7 สูตรสารสกัด-น้ำมันกัญชาทางการแพทย์

7 สูตรสารสกัด-น้ำมันกัญชาทางการแพทย์

“กัญชาทางการแพทย์”เป็นวัตถุประสงค์การปลดล็อกพ้นยาเสพติด ส่งผลให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยได้ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย โดยจะต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ที่ผ่านการอบรมหรือหมอพื้นบ้านหรือแพทย์แผนไทย ซึ่งมีสารสกัด และน้ำมันกัญชา 7 ตัวที่มีใช้อยู่

   การใช้กัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ตามคำแนะนำของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 เดือนม.ค.2564 ระบุว่า 

กัญชารักษา 6 โรค/ภาวะ 

  1. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 
  2. โรคลมชักที่รักษายาก 
  3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 
  4. ภาวะปวดประสาท 
  5. ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย 
  6. เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย 

และพบหลักฐานเชิงประจักษ์ในการช่วยควบคุมอาการแต่ไม่ได้รักษาให้โรคหายขาดอีก 4 โรค

  • 1.โรคพาร์กินสัน 
  • 2.โรคอัลไซเมอร์ 
  • 3.โรควิตกกังวลทั่วไป 
  • 4.โรคปลอกประสาทอักเสบ

ทั้งนี้ ไม่ได้แนะนำเป็นทางเลือกแรกในการรักษ ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มีการผลิตสารสกัดน้ำมันกัญชา 4 สูตรที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วย

  1. THC 3 มิลลิกรัมต่อหยด   
  2. THC 0.5 มิลลิกรัมต่อหยด ข้อบ่งใช้ ดูแลรักษาแบบประคับประคอง (ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ปวด เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ) ใช้ตามแพทย์สั่ง
  3. CBD 4 มิลลิกรัมต่อหยด ข้อบ่งใช้ โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา ใช้ตามแพทย์สั่ง
  4. THC 1 มิลลิกรัม และ CBD 1 มิลลิกรัมต่อหยด ข้อบ่งใช้ ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ใช้ตามแพทย์สั่ง 

7 สูตรสารสกัด-น้ำมันกัญชาทางการแพทย์

ขณะที่ ภก.ปรีชา หนูทิม ผู้อำนวยการกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า  กรมมีการดำเนินเรื่องกัญชาทางการแพทย์แผนไทย โดยร่วมสนับสนุนผู้ปลูก แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ร่วมกับวิสาหกิจขนาดเล็ก สามารถปลูกได้  50 ต้น

ระยะที่ 2 ปลูกครัวเรือนละ 6 ต้น  ซึ่งทั้ง 2 ระยะไม่สามารถดำเนินการเชิงธุรกิจได้ 

ระยะที่ 3  กรมทำความร่วมมือกับวิสาหกิจรายใหญ่ ที่สามารถปลูกได้ตั้งแต่ 300- 10,000 ต้น ดำเนินการทั่วประเทศ 1,000 แห่ง  เพื่อนำผลผลิตมาใช้ทางการแพทย์ หรือนำส่วนอื่นไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

 

“หลังจากได้ผลผลิต  ผู้ปลูกจะมอบช่อดอกให้กับกรม 50 % แต่ส่วนอื่นของกัญชา ใบ กิ่ง ก้าน ราก ที่ตำรับยาบางตัวจะต้องใช้เป็นส่วนประกอบกรมก็จะซื้อมาใช้  เพื่อนำไปทำยาแจกให้กับผู้ป่วย และผลิตยากระจายไปยังหน่วยงานบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศจะเห็นได้ว่ากรมมีการดำเนินการครบวงจรตั้งแต่การปลูก ผลิต และกระจายยาไปทั่วประเทศ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการปลดล็อกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์”ภก.ปรีชากล่าว  

      อย่างไรก็ตาม การปลูกกัญชานับเป็นเรื่องใหม่ของเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน จากที่ปลูก 10,000 ต้นคาดว่าจะได้ช่อดอกราว 100 กิโลกรัม แต่ความจริงไม่ได้ตามจำนวนดังกล่าว  เนื่องจากปลูกไม่เป็น คัดเลือกสายพันธุ์ไม่เป็น แสงให้ไม่ถูกต้อง กลายเป็นต้นตัวผู้หรือต้นกะเทยทั้งหมด ทำให้ได้ผลผลิตช่อดอกน้อย 

ซึ่งตามแผนจะนำมาผลิตน้ำมันกัญชา 3 ตำรับที่มีการใช้มาก คือ

1.น้ำมันกัญชา หมอเดชา มีความเข้มข้น 2 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งช่อดอก 1 กิโลกรัมแห้ง ผลิตได้แค่ 1,000 ขวด

2.น้ำมันกัญชา ตำรับเมตตาโอสถ ที่มีความเข้มข้นมากกว่า ช่อดอก 1 กิโลกรัมแห้ง ผลิตได้  10 ขวด

3.น้ำมันกัญชาการุณย์โอสถ มีCBD เด่น

 

ปัจจุบันผลิตสำรองเฉพาะน้ำมันกัญชา หมอเดชา เพื่อกระจายไปยังรพ.ต่างๆทั่วประเทศ เพราะเมื่อแพทย์สั่งใช้แล้วสิทธิราชการ บัตรทองเบิกได้ ประชาชนได้รับฟรี จึงต้องเตรียมพร้อมไม่ให้ผู้ป่วยขาดยา ส่วนเมตตาและการุณย์ ยังผลิตใช้ได้เฉพาะที่รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานที่ยศเสและรพ.ของกรมอีก 4-5 แห่งเท่านั้น   

7 สูตรสารสกัด-น้ำมันกัญชาทางการแพทย์
      “การจะใช้สูตรไหน ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยต้องการวัตถุประสงค์ใช้เพื่ออะไร เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง หากปวดมาก จะต้องใช้สูตรเมตตาโอสถ แต่ถ้าปวดหัว ปวดไม่มาก หรือกินข้าวไม่ได้ หรือผู้สูงอายุที่ไวต่อการใช้ สามารถใช้น้ำมันเดชาที่ความเข้มข้นน้อยกว่าก็พอ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าคนไข้เป็นโรคอะไร และแพทย์เห็นสมควร บางครั้งคนไข้เป็นมะเร็งเหมือนกัน แต่อาการไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การเลือกสูตรน้ำมันกัญชาที่จะใช้ จึงขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของผู้ป่วย”ภก.ปรีชากล่าว

สำหรับส่วนอื่นๆของกัญชา กรมก็นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆด้วย  อย่างเช่น  “รากกัญชา” ที่มีสรรพคุณ บำรุงสุขภาพ แก้ปวด ลดไข้ ตามภูมิปัญญาที่มีการดองเหล้ามานาน แต่ไม่เหมาะที่จะทำแบบนั้นในเชิงธุรกิจ จึงพัฒนาเป็นบดผงและอัดเป็นแคปซูล สามารถรับประทานได้ หรือทำสารสกัดในรูปแบบผง หรือเป็นนรูปแบบเม็ดฟู่ เพื่อให้มีความหลาaกหลาย ให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้ทั้งหมด ส่วนใบก็นำไปใส่ในอาหารต่างๆ เป็นต้น
       ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลการเข้ารับบริการกัญชาทางการแพทย์ ภายใต้การวินิจฉัยและดูแลของแพทย์ได้ที่รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข