการประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการรักษาสภาพแวดล้อมในสังคมซึ่งปัญหาขยะทะเลในปัจจุบันนับเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและพลังขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วน ความร่วมมือครั้งนี้ จึงถือเป็นการผนึกกําลังระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมในการร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ อันเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน
“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า สิ่งสําคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศไทย คือการสานพลังของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมกันแก้ไขปัญหาสําคัญต่าง ๆ ของประเทศโดยในโครงการนี้ สมาคมบริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมรณรงค์ชักชวนบริษัทต่างๆในภาคเอกชนให้มาช่วยทํางานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ ในการดูแลป้องกันขยะในแม่น้ำไม่ให้ไหลลงไปสู่ทะเลด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมในการจัดการกับขยะ
โดยเริ่มต้นจาก 5 ปากแม่น้ำสําคัญ และจะได้ขยายผลไปยังปากแม่น้ำและลําคลองสําคัญอื่น ๆ ซึ่งการประสานงานกันในลักษณะนี้ จะช่วยนําพลังเล็ก ๆ แต่ละคนมาสานเป็นแรงขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงปัญหาหลักของประเทศ และจะเป็นต้นแบบให้กับโครงการอื่นๆการผนึกกําลังระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่าย ถือเป็นการบูรณาการการทํางานร่วมกันและนํานวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาขยะทะเล
ปล่อยลูกเต่าตนุสู่ทะเล ลดความเสี่ยงสูญพันธุ์
วันที่ 16 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันเต่าทะเลโลก” (World Sea Turtle Day) โดยทั่วโลกพบอยู่ 7 ชนิดด้วยกัน คือ เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea)เต่าตนุ (Chelonia mydas)เต่าหลังแบน (Natator depressus)เต่ากระ (Eretmochelys imbricata)เต่าหัวฆ้อน (Caretta caretta)เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea)เต่าหญ้าแคมป์ (Lepidochelys kempi)
ประเทศไทยพบเต่าทะเล 5 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อน ปัจจุบัน“เต่ามะเฟือง”ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน ส่วนเต่าทะเลอีก 4 ชนิด อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562
ส่วนเต่าตนุอยู่ในความเสี่ยงสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN - Endangered species) โดยเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ได้ปล่อยลูกเต่าตนุลงทะเล 75 ตัว หลังจากที่แม่เต่าได้ขึ้นมาวางไข่ไว้เมื่อวันที่ 1 ธ,ค, 2564 ทุกตัวได้ทำการติดแถบโลหะ (Inconeal Tags) และฝังไมโครชิพ (Microchip) เพื่อเป็นการระบุตัวตน และคอยติดตาม
ล่าสุดวันที่ 15 มิ.ย.เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ได้พบร่องรอยไข่ของเต่าตนุบริเวณชายหาดหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.1 (เกาะเมียง) จำนวน 1 รอยรวมจำนวน 60 ฟอง จึงเคลื่อนย้ายไปไว้ในที่ปลอดภัยเพื่อรอการฟักตัว ซึ่งการวางไข่ของเต่าตนุจะอยู่ในช่วงเดือนพ.ย.ถึงก.พ.ของทุกปี
สถิติการวางไข่ของเต่าทะเลลดลงมากกว่า 5 เท่า จากจำนวนมากกว่า 2,500 รังต่อปี เหลือเพียงปีละ 300-400 รังต่อปี ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมาและลดลงต่อเนื่อง จนมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า เนื่องจากอัตราการรอดของลูกเต่าทะเลเองในธรรมชาติต่ำมาก ใช้ระยะเวลานานนับ 10 กว่าปีที่จะถึงวัยเจริญพันธุ์