"ฝีดาษลิง" กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเฝ้าระวัง หลังไทยพบผู้ป่วยยืนยันรายแรก
ภายหลังจากที่ประเทศไทยยืนยันพบผู้ป่วยโรค "ฝีดาษลิง" หรือ ฝีดาษวานร รายแรกที่จังหวัดภูเก็ต ขณะที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" โพสต์เฟซบุ๊กอัปเดตสถานการณ์โรคดังกล่าวจากทั่วโลก และพูดถึงกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค
ภายหลังจากที่ประเทศไทยยืนยันพบผู้ป่วยโรค "ฝีดาษลิง" หรือ ฝีดาษวานร รายแรกที่จังหวัดภูเก็ต ขณะที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กอัปเดตสถานการณ์โรคดังกล่าวจากทั่วโลก และพูดถึงกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "ฝีดาษลิง" ไทยพบรายแรกที่ภูเก็ต เช็กรายละเอียด
Update Monkeypox จำนวนผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" สะสมทั่วโลก 15,165 ราย ณ 20 กรกฎาคม 2565 ดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ในแต่ละวัน ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไทยเราเพิ่งมีรายงานเคสแรกเมื่อวานนี้ แต่ไม่ควรประมาท เพราะอาจมีติดเชื้อแฝงอยู่ในชุมชนได้ เนื่องจากมีการเดินทางระหว่างประเทศจำนวนมาก ผู้ที่ทำงานบริการ ต้องคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่น มีการสัมผัสทางกาย จำเป็นต้องระมัดระวัง และหมั่นสังเกตความผิดปกติของคนที่ไปใกล้ชิด นอกจากนี้ กลุ่มชายรักชายจำเป็นต้องระมัดระวังเช่นกัน เพราะต่างประเทศมีการระบาดมาก
สำหรับ ผู้ป่วยฝีดาษลิง รายแรกในไทย มีการยืนยันที่จังหวัดภูเก็ต เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย ให้ข้อมูลการป่วยว่าเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศลามไปใบหน้า ลำตัว แขน เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค เบื้องต้นผลการตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus โดยห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TRC-EIDCC)
ต่อมายืนยันโดยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วงบ่ายวันที่ 19 ก.ค.2565 และทีมสอบสวนควบคุมโรครวบรวมข้อมูลการสอบสวนทั้งข้อมูลอาการทางคลินิก ข้อมูลระบาดวิทยา และข้อมูลห้องปฏิบัติการเข้าพิจารณาในคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในบ่ายวันที่ 21 ก.ค.2565 ผลสรุปว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานร ที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก