โควิด สายพันธุ์ BA.4 / BA.5 พบแล้วกว่า 51.7% คาดครองไทยอีกไม่นาน
กรมวิทย์ฯ เผยพบ "โควิด-19" สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 แล้วกว่า 51.7% คาดอีกไม่นาน ครองส่วนใหญ่ของการติดเชื้อในไทย แต่ยังไม่พบความรุนแรงเพิ่มขึ้น แนะคงมาตรการ ฉีดเข็มกระตุ้นภูมิ เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 608 ขณะที่ สายพันธุ์ BA.2.75 ที่พบในอินเดีย สหรัฐ อังกฤษ ยังไม่พบในไทย
วันนี้ (4 ก.ค. 65) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว การเฝ้าระวัง โควิด-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 หลังจากมีการระบาดของ BA.4 / BA.5 จากการตรวจทุกสัปดาห์ พบว่า ปัจจุบัน "โอมิครอน" ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ขณะที่เดลต้าหายไปเกือบหมด เป็นโอมิครอน 100%
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตรวจสัดส่วนสายพันธุ์ย่อย โอมิครอน ระห่างวันที่ 25 มิ.ย. – 1 ก.ค. 65 จากกลุ่มตัวอย่าง 948 ราย พบว่า
- B.1.1.529 จำนวน 2 ราย
- BA.1 จำนวน 10 ราย 1.1%
- BA.2 จำนวน 447 ราย 47.3%
- BA.4 / BA.5 จำนวน 489 ราย 51.7%
กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ จาก 46 ตัวอย่าง
กว่า 78.3% เป็น BA.4 / BA.5 จำนวน 36 ราย
21.7% เป็น BA.2 จำนวน 10 ราย
กลุ่มอื่นๆ ในประเทศ จาก 900 ตัวอย่าง
- 50.3% เป็นสายพันธุ์ BA.4 / BA.5 จำนวน 453 ราย
- 48.6% เป็นสายพันธุ์ BA.2 จำนวน 437 ราย
- 1.1% เป็นสายพันธุ์ BA.1 จำนวน 10 ราย
BA.4 / BA.5 ครองสัดส่วน 51.7%
เมื่อดูรายสัปดาห์ จะเห็นว่าเริ่มตั้งแต่ 6.7% กว่าเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว และเพิ่มมาที่ 46.3% และ 51.7% จะเห็นว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน กระโดดจากสัปดาห์ที่ผ่านมา และสัปดาห์นี่ก็ค่อยๆ เพิ่ม หาเป็นแบบนี้คาดการณ์ได้ว่าอีกไม่นาน BA.4 / BA.5 ครองเป็นส่วนใหญ่ของการติดเชื้อในไทย
"โดยทยอยตรวจทุกเขตสุขภาพ ยกเว้น เขต 3, 8 และ 10 แต่เข้าใจว่าจะมีตัวอย่าง BA.4 / BA.5 เช่นกัน โดยสัดส่วนเยอะที่สุดยังเป็น กทม. เป็นหลัก"
BA.4 / BA.5 พบแล้วเกือบ 1,000 ราย
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมียังมีการถอดรหัสพันธุกรรม โดยใช้เวลารู้ผลราว 1 สัปดาห์ พบว่า ปัจจุบัน BA.4 / BA.5 มีประมาณเกือบ 1,000 ราย ในประเทศไทย แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่มีความหมาย เพราะต้องดูสัดส่วนจริงๆ มากกว่า หากสัดส่วนเยอะจากสายพันธุ์หนึ่ง แสดงว่ากำลังเบียดสายพันธุ์เก่าออกไป
เมื่อดูสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างภายในประเทศที่สุ่มตรวจสายพันธุ์ และแยกสายพันธุ์ย่อย โอมิครอน ระหว่าง 25 มิ.ย. – 1 ก.ค. 65 กลุ่มตัวอย่าง 173 ราย พบว่า
BA.4 / BA.5 ราว 35.8%
แยกเป็น
- กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 44 ราย มี BA.4 / BA.5 สัดส่วน 29.5%
- กลุ่มลักษณะอื่นๆ ที่สงสัยไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เช่น ค่า CT ต่ำกว่าปกติ หมายถึงเมื่อติดเชื้อแล้วเชื้อเยอะ จำนวน 19 ราย มี BA.4 / BA.5 สัดส่วน 36.8%
- กลุ่มที่มีอาการรุนแรง ใส่ท่อช่วยหายใจ และ/หรือ เสียชีวิตทุกราย จำนวน 11 ราย มี BA.4 / BA.5 สัดส่วน 36.4%
