"อภัยภูเบศร" ชูเมนูอาหารพืชผัก 9 ชนิด “พรีไบโอติกส์” สูง ดัน Soft Power
รพ.อภัยภูเบศร ชู อาหาร "พรีไบโอติกส์” เพื่อลำไส้แข็งแรง ชูผักผลไม้ 9 ชนิดคุณค่าสูง ทำตำรับอาหารสูตรง่ายๆ ทำเองได้กินมีประโยชน์ ขณะเดียวกันผลักดันให้เป็น Soft Power เหมือนเกาหลีใช้กิมจิ แต่ไทยมีอาหารหลากหลาย จัดทำเป็นเซ็ตเมนูกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทาง
บรรจบอีกปี สำหรับงาน มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 19 ภายใต้แนวคิด “สร้างเศรษฐกิจไทย ด้วยกัญชาไทย นวดไทย อาหารไทย” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 ก.ค.2565 ที่ฮอลล์ 11 - 12 อิมแพค เมืองทองธานี
งานนี้มีไฮไลท์ที่น่าสนใจมากมายไม่ว่าจะเป็นการแจกต้นกล้า กัญชา วัน 100 ต้น รวมทั้ง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังนำเอาสมุนไพรพื้นบ้านหายาก มาแจกภายในงานอีกด้วย 5 ชนิด โดยแจกวันละ 1 ชนิด จำนวน 300 ต้นต่อวัน แบ่งออกเป็นรอบๆ ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.
วันแรก (6 ก.ค.) แจกต้นมะกล่ำเผือก
วันที่สอง(7 ก.ค.) แจกต้นสายน้ำผึ้ง
วันที่สาม(8 ก.ค.) แจกมะขามป้อม
วันที่สี่(9 ก.ค.) แจกว่านคันทมาลา
วันที่ห้า (10 ก.ค.) แจกเท้ายายม่อม
และในงานยังแจกหนังสือครบครันกัญชาสยาม สานต่ออดีตสู่..อนาคต อีกวันละ 200 เล่ม
อาหารเพื่อลำไส้แข็งแรง
นอกจาก สมุนไพร 5 ชนิด และต้นกัญชาที่นำมาแจกให้ในงานแล้ว ทาง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังมาให้ความรู้เกี่ยวกับอาหารเพื่อลำไส้แข็งแรง
ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรให้ข้อมูลว่า อาหารเป็นยา จัดเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้การสนับสนุนเรื่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันคนเจ็บป่วยง่าย จึงจำเป็นต้องส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง แต่จะสนับสนุนการรับประทานยาคงไม่ได้
สิ่งที่เป็นประโยชน์ คือ พืชผักสมุนไพร ซึ่งหากนำมาทำเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือเรียกว่า อาหารเป็นยา จะเป็นทางเลือกที่คนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งโปรไบโอติก จะเป็นเทรนด์ของโลก เพราะตัวเชื้อในอาหารจะช่วยเรื่องระบบขับถ่าย และยังมีงานวิจัยช่วยเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีการศึกษาวิจัยอาหารเพื่อช่วยโรคซึมเศร้าอยู่ขณะนี้
"ในต่างประเทศให้ความสนใจเรื่องนี้มาก อย่างเกาหลี มีกิมจิ ซึ่งเป็นอาหารที่มีการศึกษาว่า มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก มีศูนย์วิจัยเฉพาะเรื่องนี้ ดังนั้น หากประเทศไทยหันมาทำเรื่องนี้ก็จะช่วยให้อาหารไทยมีคุณค่ามากขึ้น จึงนำมาสู่การศึกษาวิจัยอาหารที่จะเข้าไปทำให้ให้เชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้เจริญเติบโตดี หรือที่เรียกว่า “พรีไบโอติกส์” ซึ่งในผักดองของไทยมีตัวนี้ แต่ไม่มาก” ภญ.ผกากรอง กล่าว
9 พืชผัก เสริมการเติบโตจุลินทรีย์
ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมาจึงมีการเก็บตัวอย่างพืชผัก 52 ตัวอย่าง ที่วางขายในตลาดมาสกัดแล้วตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า มี 9 ชนิดที่มีช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดีมาก ได้แก่
