กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องเกิดขึ้นจริง ลดเหลื่อมล้ำ สร้างเศรษฐกิจฐานราก

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องเกิดขึ้นจริง  ลดเหลื่อมล้ำ สร้างเศรษฐกิจฐานราก

วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข.จัดเวทีระดมสมอง แนะแนวทางนโยบายสาธารณะให้อปท. หวังยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ นายกสภามข. ระบุอปท.ขาดงบ ขาดอำนาจ สร้างเศรษฐกิจฐานรากไม่ได้ แนะส่วนกลางต้องกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง

วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดเวทีระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิด ภายใต้โครงการ ‘KKU Public Policy Advocacy Forum 2022’ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเวทีดังกล่าวถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ

  • ม.ขอนแก่น เปิดเวทียกระดับอปท.แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า พันธกิจสำคัญของมข. คือ การสร้างและเผยแพร่ รวมถึงการส่งเสริมให้มีการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาและทำวิจัย นำไปต่อยอด  และเสนอผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการบริหารด้านนโยบายสาธารณะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องเกิดขึ้นจริง  ลดเหลื่อมล้ำ สร้างเศรษฐกิจฐานราก

 ทั้งนี้ มข.ได้มีการทำงานศึกษาวิจัย ร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และเมือง อย่าง การพัฒนาจ.ขอนแก่น เป็นเมืองอัจฉริยะ และมข.ได้ขับเคลื่อนตามกรอบแนวทางการพัฒนาเมืองโดยมีกฎบัตรของเมืองต่างๆ รวมทั้งได้นำหลักวิชาการและองค์ความรู้ด้านวิชาการนำมาถ่ายทอดและต่อยอดต่อไป

รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข.กล่าวว่า ระยะเวลาที่ผ่านมา วิทยาลัยฯ ได้ทำการศึกษาและวิจัยการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

จากการวิจัยพบว่า ช่วง 60 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยใช้ทฤษฎี ‘น้ำหยดรินจากที่สูง’ มาเป็นกรอบในการดำเนินการ โดยให้กลุ่มที่มีความพร้อมหรือมีความมั่งคั่งเป็นหลักในการขับเคลื่อน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จ จึงทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนสถานภาพจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ มาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 

 

 

  •  กับดักท้องถิ่นไม่พัฒนา กระจายอำนาจไม่ได้สู่อปท.

ปัจจุบัน นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์มหภาค มีความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจของไทยอาจไม่เพียงแต่จะย่ำอยู่กับที่ แต่อาจถดถอย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยต้องกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนถิ่นมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทย เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองใหญ่ อย่างกทม.  ซึ่งมีความหรูหราไม่แพ้ใครในโลก แต่ก็มีความเสื่อมโทรมแอบซ้อนอยู่ทั่วไปเช่นเดียวกัน แต่ในส่วนของระดับชนบทรอบเมือง จังหวัดต่างๆ ของไทย ต้องยอมรับว่าไม่ได้ใหญ่โต  และมีปัญหาอย่างมาก เพราะการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นยังไม่มากพอ

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องเกิดขึ้นจริง  ลดเหลื่อมล้ำ สร้างเศรษฐกิจฐานราก

จีดีพี ของไทยส่วนใหญ่มาจากกทม.และปริมณฑล ซึ่งในทางของวิชาเศรษฐศาสตร์ กลไกที่จะทำให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ผลิตทำไม ผลิตเพื่อใคร และผลิตอย่างไร หลายเรื่องในชนบท นอกเมืองใหญ่ต้องส่งให้ส่วนกลางเพื่อให้กระทรวงเป็นผู้ตัดสิน ทำไมไม่ให้ท้องถิ่นตัดสิน ทั้งที่ผู้ว่าราชการเป็นผู้ตัดสินใจได้ แต่ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสาน ดังนั้น การกระจายอำนาจของไทยไม่ได้ไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง” ดร.ณรงค์ ชัย กล่าว