"ในเบื้องต้นเท่าที่มีข้อมูลวันนี้ ยังไม่ปรากฏว่า BA.4 / BA.5 มีความรุนแรง กว่า BA.1 BA.2 เดิมอย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขกลุ่มตัวอย่าง 11 ราย ต่ำเกินไป วันนี้ขอความร่วมมือ รพ. ที่มีผู้ป่วยโควิด-19 ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ส่งตัวอย่างมาตรวจเพิ่มขึ้นหากตัวอย่างมากขึ้น ข้อมูลทางสถิติก็จะแม่นยำมากขึ้น"
BA.4 / BA.5 เพิ่มต่อเนื่อง แต่ยังไม่พบข้อมูลความรุนแรง
นพ.ศุภกิจ กล่าวสรุปว่า สถานการณ์ BA.4 / BA.5 ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากสัดส่วนกว่า 51.7% แล้ว และจะค่อยๆ เบียดตัวเก่าออกไป เหมือนโอมิครอน เบียดเดลต้า หรือ BA.2 ค่อยๆ เบียด BA.1 และ BA.4 / BA.5 ก็จะค่อยๆ เบียดไป
ขณะที่ ความรุนแรง BA.4 / BA.5 ข้อมูลยังไม่มากพอ ต้องติดตามต่อไป ว่าผู้ที่อาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตมีสัดส่วน BA.4 / BA.5 ต่างจากคนติดเชื้อทั่วไปหรือไม่
"ขณะเดียวกัน มาตรการส่วนบุคคล ใส่หน้ากาก ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ฯลฯ ยังมีความจำเป็น แม้จะไม่ได้บังคับแล้ว แต่ขอให้เป็นสุขนิสัยส่วนบุคคล เชื่อว่าทุกคนมีประสบการณ์ใส่หน้ากากมา 2 ปีกว่า ช่วยให้เป็นหวัดน้อยลงหรือไม่ หากคำตอบคือ ใช่ แสดงว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ ดังนั้น อยากให้ดำเนินการอย่างเข้มข้น"
ขณะที่ การฉีด วัคซีนเข้มกระตุ้น เพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ยังมีความจำเป็นโดยเฉพาะกลุ่ม 608 และผู้ที่ได้รับเข็มสุดท้ายมานานแล้ว (เกิน 4 เดือน) เพราะเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลงและสู้กับพันธุ์ใหม่ๆ ได้ลดลง ดังนั้น ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนใหม่ ต้องฉีดเข็มกระตุ้นให้สูงขึ้น เพื่อต่อสู้กับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้
"ตอนนี้มีตัวอย่างสายพันธุ์ BA.5 อยู่ในสต็อก และอยู่ระหว่างเพาะเชื้อให้มากพอและนำมาทดสอบ กับวัคซีนที่ฉีดไปว่าตกลงสู้กันได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ข้อแนะนำขณะนี้ คนที่ได้ 2 เข็มไม่พอ ต้องฉีดเข็มกระตุ้น และฉีดเข็ม 3 นานแล้ว ให้กระตุ้นภูมิให้สูงขึ้น"
นอน รพ. เยอะขึ้น เป็นเหตุจาก BA.4 / BA.5 หรือไม่
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ขออย่าเพิ่งตกใจ เราอาจเห็นข้อมูลการนอน รพ. มากขึ้น เนื่องจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้น BA.4 / BA.5 หลบภูมิได้บ้าง และคนที่เคยเป็นแล้วก็อาจจะเป็นซ้ำได้ เมื่อแพร่เร็วขึ้น ก็อาจจะทำให้การติดง่ายขึ้นดังนั้น วันนี้อาจจะเห็นคนไป รพ. เยอะขึ้น แต่สัดส่วนต้องดูก่อนว่าเป็นสาเหตุจาก BA.4 / BA.5 หรือไม่ หรือมาจากการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อ เหมือนตอนที่โอมิครอนมาใหม่ๆ คนติดเชื้อเยอะ ก็มีคนอาการหนักมากขึ้น
ขณะที่ สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นนั้น หากเชื้อไม่รุนแรงแต่ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวนคนคนไข้หนักก็จะเพิ่มขึ้นเป็นตรรกะพื้นฐาน วันนี้เราพยายามพิสูจน์ว่า BA.4 / BA.5 ที่อาจจะแพร่เร็วขึ้น ตกลงทำให้อาการหนักด้วยหรือไม่ และมาตรการอาจจะต้องเพิ่มเติม
"วันนี้ต้องพิสูจน์ก่อน ในเบื้องต้นยังไม่เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างที่อาการหนัก 11 ราย ไม่ได้มีสัดส่วน BA.4 / BA.5 แตกต่างไปจากคนทั่วไป ดังนั้น ต้องพิสูจน์อีกระยะ เพื่อให้ได้ข้อมูลชัดว่า นอกจากติดเชื้อเพิ่มขึ้น ตัวมันเองยังทำให้เกิดความรุนแรงด้วยหรือไม่"
ทดสอบภูมิคุ้มกัน BA.4 / BA.5
ด้าน นพ.บัลลังค์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวเสริมว่า ในการทดสอบภูมิคุ้มกัน BA.5 ตอนนี้มีการเพาะเชื้อ BA.5 เรียบร้อย มีความแข็งแรงพอ และขณะนี้ ได้ทำการทดสอบไปแล้ว 21 ตัวอย่าง แยกเป็น
- กลุ่มที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และ แอสตร้าเซ็นเนก้าเป็นเข็ม 3 จำนวน 10 ตัวอย่าง
- กลุ่มที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และไฟเซอร์ เข็ม 3 จำนวน 11 ตัวอย่าง
ผลจะออกภายในวันศุกร์นี้ จะนำเรียนความคืบหน้าอีกครั้ง ขณะที่ BA.4 เชื้ออยู่ระหว่างการเพาะ เนื่องจากเชื้อยังไม่มีความแข็งแรงพอที่จะทดสอบ
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีนโยบายการติดตามสายพันธุ์อย่างเข้มงวด โดยโฟกัสไปยังกลุ่มอาการรุนแรง และเสียชีวิต และเฝ้าระวังสายพันธุ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะท่าเรือ ชายแดน ก็มีการตรวจสอบแทบจะทุกราย” รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
เฝ้าระวังกลุ่ม 608
จากข้อคำถามที่ว่า การระบาด BA.4 / BA.5 ที่ระบาดในตอนนี้ ส่งผลต่ออาการป่วยหรือไม่ และกลุ่มไหนที่น่ากังวล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เป้าหมายเฝ้าระวังยังเป็นกลุ่ม 608 เหมือนเดิม เพราะโอมิครอน ระยะหลัง แทบจะไม่มีอาการ ป่วยไม่กี่วัน ก็หายดี แต่แน่นอนว่าในกลุ่มภูมิคุ้มกันที่ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อได้ตามปกติ อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ง่ายขึ้น อย่างที่รณรงค์กันว่าหากลดความเสี่ยงรับเชื้อได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนควรจะทำ และในกลุ่มที่ยังได้วัคซีนภูมิไม่สูงพอ ถึงเวลาก็ต้องเพิ่มภูมิคุ้มกัน และหากกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังก็ต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น
อาการไม่สามารถแยก แต่ละสายพันธุ์ได้
ขณะที่ อาการ BA.4 / BA.5 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ อัลฟ่า เดลต้า อาการไม่สามารถนำมาใช้แยกสายพันธุ์ได้ เพียงแต่ว่าเป็นลักษณะทั่วไปของการติดเชื้อไวรัส บางคนติดเชื้อ BA.4 / BA.5 ก็ยังสบายดีไม่มีอาการอะไร ดังนั้น ยังไม่มีข้อมูลหนักแน่นพอที่จะบอกว่าอาการต่างกันด้วยประเด็นใด
ยังไม่พบ BA.2.75 ในไทย
จากข้อกังวลของ สายพันธุ์ BA.2.75 ที่พบในอินเดีย สหรัฐ และ สหราชอาณาจักรนั้น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า BA.2.75 อย่างที่เคยเรียนไปเมื่อสัปดาห์ สายพันธุ์ที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM) ไม่ได้มีเฉพาะ BA.4 / BA.5 แต่มี BA.2.1 , BA.2.2 และอื่นๆ ราว 6 ตัว
หาก BA.2.75 ดูแล้วมีปัญหามากขึ้น WHO ก็จะจัดให้อยู่ใน VOC-LUM เช่นกัน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้จัด และมีรายงานเพียง 60 ตัวอย่างเท่านั้น ยังน้อยเกินไป เราเห็นลักษณะของการกลายพันธุ์เช่น สไปรท์โปรตีน มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นเยอะ หรือการกลายพันธุ์ในบางตำแหน่ง แต่อย่าเพิ่งกังวล เพราะไทยและ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก และเฝ้าระวังในประเทศ โดยการถอดรหัสพันธุกรรมสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 500 ตัวอย่าง เพราะฉะนั้น หากเจอในไทยจะสามารถตรวจพบได้ ดังนั้น BA.2.75 ยังไม่พบในไทยแต่ยังเฝ้าระวังต่อไป