เช็ก 5 อันดับ เขตไหนเสี่ยง “น้ำท่วม” สูงสุดใน กทม.
หลัง กทม. ถูกฝนถล่มหนักตลอดคืนจนทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด เขตที่พบปัญหามากที่สุดคือ เขตจตุจักร ช่วง ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นอับดับหนึ่งของจุดเสี่ยง “น้ำท่วม” สูงที่สุดในกรุงเทพฯ
จากสถานการณ์ฝนตกหนักในคืนวันที่ 20 ก.ค. 65 ตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงช่วงเช้ามืดของวันที่ 21 ก.ค. 65 ทั่วบริเวณกรุงเทพมหานคร ทำให้หลายเขตใน กทม. เกิด “น้ำท่วม” หลายจุดตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงเช้ามืด
ส่งผลให้การจราจรตามถนนสายหลักต่างๆ ติดขัดจนถึงขั้นอัมพาต รวมถึงมีประชาชนตกค้างอยู่ที่ป้ายรถโดยสารสาธารณะเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตจตุจักรที่เป็นเขตเสี่ยงน้ำท่วมสูงสุดของ กทม.
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนสำรวจ จากทั้งหมด 50 เขต ของ กทม. เขตไหนเรียกได้ว่าเป็น จุดเสี่ยง “น้ำท่วม” สูงสุดในกทม. รวมถึงตรวจเช็กปริมาณน้ำฝนและสถานการณ์น้ำในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงมรสุมเพื่อเตรียมตัวรับมือ
ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้ทำรายงานสรุปไว้ว่า กทม. มีจุดเสี่ยง “น้ำท่วม” ทั้งหมด 12 จุด จากทั้งหมด 8 เขต แต่เขตหลักที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและเกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง สามารถแบ่งออกได้ 5 เขต ดังนี้
เปิด 5 เขต กทม. เสี่ยงน้ำท่วมสูงสุด
1. เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ
ปัญหาของเขตจตุจักรอย่างหนึ่ง คือ บริเวณช่วงสี่แยกรัชดา-ลาดพร้าว มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ประกอบกับมีถนนบางช่วงที่มีการปรับปรุงพื้นถนน ประกอบกับมีชุมชนริมคลองค่อนข้างมาก ทำให้มีความแออัดและระบายน้ำได้ยาก
2. เขตบางซื่อ ถนนประชาราษฎร์สาย 2 บริเวณแยกเตาปูน
เนื่องจากช่วงแยกเตาปูนอยู่ใกล้กับคลองประปา และมีพื้นที่เขตบางส่วนเชื่อมต่อกับเขตจตุจักร ทำให้ปัญหาน้ำท่วมขังขยายมาถึงบริเวณนี้ด้วย
3. เขตหลักสี่ ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงคลองประปา-คลองเปรมฯ
จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังในเขตนี้คือ บริเวณตั้งแต่ช่วงคลองประปา ถึงคลองเปรมประชากร เนื่องจากมีคลองถึง 2 สาย และมีการซ่อมถนนในบางช่วง ทำให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ง่าย
4. เขตดุสิต ถนนราชวิถี เชิงสะพานซังฮี้
บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธนบุรี (สะพานซังฮี้) เนื่องจากอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับปัญหาน้ำท่วมขัง
5. เขตราชเทวี ถนนพญาไท บริเวณหน้ากรมปศุสัตว์
บริเวณนี้เป็นพื้นที่ในเขตเมืองที่มีตึกอาคารหนาแน่น การระบายน้ำไม่สะดวก เมื่อมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายชั่วโมงจึงเกิดน้ำท่วมขังได้ง่าย
โดยสรุปแล้ว กทม. มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 12 จุด แบ่งเป็นฝั่ง "พระนคร" 9 จุดใน 6 เขต และฝั่ง "ธนบุรี" 3 จุดใน 2 เขต โดยในปี 2565 กทม. วางเป้าหมาย ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมให้เหลือ 8 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมให้ลดลงเหลือ 36 จุด
แม้ว่าทางกรุงเทพมหานครจะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของการระบายน้ำออกช้าคือ ขยะ ที่ติดอยู่ตามท่อระบายน้ำและตามคูคลองต่างๆ ของ กทม. ที่สะสมเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมในกรุงเทพฯ
สำหรับสถานการณ์น้ำของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงนี้ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. และมีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก ที่สำนักการระบายน้ำรับผิดชอบ จำนวน 26 รายการ น้ำเเห้งปกติจำนวน 21 รายการ คงเหลือ 5 รายการ
อ้างอิงข้อมูล : กรมชลประทาน และ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร