กรณี "ไฟไหม้สำเพ็ง" ชวนรู้ทำไม "หม้อแปลงไฟฟ้า" มีน้ำมัน 1,000 ลิตร?

กรณี "ไฟไหม้สำเพ็ง" ชวนรู้ทำไม "หม้อแปลงไฟฟ้า" มีน้ำมัน 1,000 ลิตร?

หลังเหตุ "ไฟไหม้สำเพ็ง" นำไปสู่การเร่งตรวจสอบ "หม้อแปลงไฟฟ้า" 400 ลูกทั่วกรุงเทพฯ โดยหนึ่งในสาเหตุ "หม้อแปลงระเบิด" อาจจะมาจากน้ำมันในหม้อแปลงร้อนจัดจนเดือด ชวนหาคำตอบว่าน้ำมันในหม้อแปลงคืออะไร? เป็นปัจจัยให้เกิดไฟไหม้หรือไม่?

จากกรณี "ไฟไหม้สำเพ็ง" ครั้งล่าสุด ที่มีต้นเพลิงมาจาก "หม้อแปลงระเบิด" มีประเด็นที่น่าสนใจและอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิด "ไฟไหม้" ขึ้นได้ นั่นคือ หม้อแปลงไฟฟ้าจากเคสดังกล่าวเป็นหม้อแปลงไฟฟ้ามีระบบที่ใช้น้ำมันเป็นตัวระบายความร้อน แต่อาจเกิดสิ่งผิดปกติจนทำให้น้ำมันเกิดความร้อนสูงจนระเบิดออกมา

เรื่องนี้มีรายละเอียดอย่างไร? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาเจาะลึกเรื่องนี้ให้มากขึ้น

โดยล่าสุดวันนี้ (28 มิ.ย.65) นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่า กฟน. ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า จากหลักฐานเบื้องต้นจากคลิปบนสื่อออนไลน์พบว่า กรณีไฟไหม้สำเพ็งครั้งนี้ ต้นเหตุน่าจะเป็นที่ตัว "หม้อแปลงไฟฟ้า" แต่ทั้งนี้ขอให้กองพิสูจน์หลักฐานได้พิสูจน์และสรุปให้ชัดเจน ทั้งนี้มีข้อสรุปที่น่าสนใจ ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

1. "หม้อแปลงไฟฟ้า" เคสนี้เป็นระบบใช้น้ำมัน

สาเหตุเบื้องต้นที่คาดว่าทำให้หม้อแปลงระเบิดนั้น รองผู้ว่าฯ กฟน. ระบุว่า หม้อแปลงไฟฟ้ามีระบบที่ใช้น้ำมันเป็นตัวระบายความร้อน เมื่อขดลวดที่อยู่ในหม้อแปลงใช้งานและมีความร้อนเกิดขึ้น ก็จะมีการทำงานในการระบายความร้อนออก

ในเหตุการณ์ครั้งนี้จะเห็นจากคลิปว่ามีกลุ่มควันลอยขึ้นมาในบริเวณหม้อแปลง ซึ่งจากการสันนิษฐานเบื้องต้นในหม้อแปลงน่าจะมีความร้อนสูงเกิดขึ้นทำให้น้ำมันหม้อแปลงร้อนมากแต่ในจังหวะนั้นยังไม่ถึงจุดลุกไฟ ต่อมาเมื่อความร้อนสะสมจนน้ำมันเดือด จึงทำให้ถึงจุดไฟลุกและระเบิดออกมา

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หม้อแปลงเดือด สันนิษฐานว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้หม้อแปลงเกิดความร้อนขึ้นมา อาจมีการลัดวงจรหรือบางอย่างซึ่งต้องรอการพิสูจน์ 

2. สรุปหม้อแปลงในกรุงเทพฯ ที่ต้องตรวจสอบมีกี่แห่ง?

จากข้อมูลของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ออกมาเปิดเผยว่าในกรุงเทพฯ ยังมีอีก 400 กว่าหม้อแปลงที่จะต้องไปตรวจสอบนั้น รองผู้ว่าฯ กฟน. ระบุว่า เฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นใน มีหม้อแปลง 154 ลูกที่เป็นแบบเดียวกันที่เกิดระเบิด ส่วนที่อยู่ในความดูแลของ กฟน. ทั้งนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ มีอยู่รวมกว่า 60,000 ลูก

3. วิธีตรวจสอบหม้อแปลงไฟฟ้า ทำอย่างไร?

นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ กฟน. ยืนยันว่าจะให้การดูแลผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อย่างดี ทั้งการตรวจวัดน้ำมันหม้อแปลง การกรองน้ำมันหม้อแปลง และการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำเข้าสู่ระบบที่จะคอยเตือนถึงรอบบำรุงรักษาและรอบการเปลี่ยนใหม่ จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจว่าอุปกรณ์ของการไฟฟ้านครหลวงได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องตามมาตรฐาน

4. น้ำมันในหม้อแปลง คือ น้ำมันหล่อเย็น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งรายการที่ต้องตรวจสอบสภาพ "หม้อแปลง" คือ ลักษณะการเกิดระเบิด โดยวิศวกรไฟฟ้าในทีมของ กฟน. ระบุว่า ลักษณะระเบิดแบบนี้ต้องเกิดระเบิดจากข้างในดันออกมาอย่างแรง ซึ่งสาเหตุความเป็นไปได้คือ เกิดจากน้ำมันในหม้อแปลงเดือด ซึ่งหม้อแปลงไฟฟ้าทุกหม้อจะต้องมีน้ำมันชนิดหนึ่งอยู่ข้างใน โดยน้ำมันชนิดดังกล่าวทำ 2 หน้าที่ คือ

  • ทำหน้าที่เป็นน้ำมันหล่อเย็นระบายความร้อน
  • ทำหน้าที่เป็นฉนวนไฟฟ้า

ซึ่งในแต่ละหม้อจะมีการกรอกน้ำมัน 500 ลิตร ถึง 1,000 ลิตร ขึ้นอยู่กับขนาดของหม้อแปลง

5. เหตุไฟไหม้ลักษณะนี้ อย่าใช้น้ำดับไฟ!

สำหรับน้ำมันในหม้อแปลงตัวดังกล่าว สามารถติดไฟได้และมีจุดเดือดต่ำ ดังนั้นควันที่เห็นลอยออกมาจากตัวหม้อแปลง จึงเกิดจากหม้อแปลงกำลังเดือด ถึงจุดที่ระเบิดก็จะทำให้น้ำมันรั่วออกมา และถ้าหากไปเจอประกายไฟสามารถลุกไหม้ทันที 

หากเจอไฟไหม้หม้อแปลงอย่าดับด้วยน้ำ เพราะจะยิ่งทำให้กระจายน้ำมันออกไปไกลขึ้นและจะทำให้วงของการไหม้ของไฟกว้างขึ้น ติดไฟเร็วขึ้นจึงต้องดับด้วยสารเคมีเท่านั้น