น้องขวัญลูกเสือโคร่ง “สัตว์ป่าของกลาง” คืนสู่ป่าได้หรือไม่ หมอล็อต มีคำตอบ

น้องขวัญลูกเสือโคร่ง “สัตว์ป่าของกลาง” คืนสู่ป่าได้หรือไม่ หมอล็อต มีคำตอบ

ตอบข้อสงสัย “สัตว์ป่าของกลาง” คืนสู่ป่าได้หรือไม่ ชวนฟัง “หมอล็อต” อธิบายแนวทางการพาสัตว์เหล่าคืนสู่ธรรมชาติว่ามีขั้นตอนอย่างไร

กรณีน้องขวัญลูกเสือโคร่ง ที่เป็น “สัตว์ป่าของกลาง” ที่ได้จากการจับกุมเมื่อต้นเดือน เม.ย ที่ผ่านมา และนำมาดูแลต่อที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี

หลังกรณีชุดปฏิบัติการพิเศษได้รับการประสานว่ามีการประกาศขายสัตว์ป่า จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ ลูกเสือโคร่ง และนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 3 คน  และตรวจยึดสัตว์ป่าคุ้มครอง ลูกเสือโคร่ง อายุประมาณ 4 เดือน จำนวน 1 ตัว

แม้ว่าปัจจุบันน้องขวัญจะมีอาการดีขึ้นมากแล้ว เดินได้คล่อง กินนมได้ปกติ และไม่มีไข้หลังจากเข้ามาอยู่ในการดูแลของศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก แต่เนื่องจากน้องขวัญเป็น “สัตว์ป่าของกลาง” ที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยมนุษย์ตั้งแต่ยังเล็กทำให้อาจจะไม่สามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติได้

และเนื่องจากวันที่ 29 ส.ค. เป็นวัน วันอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ (International Tiger Day) หรือ วันอนุรักษ์เสือโลก (Global Tiger Day) “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” มีโอกาสได้คุยกับ “หมอล็อต” หรือ นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่เป็นผู้ดูแลน้องขวัญมาตั้งแต่ช่วงแรกว่าท้ายที่สุดแล้วน้องขวัญจะกลับคืนสู้ป่าได้หรือไม่

  • การกลับคืนสู่ธรรมชาติของสัตว์ป่าของกลาง

“หมอล็อต” อธิบายว่าโดยปกติแล้วสัตว์ป่าประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วสามารถกลับคืนสู่ป่าได้ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาดังนี้

1. พิจารณาแหล่งที่มาว่าสัตว์เหล่านั้นเกิดที่ไหน ระหว่างเกิดในป่ากับเกิดในกรงของศูนย์เลี้ยงดู

2. พิจารณาสุขภาพของสัตว์ว่ามีสุขแข็งแรง สามารถดำรงชีวิตและเอาตัวรอดในป่าได้หรือไม่ สามารถปลอดภัยจากผู้ล่าและภัยธรรมชาติต่างๆ ได้

3. เป็นเรื่องของพฤติกรรม ว่าสัตว์เหล่านี้สามารถดำรงชีวิตในป่าได้หรือไม่

4. พันธุกรรม ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะสัตว์บางชนิดเป็นสัตว์ลูกผสมไม่ได้มีพันธุกรรมเหมือนกับสัตว์ที่อยู่ในป่า ทำให้กลายเป็นพันธุกรรมที่แปลกปลอมถึงแม้จะเป็นชนิดเดียวกันก็ตามแต่ถ้าสายพันธุ์ไม่ใช่พันธุกรรมดั้งเดิมในป่าหรือชนิดที่อยู่ในป่า จึงเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถนำไปปล่อยในป่าได้เพราะจะทำให้ความแข็งแรงของพันธุกรรมสัตว์ในป่าลดลง

ดังนั้นการปล่อย “สัตว์ป่าของกลาง” คืนสู่ป่านั้นสามารถทำได้หากประเมิณแล้วว่าตัวสัตว์เองมีความพร้อมตามเกณฑ์การพิจารณาทั้ง 4 ตัวอย่างเช่น แมวดาว เก้ง กวาง นกป่าต่างๆ ก็มีการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ต้องมีการติดตามอยู่เป็นระยะ เช่น การสวมปลอกคอวิทยุ เพราะเป้าหมายสูงสุดของการดูแลสัตว์ของกลางคือการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

  • เมื่อน้องขวัญไม่สามารถกลับคืนสู่ป่าได้

สำหรับกรณีของน้องขวัญนั้นจากการพิจารณาแล้วพบว่า เสือโคร่งที่อยู่ในประเทศไทยเป็นเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีน แต่น้องขวัญเป็นเสือโคร่งสัตว์ป่าของกลางที่ตรวจยึดมาได้และอยู่ภายใต้การดูแลเป็นเสือโคร่งพันธุ์เบงกอล หรือบางครั้งก็มีพันธุ์ไซบีเรียนผสมมาด้วย ซึ่งถือว่าเป็นพันธุกรรมที่แปลกปลอมสำหรับเสือโคร่งในประเทศไทยทำให้ไม่สามารถปล่อยคืนสู่ป่าในไทยได้ นอกจากนี้ในเรื่องของพฤติกรรมเนื่องจากสัตว์เหล่านี้อยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ผ่านการเลี้ยงดู ผ่านการป้อนอาหารให้

ดังนั้นการที่จะไปล่าเหยื่อในป่านั้นทำได้ยากและอาจจะกลายเป็นเหยื่อเสียเองเพราะไม่รู้วิธีการกัดเพื่อตัดหลอดเลือดดำของเหยื่อ หรือกัดในบริเวณที่ทำให้เหยื่อหยุดการเคลื่อนไหว ทำให้เอาตัวรอดไม่ได้เพราะไม่สามารถหากินเองได้เนื่องจากไม่มีแม่คอยสอน ซึ่งในปัจจุบันแม้จะอายุ 4 เดือน แต่ยังต้องกินนมขวดที่ได้รับการป้อนจากมนุษย์อยู่

ในเมื่อไม่สารมารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ก็ต้องดูแลต่อไปในเรื่องความเป็นอยู่ตามสวัสดิภาพสัตว์ป่า ถึงแม้จะต้องอยู่ในสถานที่เลี้ยงไปตลอดแต่ก็ต้องปรับสถานที่เลี้ยงให้มีความเหมาะสมให้สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด เพื่อให้สามารถแสดงพฤติกรรมหรือสัญชาตญาณในตัวสัตว์ออกมาให้ได้

ที่สำคัญสามารถใช้เรื่องราวของน้องขวัญเป็นเรื่องราวเรียนรู้ ทั้งในเรื่องการศึกษาวิจัย การเรียนรู้ทางด้านสัตวแพทย์ในการดูแลลูกเสื้อกำพร้าในเรื่องการดูแลการอนุบาลว่าต้องทำอย่างไร เผื่อในอนาคตมีลูกสัตว์เหล่านี้ที่พลัดหลงหรือกำพร้าจะได้มีองค์ความรู้

และก็จะเป็นตัวที่คอยเตือนสร้างความเข้าใจสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการครอบครัวสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย การค้าสัตว์ป่า เพราะว่าชีวิตหนึ่งที่ถูกผลิตวมา โดยวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่งานอนุรักษ์ ทำให้เขาต้องมาดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่ธรรมชาติที่ควรจะเป็น

“เราต้องให้ข้อมูลเหล่านี้ให้สังคมได้ตระหนักว่าการครอบครองหรือการค้าสัตว์ป่านั้น จับผู้ต้องหาได้ นำสัตว์มาดูแลได้ แต่มันไม่จบ มันอาจจะจบตรงนั้นแต่มันเป็นการเริ่มต้นของชีวิตหนึ่งที่จะต้องดูแลไปจนสิ้นอายุขัย แม้ว่าจะต้องดูแลตามหน้าที่แต่ก็ต้องสูญเสียงบประมาณเช่นกัน เพราะฉะนั้นมันคือปลายทางของสัตว์เหล่านี้ที่มาจากความเห็นแก่ตัวของคน ก็ใช้เป็นตัวรณรงค์ ตัวถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ได้”

หมอล็อตกล่าวทิ้งท้าย