"โรงเรียนปลอดบุหรี่" ขับเคลื่อน 7 มาตรการลดนักสูบหน้าใหม่

"โรงเรียนปลอดบุหรี่" ขับเคลื่อน 7 มาตรการลดนักสูบหน้าใหม่

สถิติของคนไทยที่สูบบุหรี่ 70% จะเลิกไม่ได้ และ 30% ที่เลิกสูบบุหรี่ได้ต้องใช้เวลาถึง 21 ปี  ซึ่งบุหรี่ 1 มวน มีสารเคมี7,000 ชนิด และมีสารก่อมะเร็ง กว่า 70 ชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายแรง และโรคเรื้อรัง

โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน บุหรี่เป็นภัยแรงที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาสมอง การพัฒนาทางอารมณ์ และสังคม การปกป้องเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลบุหรี่ รู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน

“โรงเรียน” ถือเป็นบ้านหลังที่2 ของเด็กและเยาวชน จึงถือเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างสังคมปลอดบุหรี่  เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ (ครป.)” มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.)สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ปี 2558 จนกระทั่งปี2563 กระจายเกิดโรงเรียนปลอดบุหรี่ ใน 9 จังหวัด โดยมีพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เป็นเป้าหมายสำคัญ

ทั้งนี้ โรงเรียนที่เข้าร่วม ต้องดำเนินการ 7  มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่  ได้แก่ 1.การมีนโยบายเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ 2.การบริหารจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ 3. การจัดสภาพแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการสูบบุหรี่ 4.การสอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการจัดการเรียนการสอนทั้งในและนอกหลักสูตร 5.การมีส่วนร่วมของนักเรียน เพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดบุหรี่  6.การดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่  และ 7.การมีกิจกรรมร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน

ภายใต้การทำงานครอบคลุมรอบด้าน ทั้งการพัฒนาศักยภาพครู นักเรียน  และเชื่อมโยงกับผู้ปกครอง คนในชุมชน พร้อมจัดสื่อรณรงค์หลากหลายช่องทาง เพื่อลดนักสูบหน้าใหม่ สร้างเยาวชนไทยเท่าทันภัยบุหรี่

 

  • 7 มาตรการ โรงเรียนปลอดบุหรี่ ลดนักสูบหน้าใหม่

วันนี้ (29 มิ.ย.2565) เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้จัด เวทีเชิดชูเกียรติ  10  โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์ พื้นที่กรุงเทพฯ   โดยมี นางชุลีพร  วงษ์พิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมยาสูบของกรุงเทพมหานคร ให้มาเป็นประธานในครั้ง ซึ่งเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  มีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งดำเนินการ 7 มาตรการทุกโรงเรียนอย่างเข้มแข็ง

“โรงเรียนทุกสังกัด ได้เห็นความสำคัญในการเป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งการทำงานในกิจกรรมต่างๆ ทั้งปลอดยาเสพติด ปลอดกัญชา  ปลอดบุหรี่ ทำให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียน มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากบุหรี่ เกิดกลไกให้เด็กและเยาวชนเป็นเครือข่าย แกนนำในการรณรงค์ให้ผู้ปกครอง ชุมชนปลอดบุหรี่ร่วมด้วย” นางชุลีพร กล่าว

กทม.ได้มีการสนับสนุนและมีนโยบายให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ต้องปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมถึงปลอดกัญชาทุกรูปแบบ ตามที่ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้แถลงไว้  และคาดหวังว่าหากทุกโรงเรียนได้ดำเนินงานตาม 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่  ซึ่งเป็นมาตรการที่เข้มแข็ง และเข้มข้นที่สุดที่จะช่วยปกป้องเยาวชนจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  ป้องกันการเกิดนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่ได้

 

  • โรงเรียนปลอดบุหรี่ ด่านแรกช่วยป้องกันเด็กและเยาวชน

โรงเรียนจะเป็นด่านแรกที่จะช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ก้าวไปสู่สิ่งเสพติดชนิดอื่นได้  อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในโรงเรียน และสร้างการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และบุคลการทางการศึกษาให้หันมาร่วมมือร่วมใจ  จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียนให้เป็นรูปธรรมและเข้มข้นขึ้น นางชุลีพร  กล่าว

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่าหากเปรียบเทียบข้อมูลอัตราการสูบบุหรี่ ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปีจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2564 อัตราการสูบบุหรี่เป็นร้อยละ 6.2 ซึ่งลดลงจาก ปีพ.ศ.2560 ที่มีอัตราการสูบบุหรี่เป็นร้อยละ 9.7  ขณะที่จำนวนนักสูบหน้าใหม่เมื่อปี พ.ศ.2560   เท่ากับ 447,084 คน  ส่วนในปี พ.ศ.2564  จำนวนนักสูบหน้าใหม่ลดลงเหลือ เท่ากับ 155,813 คน ซึ่งคุณครูทุกท่านมีส่วนที่ทำให้ภาพรวมอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนเราลดลง

หากทุกโรงเรียนทั่วประเทศ กำหนดนโยบายการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทาง 7 มาตรการเพื่อสถานศึกษาปลอดบุหรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ร่วมกับการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และกิจกรรมนอกหลักสูตร เกี่ยวกับความรู้เรื่องโทษพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง

โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร  และโรงเรียนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ  สนับสนุนและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่สังคมเกี่ยวกับ 9 เหตุผลที่ประเทศไทยต้องคงมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดทั้งสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษพิษภัย อันตรายและผลกระทบของการสูบบุหรี่บุหรี่และไฟฟ้า ร่วมกับการรู้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจยาสูบ  ก็จะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชน ลดลงได้ศ.นพ.ประกิต กล่าว

  • 72.4% เด็กเรียนอยู่ในโรงเรียนจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่

รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เผยผลการสำรวจจากการวิจัย เรื่อง ผลการสำรวจโอกาสเสี่ยงในการสูบบุหรี่ของนักเรียนในภูมิภาคของประเทศไทย(Susceptibility to smoking and determinants among never-smoking high school students: A representative nationwide study in Thailand)  ที่ทำร่วมกับคณะ สนับสนุนโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)  เปิดเผยว่า การสำรวจนักเรียนระดับชั้น ม.2  จาก 12 จังหวัด ทุกภูมิภาคของไทย จำนวน 3,156 คน พบว่า มีนักเรียน 72.4% ระบุว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ ในขณะที่เหลืออีก 27.6% ระบุว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนาน ๆ ครั้ง    โดยโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ มีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่ 13.6%

ในขณะที่โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนาน ๆ ครั้งมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่ 23.9%  สรุปได้ว่า โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่าโรงเรียนที่จัดกิจกรรมแบบนาน ๆ ครั้ง เกือบ 2 เท่า  เช่นเดียวกับการได้รับข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทางโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ตที่พบว่า นักเรียนในกลุ่มที่พบเห็นข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีสัดส่วนของคนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่านักเรียนในกลุ่มที่พบเห็นข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนาน ๆ ครั้ง เกือบ 2 เท่า 

รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียนโดยเน้นกิจกรรมที่สร้างการรับรู้ถึงนักเรียนโดยตรงเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง  และการเผยแพร่ข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทางโทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต จึงช่วยป้องกันนักเรียนไม่ให้อยากทดลองสูบบุหรี่ได้จริง 

  • ขับเคลื่อน “โรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบและแอลกอฮอล์”

นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง คณะกรรมการบริหารเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เปิดเผยว่าเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งเป็นเครือข่ายของครูที่มีจิตอาสา มุ่งเน้นรณรงค์สร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ในสังคมไทย และปกป้องเยาวชนจากการสูบบุหรี่  โดยขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2548

การสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิด “โรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบและแอลกอฮอล์” ที่มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม  ซึ่งไม่เพียงเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมดแล้ว  ยังเป็นการปกป้องเยาวชนไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่อันเป็นประตูสู่ยาเสพติดที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น 

พื้นที่กรุงเทพมหานคร มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่มาโดยตลอด และเมื่อปี พ.ศ.2564 เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ได้ดำเนินงาน “โครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่ : กรุงเทพมหานคร” เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนต่าง ๆ ขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ด้วยแนวทาง 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่  โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรต้นสังกัด ได้แก่ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพื้นที่ที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครเขต 1 และ เขต 2 ส่งผลให้เกิดเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่พื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 74 โรงเรียนนางสุวิมล กล่าว

เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ได้ขับเคลื่อนโครงการจุดจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ขึ้น  โดยกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ และขับเคลื่อนการทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดยใช้ 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อป้องกัน ดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ห่างไกลจากบุหรี่อย่างเป็นระบบ

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ใน 4 สังกัดหลัก ได้แก่ 1) สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร  2) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต1 (สพม.กท.1) 3) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 (สพม.กท.2) และ 4) สังกัดสำนักงานพุทธศาสนา (โรงเรียนพระปริยัติธรรม)

โดยในการดำเนินโครงการระยะที่ 1 นี้ มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 74 โรงเรียน และมี 10 โรงเรียน  ที่ก้าวเข้าสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งโรงเรียน 10 แห่งที่ได้รับรางวัลนี้ ได้มีการพัฒนายกระดับและผ่านเกณฑ์ประเมินสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

จุดเด่นชัดด้านการพัฒนาจนเกิดนวัตกรรมเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ คือ  เกิดการขับเคลื่อนงาน กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือกระบวนการใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดย การทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างจากวิธีปฏิบัติเดิมที่เคยทำมาก่อน และเกิดการพัฒนาต่อยอดจากเดิมด้านการควบคุมยาสูบและแอลกอฮอล์ในโรงเรียน ได้แก่

สังกัดกรุงเทพมหานคร

1. โรงเรียนวัดปากบ่อ สำนักงานเขตสวนหลวง มีผลงานเด่นคือ มีนวัตกรรมเรื่องบุหรี่ที่เกิดจากการสอดแทรกในการเรียนการสอนและมีการทดลองใช้กับผู้สูบบุหรี่ ได้แก่ นวัตกรรมชาโปร่งฟ้าบอกลาบุหรี่ และคุกกี้ anti-smoking

2. โรงเรียนวัดพระเชตุพน สำนักงานเขตพระนคร มีผลงานเด่นคือ ฤๅษีดัดตนช่วยแก้อาการอยากสูบบุหรี่ สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งได้สอนให้แก่นักเรียนและได้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ และมีการสอนนวดกดจุดเลิกบุหรี่ โดยให้นักเรียนไปนวดให้ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่

3. โรงเรียนวัดสุวรรณคีรี สำนักงานเขตบางกอกน้อย มีผลงานเด่นคือ มีการสอนหลักสูตรเกราะป้องกันชีวิต ใช้สอนให้นักเรียนรู้จักการปฏิเสธหรือหน้าที่ของคำว่า “ไม่” เป็นวิธีสำคัญที่สุดวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันนักเรียนจากภัยรูปแบบต่างๆ ซึ่งบุหรี่เป็นภัยใกล้ตัวที่นักเรียนพบเจอทั้งในบ้านและชุมชน

4. โรงเรียนวัดอัมพวา สำนักงานเขตบางกอกน้อย มีผลงานเด่นคือ บรรยากาศปลอดบุหรี่ ณ โรงเรียนวัดอัมพวา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1

1. โรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม มีผลงานเด่นคือ ส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง

2. โรงเรียนทวีธาภิเศก มีผลงานเด่นคือ โครงการตาสับปะรด แจ้งเบาะแส เฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ด้วยการนำ QR แจ้งเบาะแส ไปติดในชุมชน เพื่อให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและเฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักเรียน

3. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแกนนำกลุ่ม We care ถ่ายทอดการทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

4. โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแกนนำที่สามารถจัดกิจกรรมสร้างกระแสรณรงค์ในโลกออนไลน์ แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด และสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องบุหรี่แก่น้องนักเรียนใหม่

5. โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ มีผลงานเด่นคือ การดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เลิกบุหรี่ แบบ Case Conference : ให้คำปรึกษาแก่นักเรียนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ทางระบบออนไลน์(ภายใต้สถานการณ์โควิดที่เด็กเรียนออนไลน์ 100%)

6. โรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแต่งเพลงรณรงค์ไม่สูบบุหรี่และยาเสพติด โดยมีครูเป็นพี่เลี้ยง