- เม็ดบัว
- กลอย
- ขมิ้นขาว
- ขิงอ่อน
- ขิงแก่และขิงอ่อน
- หอมแดง
- ลูกยอ
- กระเจี๊ยบเขียว
- ข่า
- ตะไคร้
รองลงมา คือ มันมือเสือ มันแกว กระจับ ผักปลัง กระเจี๊ยบแดง บวบ หัวปลี มะละกอ ราก/ไหลบัว หัวไชเท้า ฟักทองและหอมหัวใหญ่
โดยการศึกษาได้นำมาทดสอบการเจริญเติบโตของเชื้อและนำมาสู่การพัฒนาเป็นเมนูอาหารรวม 100 ตำรับ โดยได้เลือกพืชผักที่มีคุณสมบัติความเป็น พรีไบโอติกส์ ที่ดีมากมาปรุงอาหาร จากนั้นนำกลับไปทดสอบอีกครั้ง โดยผลการทดสอบอาหารที่มีคุณสมบัติพรีไบโอติกส์ดีมาก คือ กระจับผัดพริกเผา ข้าวคลุกกะปิ ขนมผักกาด
รองลงมา คือ ยำตะไคร้กุ้งสด ไก่หุงฟักทอง ปลาแนม กระเจี๊ยบเขียวชุบแป้งทอด ตะโก้แห้ว ส้มตำไทย รากบัวผัดน้ำปลา ขนมจีนแกงป่า หัวไชเท้าทอด และหลนเต้าเจี้ยว
ดัน พรีไบโอติกส์ไทยเป็น Soft Power
เมื่อถามว่า จะดันอาหารพรีไบโอติกส์ของไทย เป็น Soft Power เหมือนตอนข้าวเหนียวมะม่วงหรือไม่ ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า ใช่ เพราะจริงๆพืชผักบ้านเรามีประโยชน์มาก ประชาชนหากปลูกผักกินเองที่บ้านก็จะสามารถมาช่วยส่งเสริมสุขภาพได้ เช่น กระเทียม มีการศึกษาว่า หากกินแค่ครึ่งกลีบทุกวัน จะลดฤทธิ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
รวมถึงการกินพริก ขมิ้นชันก็มีประโยชน์ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องมีการสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนทราบเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และในอนาคตเราอาจทำอาหาร ที่เป็นเหมือนกิมจิ ทำเป็น Soft Power ให้ประเทศก็เป็นได้
“อาหารไทยเรามีความหลากหลายมาก เราสามารถทำเป็นเซต อย่างแต่ละประเทศก็จะชอบอาหารแตกต่างกัน หากทำเป็นเซตเมนู และทำอาหารเป็นอาหารพรีไบโอติกก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งได้เช่นกัน” ภญ.ผกากรอง กล่าว
ประโยชน์พรีไบโอติกส์ ต่อทางเดินอาหาร
อย่างไรก็ตาม สำหรับประโยชน์ของพรีไบโอติกส์ในทางเดินอาหารนั้น ประกอบด้วย
1.ช่วยบ่อยอาหาร จุลินทรีย์ในทางเดินอาหารจะช่วยย่อยสารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ หรือย่อยได้ไม่หมด
2.ผลิตวิตามิน เช่น วิตามินบี1 บี2 บี3 วิตามินอี วิตามินเค กรดแพนโทเทนิก และกรดโฟลิก เป็นต้น หากขาดแบคทีเรียเหล่านี้อาจทำให้เราขาดวิตามินได้
3. กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ส่งผลให้การขับถ่ายอุจจาระดีขึ้น ไม่มีอุจจาระตกค้าง ย้อนกลับมาเป็นพิษกับร่างกาย
4.ยับยั้งเชื้อก่อโรค โดยการผลิตกรดแล็กติกเพื่อป้องกันการสัมผัสระหว่างเชื้อก่อดรคกับผนังลำไส้ รวมถึงแบคทีเรียอื่นที่เข้าสู่ร่างกาย ตามช่องทางต่างๆ เช่น มากับอาหาร
5. เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานตรวจจับเชื้อก่อโรคได้ดีขึ้น และหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ลดลง
ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อภัยภูเบศร เดย์ สปา กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี โทร 037-217127