ศบค. เผย ป่วยโควิด "ปอดอักเสบ" ขยับขึ้น หลังผ่อนมาตรการ-ถอดหน้ากาก
ศบค. ห่วง ผู้ป่วยโควิด "ปอดอักเสบ" ขยับขึ้น จาก 2 สัปดาห์ก่อน แต่ยังเป็นไปตามคาดการณ์ หลังมีการ "ผ่อนคลายมาตรการ" แนะประชาชน โดยเฉพาะ กลุ่มเสี่ยง สูงวัย ฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิ เตรียมประชุม ศบค. ชุดใหญ่ 8 ก.ค. นี้
วันนี้ (30 มิ.ย. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ “ศบค.” กล่าวภายหลังการประชุม ศบค. ชุดเล็ก ปัจจุบัน มีการติดตามการรายงานผู้ติดเชื้อ รวมทั้งผู้ที่เข้าสู่ระบบการรักษา เนื่องจากเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน พ้นจากการเป็นโรคระบาดระดับทั่วโลก โดยในวันนี้ ประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจ PCR จำนวน 2,695 ราย และรายงานผู้เสียชีวิต 14 ราย สถานการณ์ผู้ป่วย “ปอดอักเสบ” 684 ราย สูงขึ้นจากการรายงานเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เป็นสิ่งที่ ศบค. เป็นห่วงเนื่องจากกราฟมีการขยับสูงขึ้น ขณะที่ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 292 ราย
"อย่างไรก็ตามยังเป็นไปตามการคาดการณ์ หลังจากที่มีการปลดล็อก หน้ากากอนามัย รวมถึงเปิดให้บริการสถานบันเทิงใน 31 จังหวัดต้นเดือนที่ผ่านมา ทาง กระทรวงสาธารณสุข มีการคาดการณ์สถานการณ์ว่าอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือผู้เข้ารับการรักษาในระบบการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นได้"
ตัวเลขที่ ศบค. ชุดเล็กให้ความสำคัญ คือ ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรับได้ ไม่ว่าจะเป็นอัตราครองเตียง หรือศักยภาพของบุคลากรในแต่ละพื้นที่ที่จะยังสามารถรองรับได้ ปัจจุบัน อัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 9.9% มีเฉพาะบางจังหวัดใหญ่ๆ เช่น สมุทรปราการ ที่อัตราครองเตียระดับ 2-3 เกิน 20% แต่ยังไม่เกิน 25% ที่ สธ. คาดการณ์ไว้
ในส่วนของการเข้ารับการรักษาพยาบาลของประชาชน ในส่วนของการรักษาใน รพ. สนามหรือศูนย์กักกันในชุมชน CI ซึ่งใช้ค่อนข้างเยอะก่อนหน้านี้ ปัจจุบันสัดส่วนลดลงมาก ประชาชนได้ลงทะเบียนขอรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ OPSI เมื่อตรวจ ATK พบผลบวก ติดเชื้อ ผู้ป่วยจะไปรับบริการคลินิก หรือ รพ.ใกล้บ้าน รับยาและกลับไปรักษาตัวที่บ้าน เป็นการรักษาที่ สธ. มอนิเตอร์ตัวเลขรายวัน และอาจจะทำให้ตอนนี้มีการรักษาใน รพ. สัดส่วนลดน้อยลง CI หรือ รพ.สนามก็ลดลงเป็นลำดับ
เสียชีวิตวันนี้ 43% ยังไม่ได้รับวัคซีน
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ ศบค. ชุดเล็ก ให้ความสำคัญ ในวันนี้คือ อัตราการเสียชีวิต 14 ราย พบว่า 100% ทั้งหมดเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง อายุเกิน 60 ปี และมีโรคประจำตัว ในจำนวนนี้ 6 ราย คิดเป็น 43% เป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มหนึ่ง และอีก 6 ราย ได้รับวัคซีนเข็ม 2 เกิน 3 เดือน และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น
ไทยฉีดเข็ม 3 สะสม 42.6%
จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. 2564 - 29 มิ.ย. 2565) รวม 139,752,058 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 56,977,193 ราย
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 53,161,284 ราย
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 29,613,581 ราย
ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 29 มิถุนายน 2565
ยอดฉีดทั่วประเทศ 69,913 โดส
- เข็มที่ 1 : 7,489 ราย
- เข็มที่ 2 : 13,568 ราย
- เข็มที่ 3 : 48,856 ราย
"ศบค. ชุดเล็กย้ำในวันนี้เพื่อช่วยกันกระตุ้นให้พี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้มารับวัคซีน เข็ม 1 สามารถเข้ามารับได้ โดยวานนี้มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเข็มที่ 1 ราว 7,489 ราย นับเป็นตัวเลขที่มีความคืบหน้าขอให้มากขึ้นทุกวัน"
สูงวัยฉีดเข็ม 3 สะสม 46.5%
ในส่วนของการฉีด "วัคซีนเข็มกระตุ้น" พบว่า ในกลุ่มอายุ 60 ปี ตอนนี้ได้รับเข็ม 1 จำนวน 84.5% เป็นไปตามแผน และเข็ม 2 จำนวน 80.5% และเข็มกระตุ้น เข็ม 3 ยังไม่ถึงเป้าหมาย มีจำนวนเพียง 46.5% ต้องเชิญชวนผู้สูงอายุและโรคประจำตัว ที่อาจจะรับเข็ม 2 แล้ว ต้องเข้ามารับเข็มกระตุ้น
4 จังหวัด ฉีดเข็มกระตุ้นเกิน 60%
ภาพรวมวัคซีนทั่วประเทศ ผู้ที่ได้รับเข็ม 3 ยังอยู่ที่ 42.6% วัคซีนเข็มกระตุ้น ช่วยปกป้องให้ท่านไม่มีอาการป่วยรุนแรงไม่ป่วยหนัก ไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาใน รพ. และลดอัตราการเสียชีวิต ตอนนี้เป้าหมาย 60% ที่จะให้วัคซีนเข็มกระตุ้น มีเพียง 4 จังหวัดเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เกิน 60% ได้แก่
- กทม.
- นนทบุรี
- สมุทรปราการ
- ภูเก็ต
ขอให้แต่ละจังหวัดช่วยกันรณรงค์การรับเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง
แนะคงมาตรการ แม้ถอดหน้ากากได้
สำหรับ การผ่อนคลายมาตรการ ถอดหน้ากากอนามัย ที่ สธ. ประกาศมาก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก ได้ติดตามมาตรการดังกล่าวเช่นกัน มาตรการสวมหน้ากากอนามัยมีการระบุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง สูงอายุ มีโรคประจำตัว ขอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และการผ่อนคลายเรียกได้ว่าเป็นไปโดยสมัครใจ บนพื้นฐานที่ความเสี่ยงยังคงอยู่แต่ยอมรับได้ ขอให้ประชาชน ยังคงเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด เว้นระยะห่าง ล้างมือตลอดเวลา และแม้ว่าการประกาศมาตรการสวมหน้ากากที่ผ่านคล้ายมากขึ้น
ขอให้ติดตามประกาศแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะในคำประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของแต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่างกันได้ ในพื้นที่อาจยกระดับมาตรการตามสถานการณ์ของพื้นที่ เช่น หากมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนหรือในสถานประกอบการ ให้พี่น้องประชาชน ติดตามประกาศในพื้นที่เป็นสำคัญ
เช่นเดียวกับองค์กร หน่วยงาน ผู้ให้บริการ สถานประกอบการ โรงงานหากทบทวนและต้องการให้พนักงานหรือผู้รับบริการคงมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ก็สามารถทำได้ สามารถปรับมาตรการให้เข้มงวดได้ตามพื้นที่ และประชาชนขอให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม เพราะคงไม่ใช่เฉพาะการดูแลสุขอนามัยของตัวเอง แต่เป็นการดูแลผู้ที่อาจมีความเปราะบางทางสังคม ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และถือว่านอกจากดูแลตัวเอง ยังใส่ใจผู้อื่น เราจะได้อยู่ร่วมกับโควิด ดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย
เตรียมประชุมศบค.ชุดใหญ่ 8 ก.ค. นี้
สำหรับ การประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 ก.ค. 65 พญ.อภิสมัย กล่าวว่า คาดว่าจะมีการนำเสนอมาตรการต่างๆ มากมาย รวมทั้งทบทวนมาตรการที่ประกาศออกไปแล้ว จะมีการปรับขึ้นลงอย่างไร ขอให้ประชาชนติดตาม แต่ต้องเน้นย้ำว่าจำเป็นจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเปลี่ยนผ่าน คงไม่ใช่การปรับเปลี่ยนแบบก้าวกระโดด แต่การปรับลดมาตรการขอให้ประชาชนพิจารณาตามพื้นที่เป็นหลัก และคงต้องดูในรายละเอียดที่กรมอนามัยประกาศไว้ด้วย เช่น สถานประกอบการ ต้องปฏิบัติการตามมาตรการ COVID Free setting ยังต้องกำหนดให้พนักงาน ตรวจเอทีเค หรือ ดูแลพนักงานให้ฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน การที่ร่วมมือกันทำตามมาตรการเหล่านี้ได้อย่างเข้มข้น จะนำไปสู่ สธ. สามารถผ่อนคลายมาตรการเสนอใน ศบค. ชุดใหญ่ ในวันที่ 8 ก.ค. คงจะมีการอัพเดทให้ทราบต่อไป
ยังไม่พบความรุนแรง BA.4/BA.5
สำหรับ ความกังวลของ สายพันธุ์ BA.4/BA.5 ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีการติดตามใกล้ชิดและมีการรายงานว่า ผู้ที่พบส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ พบในคนไทยบ้างแต่ยังในสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก และสายพันธุ์ที่รายงานการแพร่ระบาดปัจจุบันยังเป็นโอมิครอนเป็นส่วนใหญ่ และจากการรายงานของ สธ. การติดตามข้อมูลของ WHO และจากต่างประเทศ ยังไม่มีการรายงานความรุนแรงเทียบเท่าเดลต้า
"อย่างไรก็ตาม คงเร็วเกินไปที่จะสรุป อยากจะเน้นย้ำว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. ชุดเล็ก จะมีการติดตาม การกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในเบื้องยังไม่มีการปรับมาตรการที่แตกต่างจากการสรุปของ ศบค. ชุดใหญ่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หากมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรคงมีการนำเสนอเข้าที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ในวันที่ 8 ก.ค. นี้"