เปิดลิสต์ "โควิดโอมิครอน" สายพันธุ์ย่อยในไทย ก่อนจะตรวจเจอ BA.2.75
หลังจากไทยพบผู้ติดเชื้อ "โควิดโอมิครอน" สายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ BA.2.75 รายแรกไปเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ชวนสำรวจว่าก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเจอการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยมากี่ชนิดแล้ว?
ไม่กี่วันก่อน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดเผยถึงกรณีประเทศไทยพบผู้ติดโควิดรายแรก จากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 โดยผู้ติดเชื้อเป็นชาวไทยอายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง เดินทางไปประชุมที่ภูเก็ตที่มีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย จากนั้นมีอาการป่วยและได้ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด และตรวจยืนยันด้วย RT-PCR พบติดเชื้อ
จากนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างนั้นมาตรวจสอบเพื่อยืนยันสายพันธุ์ ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบว่าเชื้อดังกล่าวเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 กรมวิทย์ฯ จึงนำส่งข้อมูลเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 และ GISAID ได้ตรวจสอบและประกาศขึ้นระบบเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565
จากกรณีดังกล่าวทำให้เห็นว่าในเวลาเพียงไม่ถึงปี เชื้อไวรัสโควิดโอมิครอนได้กลายพันธุ์แตกย่อยออกไปอย่างต่อเนื่อง แถมรุ่นลูกหลานที่พบใหม่นั้น ก็มีความสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และแพร่กระจายได้รวดเร็วขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนรอยกลับไปดูว่า ก่อนที่จะเจอ "โควิดโอมิครอน" สายพันธุ์ใหม่ BA.2.75 ประเทศไทยเคยพบการระบาดของสายพันธุ์ย่อยชนิดไหนมาแล้วบ้าง?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ไทยเจอแล้ว! โควิดสายพันธุ์ย่อย “BA.2.75” เป็นมิตรหรือศัตรู?
- กรมวิทย์ ยืนยันพบผู้ติดโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ในไทย
- ศูนย์จีโนม รพ.รามาฯ คาด "โอมิครอน" BA.2.75 อาจระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก
- ศูนย์จีโนม รพ.รามา เผยผลถอดรหัสพันธุกรรมโอมิครอนในรอบ 1 เดือน
1. โควิดโอมิครอน BA.1
เมื่อต้นปี 2565 ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกรายงานว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่สามารถยืนยันว่าจะถึงจุดสิ้นสุดในเร็วๆ นี้ เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ต่อเนื่อง และพบการปรากฏตัวของสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน (Omicron sub-lineage) นั่นคือ BA.1 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย
ด้านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ของไทย ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยรายแรก เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 โดยเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 พบการกลายพันธุ์ตำแหน่ง K417N, T478K, N501Y และ del69/70 ช่วงแรกพบเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ประมาณ 3 สัปดาห์ต่อมา เริ่มพบผู้ติดเชื้อในประเทศ โดยในคลัสเตอร์ดังกล่าวล้วนเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1
2. โควิดโอมิครอน BA.2
เชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.2 เริ่มพบเห็นการแพร่ระบาดในต่างประเทศแถบยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, อิตาลี ต่อมาสายพันธุ์นี้ก็แพร่กระจายออกไปทั่วโลกเช่นกัน
ส่วนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 มีรายงานข่าวพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ที่กลายพันธุ์จากเชื้อดั้งเดิมประมาณ 75 ตำแหน่ง หลังจากนั้นก็พบการแพร่ระบาดในไทยตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา
3. โควิดโอมิครอน BA.2.12.1
หลังจากพบการแพร่ระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เพียงไม่นาน หลายประเทศก็ตรวจพบผู้ติดโควิดสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ อีก จำนวนหนึ่ง เช่น BA.2.12.1, BA.2.9.1, BA.2.11, BA.2.13 โดยกลายพันธุ์จากเชื้อดั้งเดิมประมาณ 75-78 ตำแหน่ง และพบการแพร่ระบาดในไทยเมื่อมกราคม 2565 เป็นต้นมา
4.โควิดโอมิครอน BA.4
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอนถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ตอนนี้แทบไม่มีสายพันธุ์อื่นๆ หลงเหลืออยู่ในไทยแล้ว โดยโควิดสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ BA.4 / BA.5
จุดเด่นคือ มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับสายพันธุ์เดลตา มีความสามารถเกาะติดเซลล์ปอดได้ดี ทำให้เกิดอันตรายกับปอดมากขึ้น และทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยรุนแรง ทั้งนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ตรวจพบว่า BA.4 เป็นเชื้อโควิดโอมิครอนที่กลายพันธุ์มาจากเชื้อดั้งเดิมประมาณ 80 ตำแหน่ง พบการแพร่ระบาดในไทยตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เป็นต้นมา
5. โควิดโอมิครอน BA.5
BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่พบการแพร่ระบาดเคียงคู่มากับ BA.4 โดยมีจุดเด่นเหมือนกันคือ มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเชื้อมีความสามารถเกาะติดเซลล์ปอดได้ดี ทำให้เกิดอันตรายกับปอดมากขึ้น และตรวจพบว่ามีการกลายพันธุ์จากเชื้อดั้งเดิมประมาณ 85 ตำแหน่ง
องค์การอนามัยโลกจัดให้โควิดโอมิครอน BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามองว่ามีแนวโน้มทำให้เกิดการระบาดคลัสเตอร์ใหญ่ หรือสามารถติดเชื้อได้แม้ว่าผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้ว ทั้งนี้ WHO ยังพบอีกว่าสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.5 พบมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 16 % เป็น 25 % จึงต้องจับตาใกล้ชิดในสายพันธุ์ BA.5 มากกว่า BA.4 พบการแพร่ระบาด BA.5 ในไทยตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เป็นต้นมา
6. โควิดโอมิครอน BA.2.75 (ใหม่ล่าสุด)
ล่าสุด.. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ออกมายืนยันว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยใหม่ BA.2.75 แล้ว 1 รายตั้งแต่ช่วงวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
สำหรับโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการคือ “เซนทอรัส (Centaurus)” ตรวจพบมีการกลายพันธุ์มากที่สุดกว่า 100 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับโควิดทุกสายพันธุ์ที่มีการระบาดไปก่อนหน้านี้
พบผู้ติดเชื้อรายแรกในไทยเมื่อ ก.ค. 2565 ในอนาคตคาดว่าสายพันธุ์ย่อยชนิดนี้ จะเข้ามาแพร่ระบาดแทนที่สายพันธุ์ BA.4 / BA.5 ในที่สุด
-----------------------------------------
อ้างอิง : ศูนย์จีโนมทางการแพทย์, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์