ขณะที่ในส่วนของงบประมาณของอปท. ทั้งที่มาจากการหารายได้  และรับการจัดแบ่งโดยรัฐ  แต่งบประมาณปี 2562-2565  อปท.ได้รับงบประมาณเพียงอัตราส่วน 25%  หรือบางอปท.ได้ 30% ฉะนั้น สัดส่วนของงบประมาณอปท. และส่วนกลางของไทยจะเป็น 30:70 แตกต่างจากญี่ปุ่นมาก ของญี่ปุ่น อปท.จะได้ 70% ส่วนกลางจะได้ 30% ทำให้เมืองทุกเมืองของญี่ปุ่น ไปที่ไหนก็ดูดีไปหมด

 

 

 

  • ลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างเศรษฐกิจฐานรากลงทุนกับท้องถิ่น

ดร.ณรงค์ชัย กล่าวต่อว่า ตอนนี้ควรจะมีการกระจายอำนาจไปให้อปท.อย่างแท้จริง และในทางปฎิบัติควรพร้อมที่จะพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งตอนนี้มีอปท.เพียงบางแห่งเท่านั้นที่พร้อม แต่ส่วนใหญ่ไม่พร้อมทั้งการจัดการท้องถิ่น  คนไม่พร้อม ศักยภาพขององค์กรไม่พอ และไม่มีงบประมาณ ส่งผลให้หลายแห่งเห็นการฉ้อโกงในท้องถิ่น

“ที่ผ่านมา ส่วนกลางได้พัฒนาเสริมรูปแบบการพัฒนาท้องถิ่น โดยสร้างระเบียงเศรษฐกิจ และมีการประกาศใช้อย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นแผนงานที่ดี แต่ยังไม่เพียงพอในการพัฒนาขนบท เนื่องจากยังไม่ทั่วถึง เพราะสิ่งที่จะคุ้มที่สุด คือ ต้องทำให้การกระจายอำนาจเป็นจริง”ดร.ณรงค์ชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม  การลงทุนท้องถิ่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ยกระดับขึ้น ประเด็นที่สำคัญ คือ การลงทุนโดยอปท.ด้วยตัวเอง การกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้จริง ต้องมีการลดอำนาจปกครองของส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง และต้องมีการตรวจสอบส่วนภูมิภาคเป็นสำคัญ เกณฑ์การอนุญาตอนุมัติต้องให้ท้องถิ่นมากขึ้น  และสร้างความร่วมมือกับการพัฒนาองค์กรท้องถิ่นในพื้นที่ ต้องใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต้องเกิดขึ้นจริง  ลดเหลื่อมล้ำ สร้างเศรษฐกิจฐานราก

 ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางเป็นผู้มีหน้าที่หลักในการตัดสินใจ และกำหนดรูปแบบการบริการสาธารณะ โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเพียงผู้จัดทำหรือให้บริการสาธารณะ และมีอำนาจตัดสินใจในการจัดทำการบริการสาธารณะเพียงบางเรื่องเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากได้อย่างแท้จริง หากไม่ลงมือปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารและพัฒนาอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้

 ทั้งนี้   ภายในงาน มีนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านนโยบายสาธารณะ มาร่วมนำเสนอผลการวิจัย รวมถึงประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ อาทิ บทบาทของท้องถิ่นไทยในอนาคต โดย โดย ศ.ดร.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ตัวแบบที่น่าจะเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากของประเทศไทย โดย Prof. Bruce Gilley จาก Portland State University สหรัฐอเมริกา

ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจเริ่มต้นจากท้องถิ่น ซึ่งเป็นประสบการณ์จากต่างประเทศ โดย Dr. Andrey Timofeev จาก Georgia State University สหรัฐอเมริกา หรือ ตัวแบบทางนโยบายที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยและการขับเคลื่อนข้อเสนอ สู่การเปิดหน้าต่างนโยบาย ในระดับสถาบันการเมือง โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคลังสาธารณะ และ ผศ.ดร.กฤชวรรธน์ โล่วัชรินทร์ และ บทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการร่วมขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติจริง โดย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การระดมสมองครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากพรรคการเมือง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงนักวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนและกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงต่อไป