“Blue Carbon”สู่คาร์บอนเครดิต บางจากศึกษา“หญ้าทะเล”ลดโลกร้อน
“Blue Carbon” ถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนประสิทธิภาพสูงที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ซึ่งพื้นที่ Blue Carbon ประกอบด้วยป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง และแหล่งหญ้าทะเล โดยพื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพจับคาร์บอนในอากาศ อย่าง ป่าชายเลนสามารถดูดซับคาร์บอนได้ดีกว่าป่าปกติถึง 4 เท่า
ข้อมูลจาก Blue Carbon Society เปิดเผยว่าการที่พื้นที่ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล และป่าพรุน้ำเค็มดูดซับคาร์บอนได้ดีกว่า เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้สามารถดึงคาร์บอนลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดินได้ถึง 50 – 99%
- “บางจาก”วิจัยสู่คาร์บอนเครดิต
โดยเฉพาะ “แหล่งหญ้าทะเล” ระบบนิเวศที่ดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด มีพื้นที่น้อยกว่า 0.2 %ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่กลับกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ถึงปีละ 10 % รวมถึงยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูน และเต่าตนุ รวมทั้งเป็นแหล่งอนุบาล และที่หลบภัยของสัตว์น้ำอีกหลายชนิด
จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าเมื่อปี 2015 ประเทศไทยมีพื้นที่หญ้าทะเล 256 ตารางกิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2012 ที่ตอนนั้นมีพื้นที่เพียง 190 ตารางกิโลเมตร
“กลุ่มบริษัทบางจาก” มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 ด้วยแผน “BCP NET” และล่าสุด ได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาพื้นที่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่ Low Carbon Destination หมู่เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านอ่าวนิด โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นพยาน เพื่อดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยโมเดล Bangchak WOW
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่าจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ในปีที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกมีการกล่าวถึงหญ้าทะเลมากขึ้น เพราะหญ้าทะเล ถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่จัดเป็นระบบนิเวศ Blue Carbon
- เพิ่มพื้นที่กักเก็บคาร์บอนด้วย“หญ้าทะเล”
“ข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International. Union for Conservation of. Nature: IUCN) ปี 2021 ระบุว่าหญ้าทะเลสามารถดูดซับกักเก็บมากกว่าป่าบนบก 7-10 เท่า ส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างให้ความสนใจเรื่องหญ้าทะเลมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชน ที่จะทำเรื่องของหญ้าทะเลเป็นเสมือน CSR ของบริษัท” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว
การจะดูแลและรักษาให้แหล่งหญ้าทะเล กลายเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนได้จริง เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ต้องมีการศึกษาในเรื่องนี้ รวมถึงต้องอนุรักษ์เข้าไปดูแลฟื้นฟูธรรมชาติ ไม่ให้พื้นที่หญ้าทะเลเสื่อมโทรม หรือลดน้อยลง
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่าประเทศไทยมีพื้นที่หญ้าทะเลทั้งภาคใต้ และภาคตะวันออก ซึ่งในบริเวณเกาะหมาก และเกาะกระดาด จังหวัดตราด ถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังขนาดใหญ่ โดยในการศึกษาของคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทบางจาก จะมีการสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งการแปลข้อมูลดาวเทียมและการใช้โดรนรูปแบบต่างๆ สำรวจทางอากาศ พร้อมกับการสำรวจภาคสนามและการดำน้ำประเมินศักยภาพของพื้นที่
สำหรับพื้นที่ในการสำรวจแหล่งหญ้าทะเล จะเป็นบริเวณอ่าวกระเบื้อง เกาะหมาก 10 ไร่ และฝั่งตะวันตกของเกาะกระดาด 12.3 ไร่ และมีการนำตัวอย่างดิน ไปศึกษาวิจัยในห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ
