เตือน กินตับสด ไม่สุก เสี่ยงติดเชื้อ - พยาธิ - ไข้หูดับ
กรมอนามัย เตือนกินตับสดไม่สะอาด เสี่ยงติดเชื้อ และเกิดพยาธิต่างๆ หากเป็นตับหมู อาจทำให้เสี่ยงรับเชื้อแบคทีเรียได้ แนะทุกเมนูควรปรุงด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง ด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างน้อย 5 นาที ปลอดภัย ไม่เสี่ยงโรค
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอคลิปสาวรีวิวเปิบพิสดารซอยจุ๊กินตับวัวทั้งก้อน กัดกันสด ๆ นั้น เป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรเลียนแบบเพราะมีความเสี่ยงการติดเชื้อและเกิดพยาธิชนิดต่าง ๆ ได้
โดยเฉพาะหากเป็นตับหมูดิบที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุกมาก่อน หรือแบบสุก ๆ ดิบ ๆ จะทำให้เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) หรือโรคไข้หูดับ
- เมนูทุกอาหารตับ ต้องปรุงสุก
หากได้รับเชื้อชนิดนี้จะทำให้มีอาการมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายแสดงอาการไข้ร่วมกับมีผื่น อุจจาระร่วง บางรายติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มสมอง รวมถึงอาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ขอแนะนำให้เลือกกินเมนูแบบปรุงสุกปลอดภัยกว่า และไม่เสี่ยงโรคด้วย
“ขอย้ำทุกเมนูอาหารที่ปรุงด้วยตับ ทั้งตับวัว ตับหมู และตับไก่ รวมทั้งอาหารทุกอย่างที่เป็นเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยนั้น ควรผ่านการปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อนให้อาหารสุกอย่างทั่วถึงด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 นาที ไม่ควรหยิบจับด้วยมือเพราะอาจทำให้เสี่ยงปนเปื้อน เชื้อโรคจากมือที่ไม่สะอาด แนะนำให้ใช้ช้อน ส้อม หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการหยิบจับแทน เพื่อสุขอนามัยที่ดี” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- ระวังปนเปื้อนเชื้อโรค แนะสังเกตสี กลิ่น รสชาติ
นอกจากนี้ ในส่วนการทำน้ำจิ้มควรล้างพริก รากผักชี และกระเทียมให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบ เมื่อทำเสร็จแล้วหากเก็บรักษาไม่ถูกวิธี อาจทำให้ท้องร่วงได้
ดังนั้น หลังจากปรุงน้ำจิ้มเสร็จแล้วแต่ยังไม่กินทันที ให้เก็บไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 5-10 องศาเซลเซียส และควรใช้ภาชนะสะอาดใส่น้ำจิ้ม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค พร้อมทั้งให้สังเกตสี กลิ่น และรสชาติ หากพบความผิดปกติไม่ควรกิน เพราะอาจทำให้เกิดโรคท้องร่วงได้