"โควิด-19" วันนี้ หมอธีระ คาดยอดจริงติดเชื้อ 8 หมื่นราย ยอดดับสูงที่ 4 เอเชีย
"โควิด-19" วันนี้ หมอธีระ คาดประมาณยอดจริงติดเชื้อ 8 หมื่นราย ยอดเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของทวีปเอเชีย อัปเดตความรู้โควิด 2 ประเด็นสำคัญ
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงๆจากการคาดประมาณ พร้อมกับวิเคราะห์สถานการณ์ระบาดของไทยจากข้อมูล Worldometer วันนี้ (22 ก.ค.2565)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 2,424 ราย ตาย 25 ราย
- โควิดวันนี้ 10 จังหวัดติดเชื้อสูง กทม. 1,453 จับตาสมุทรปราการ ชลบุรี ขอนแก่น
- "ฝีดาษลิง" กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเฝ้าระวัง หลังไทยพบผู้ป่วยยืนยันรายแรก
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวานสูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อัปเดตความรู้โควิด-19
1. "BA.5 มีความรุนแรงกว่า BA.2 ถึง 1.65 เท่า" งานวิจัยล่าสุดจากประเทศเดนมาร์ก โดย Hansen CH และคณะ เผยแพร่ใน SSRN เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา ทำการศึกษาในประชากรทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วง 10 เมษายนถึง 20 มิถุนายน 2022
สาระสำคัญพบว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 (ซึ่งระบาดทั่วโลกขณะนี้) มีความรุนแรงจนทำให้ป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 (ซึ่งระบาดมาก่อน BA.5) ถึง 65% (หรือ 1.65 เท่า)
ผลการศึกษานี้อธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบัน ที่เราพบว่านอกจาก BA.5 จะแพร่เชื้อติดเชื้อกันได้ง่ายกว่าเดิมแล้ว ยังทำให้มีคนป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้นทั่วโลก เพราะ BA.5 มี severity มากกว่า BA.2
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามผลการศึกษาจากที่อื่นๆด้วยว่าได้ผลสอดคล้องกับที่เดนมาร์กหรือไม่ หากสอดคล้องกัน ก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น ทั้งนี้ การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเวลาใช้ชีวิตประจำวัน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นสำคัญมาก
2. "Long COVID is real" Sorensen AIV และคณะจากประเทศเดนมาร์ก ทำการสำรวจในประชากรทั่วประเทศจำนวน 430,173 คน อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เกี่ยวกับอาการผิดปกติหลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 (Long COVID or PASC) เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications วันที่ 21 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา
สาระสำคัญพบว่า ความผิดปกติหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นพบได้มากมายหลากหลายอาการ แม้ในผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ตาม และผู้ที่มีอาการผิดปกตินั้นก็มีอาการคงค้างยาวนานไปถึงอย่างน้อย 1 ปีในสัดส่วนที่สูง
คนที่เป็นเพศหญิง และคนที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนขึ้นไป จะเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID มากกว่ากลุ่มอื่น
กลุ่มที่ติดเชื้อพบว่าประสบปัญหาเรื่องสมรรถนะทางกายอ่อนล้า สมรรถนะทางจิตใจอ่อนล้า ไม่มีสมาธิ ปัญหาด้านความจำ และปัญหาการนอนหลับ มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ โดยมีความเสี่ยงสูงกว่าถึง 40.45%, 32.58%, 28.34%, 27.25%, และ 17.27% ตามลำดับ
ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความจำเป็น และวัคซีนจะช่วยป้องกัน Long COVID ได้ราว 15% การใส่หน้ากากสำคัญมาก และจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไปได้มาก
นอกจากนี้ "หมอธีระ" ยังเปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงๆจากการคาดประมาณโดยระบุว่า " 22 กรกฎาคม 2565
2,424 --> คาดประมาณ 80,800"
CR หมอธีระ