“การจะศึกษาการใช้คาร์บอนเครดิจจากแหล่งหญ้าทะเล ต้องมีการ สำรวจชั้นดิน ในความลึกแต่ละชั้นร่วมด้วย เพราะการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ไม่ได้กักเก็บอยู่ในใบของหญ้าทะเล แต่กว่า 90% จะอยู่ในดิน ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลแล้วจะต้องทำการศึกษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว
- “เกาะหมาก” แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ
“เกาะหมาก” เป็นจุดแรกของประเทศที่มีการนำคำว่า Low Carbon Destination หรือ แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ มาใช้ ดังนั้น พื้นที่ดังกล่าวจึงเหมาะสมที่จะเป็น Net Zero หรือ Carbon Negative ในอนาคต จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้เกิดความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาครัฐหลายส่วนในการช่วยลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก กับกักเก็บคาร์บอน
พี่อึ่ง นายนพดล สุทธิธนกูล ประธานกลุ่มชมรมอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก กล่าวเสริมว่าบริเวณเกาะหมาก นอกจากลด ละ เลิกการทำลายหญ้าทะเลแล้ว จะต้องร่วมดูแลปะการังด้วย เนื่องจากเกาะหมาก นับเป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มีแนวปะการังที่ใหญ่ และที่ผ่านมาปะการังเสียหายด้วยกระแสน้ำอุ่น หรือภาวะโลกร้อนทำให้เกิดปะการังฟอกขาว และการทำกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวไปเหยียบหัก เอามือที่อาจจะมีครีมกักแดดไปจับปะการังขณะดำน้ำ หรือ สมอเรือไปถูกปะการัง
“ปะการัง เป็นสัตว์ทะเลที่มีผลต่อระบบนิเวศอย่างมาก โดยทางภาคตะวันออก จะมีปะการังเขากวางสีฟ้า สีเหลือง และสีน้ำตาล โดยปะการังนั้นจะขยายพัยธุ์ด้วยไข่ ซึ่งปะการังจะขยายพันธุ์เหมือนพืช เหมือนการปักชำ และดูดซับคาร์บอนเหมือนหญ้าทะเล แต่การปลูกปะการังไม่เหมือนปลูกป่า ปลูกป่าง่ายกว่ามาก ดังนั้น หากจะฟื้นฟูหญ้าทะเล ก็ต้องฟื้นฟูปะการังร่วมด้วย เพื่อช่วยลดคาร์บอน ช่วยโลก”พี่อึ่ง กล่าว
- Bangchak WOW ลดคาร์บอน ช่วยโลก
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจาก กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาพื้นที่เกาะหมากสู่เป้าหมายการเป็น Low Carbon Destination ซึ่งกลุ่มบางจากจะสนับสนุน ทั้งการศึกษาวิจัย และกิจกรรมอื่นๆ โดยเน้นการใส่ใจดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังจากชุมชนท้องถิ่น อันนำไปสู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบของประเทศในการร่วมบรรเทาภาวะวิกฤตของโลกด้านสภาพภูมิอากาศ
การศึกษา Blue Carbon จากการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของแหล่งหญ้าทะเลในแนวปะการังภาคตะวันออก ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งการดูดซับคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติจากหญ้าทะเล เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่กลุ่มบริษัทบางจากได้ดำเนินการ เพื่อลดคาร์บอน และกักเก็บคาร์บอน รวมถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่พลังงานสะอาด
- ทำความรู้จัก “หญ้าทะเล” พืชใต้น้ำ
“หญ้าทะเล” (Seagrass) เป็นพืชมีดอก หรือพืชทะเล ที่มีโครงสร้างคล้ายพืชบก โดยมีใบที่มีคลอโรฟิลล์ ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง แต่จะมีลักษณะโดดเด่นแตกต่างไปจากพืชดอกทั่วๆ ไป คือ หญ้าทะเลเกือบทุกชนิดมีวงจรชีวิตสมบูรณ์ใต้น้ำ ทั้งการสืบพันธุ์ ออกดอก ผล เมล็ด หรือเรียกได้ว่าเจริญเติบโตใต้ท้องทะเล ซึ่งหญ้าทะเลสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ในทะเล
อย่างไรก็ตาม หญ้าทะเลมี ราก ใบ และลำต้นใต้ดินเหมือนกับหญ้าทั่วๆ ไป ซึ่งหญ้าทะเลจะมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเล ด้วยการเป็นผู้ผลิตเบื้องต้นในระบบนิเวศทางทะเล และการเป็นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพทำให้ แหล่งหญ้าทะเล เป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศของสิ่งมีชีวิตในทะเล อย่าง พะยูน และ เต่าทะเล กลุ่มสัตว์ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อีกทั้ง หญ้าทะเลยังเป็นแหล่งหลบภัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนร่วมด้วย