17 จังหวัดคัดสรร "เมนูอาหารเป็นยา"ชูเอกลักษณ์วัตถุดิบท้องถิ่น
ปี 2565 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) Kick off ขับเคลื่อนการพัฒนาสถานที่จำหน่ายอาหาร “Clean Food Good Taste Plus” ไม่ใช่แค่มีสุขลักษณะที่ดี ยังต้องเพิ่มคุณค่าด้านโภชนาการ สามารถต่อยอดการพัฒนาให้มีเมนู “อาหารเป็นยา” นำร่อง 17 จังหวัด
สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.) กล่าวในการเป็นประธานพิธีประกาศนโยบาย (Kick off) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสถานที่จำหน่ายอาหาร Clean Food Good Taste Plus และอาหารเป็นยา ที่ ไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร ว่า ในยุคสมัยใหม่ผู้บริโภครุ่นใหม่นิยมดูข้อมูลโภชนาการและส่วนประกอบของอาหาร ไม่ใช่รับประทานเพื่อความอร่อย ถูกปากเพียงอย่างเดียว แต่จะดูถึงคุณค่าและประโยชน์ของอาหารที่จะบริโภคด้วย ซึ่งกรมอนามัยได้ขับเคลื่อนเรื่อง “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ Clean Food Good Taste” มานานและเดินหน้าต่อไปย่อมเกิดประโยชน์สูงสุดในแง่ของสุขภาพ
กรมอนามัยมีการกำหนดมาตรการในการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร และออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาล และองค์กรบริหารส่วนตำบล ควบคุม กำกับ สถานที่จำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับมาตรการการจัดการด้านสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการ ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประสานความร่วมมือในพื้นที่พัฒนา และยกระดับร้านอาหาร ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste และ Clean Food Good Taste Plus) 2.ร้านอาหาร ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว ให้เพิ่มเมนู “อาหารเป็นยา” ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของคนไทย
เช่น น้ำพริกข่าอ่อน น้ำพริกเห็ดนางฟ้า หลนเต้าเจี้ยว ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และ 3.ส่งเสริมความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบกิจการร้านอาหาร และผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาร้านอาหารให้มีมาตรฐาน
สาธิต ระบุด้วยว่า ร้านที่มีเมนูอาหารเป็นยา จะดำเนินการในแต่ละพื้นที่ทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศโดยคัดเลือก 17 จังหวัดเพื่อกำหนดเมนูอาหารเป็นยา ซึ่งแต่ละจังหวัดมีเมนูสุขภาพอยู่แล้ว แต่จะมีการยกระดับ เป็นเมนูอาหารเป็นยาอยู่ในร้านที่ได้รับความนิยมในจังหวัดนั้น และต่อยอดไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ต้องการทานอาหารเมนูประจำจังหวัดนั้น โดยส่วนผสมอาหารเป็นสมุนไพรไทย สะท้อนถึงเอกลักษณ์จังหวัด มีคุณค่าอาหาร อร่อย และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด เชื่อว่าจะทำให้จังหวัดเพิ่มกลุ่มคนที่เน้นอาหารเป็นยาด้วยได้มากขึ้น
17 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ น่าน เชียงราย พิษณุโลก อุทัยธานี ภาคอีสาน อุดรธานี สกลนคร อำนาจเจริญ มหาสารคาม สุรินทร์ ภาคกลาง สระบุรี นครปฐม เพชรบุรี จันทบุรี ปราจีนบุรี และภาคใต้ สุราษฎร์ธานี พัทลุงและสงขลา
“ต่อไปในร้านอาหารนอกจากการแข่งขันรูปแบบที่สวยงาม รสชาติดีแล้วคือ การรักษาความสะอาดเป็นที่เชื่อมั่น ปลอดภัยเป็นเรื่องที่จะเพิ่มยอดขาย และกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งการชูเมนูอาหารเป็นยาก็จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะขยายกลุ่มลูกค้า” สาธิต กล่าว
ยกตัวอย่าง อาหารเป็นยากรณี จ.น่าน มีความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ตามเอกลักษณ์แต่ละพื้นถิ่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านอาหาร มีผักพื้นเมือง เช่น มะแขว่น มีสรรพคุณ บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ หน่อหวาย มีธาตุสังกะสี สรรพคุณดับพิษร้อน ดับพิษไข้ แก้ไอ บำรุงน้ำดี แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยให้เจริญอาหาร ลดความเครียด ไกยี เป็นสาหร่ายที่มีโปรตีนสูง มีใยอาหารและวิตามินซีสูง เป็นต้น สามารถนำมาประกอบอาหารที่หลากหลาย ซึ่งประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ อาทิ เมนูไก่มะแขว่น, แกงแค, น้ำพริกไกยี, แกงผักอะยิอะเยาะ, หลามบอน, ตำหน่อหวาย, แกงส้มเมือง
จ.น่าน ได้ดำเนินโครงการ “อาหารเป็นยา” พัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เป็นเมืองแห่งอาหารปลอดภัย ทั้งการผลิต ขนส่งและแปรรูป สร้างคุณค่าและมูลค่าจากผลผลิต และส่งเสริมความรู้อาหารพื้นบ้านร่วมกับคลินิกหมอครอบครัว ทั้งการปลูกพืชสมุนไพรเพื่อการบริโภค, รับประทานอาหารให้เป็นยาตามวิถีธรรมชาติที่เหมาะสม, ส่งเสริมการออกกำลังกาย ในการลดเสี่ยง ลดโรค, พัฒนาคุณภาพการผลิตอาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและการส่งออก, ส่งเสริมให้สถานประกอบการ ร้านอาหาร และแผงลอย รวมถึงพัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐาน Clean Food Good Taste และมีเมนูชูสุขภาพประจำร้าน เป็นต้น
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้พัฒนาและยกระดับการจัดการด้านสุขลักษณะ ภายใต้พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานที่จำหน่ายอาหาร มีสุขลักษณะที่ดี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค พร้อมส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการควบคุม กำกับ สถานที่จำหน่ายอาหารในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อพัฒนาให้ได้ระดับพื้นฐานตามมาตรฐาน “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ Clean Food Good Taste” รองรับตามกฏกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561
และยกระดับการพัฒนาสถานที่จำหน่ายอาหารสู่ระดับดีมาก หรือ Clean Food Good Taste Plus นอกจากสถานที่จำหน่ายอาหารจะมีสุขลักษณะที่ดีแล้ว ยังต้องเพิ่มคุณค่า ด้านโภชนาการ เสริมเมนูชูสุขภาพ ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน มีการสื่อสารความรู้ด้านสุขภาพแก่ผู้บริโภค และสามารถต่อยอดการพัฒนาให้มีเมนู “อาหารเป็นยา” คือ อาหารที่มีผัก ผลไม้พื้นบ้าน และสมุนไพรท้องถิ่น เป็นส่วนประกอบ ผ่านการรับรองมาตรฐาน Clean Food Good Taste หรือ Clean Food Good Taste Plus เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการบริโภคอาหารเป็นยา รวมถึงส่งเสริมให้สถานที่จำหน่ายอาหาร ปรุง ประกอบอาหารให้เป็นยาเพิ่มมากขึ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์