รู้จัก "ยาอีหมีพูห์" ตอนเสพมีความสุข หลังเสพชีวิตซึมเศร้า อันตรายถึงตาย
แม้โลกเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมาย และส่วนใหญ่ต่างรู้ถึงโทษของ “ยาเสพติด” ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาท สมอง และร่างกาย แต่ด้วยความอยากรู้อยากลอง หรือบางคนมองว่าใช้ยาเสพติดเพื่อแก้ปัญหาชีวิต เพิ่มความสนุกสนานในการปาร์ตี้ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ
ล่าสุดพบ ยาอีในรูปแบบเม็ดตัวการ์ตูนหมีพูห์ สีเหลือง หรือ “ยาอีหมีพูห์” ซึ่งมีการใช้พร้อมยานอนหลับชนิดรุนแรง ในพื้นที่ จังหวัดนครพนม โดยยาอีหมีพูห์ นั้นมีสูตรเหมือนกับยาอีทั่วไป เพียงแต่รูปแบบแตกต่างออกไป เป็นรูปหมีพูห์ที่จะทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้เสพได้มากขึ้น
“ยาอีหมีพูห์” VS “ยาอีทั่วไป”ต่างอย่างไร?
นพ.อังกูร ภัทรากร รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ได้ เตือนภัย!!! ยาอีโฉมใหม่ รูปหมีพูห์ ทาง Facebook Live healthy ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ว่ายาอี เป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ทั้งหลอน และกระตุ้นประสาททางเดียวกัน ซึ่งในส่วนของยาอี นอกจากจะทำให้เกิดอาการหลอน กระตุ้นประสาท ยิ่งมาใช้ในงานปาร์ตี้จะทำให้ผู้เสพยาอี สามารถเต้นได้ 6-8 ชั่วโมงโดยไม่ได้พัก ทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ และเมื่อเสพยาอี ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุขถึง 10 เท่า เมื่อหมดฤทธิ์ยาหลายคนจึงมีภาวะซึมเศร้า
“ยาอีหมีพูห์ กับยาอีทั่วไป ไม่ได้มีสูตรแตกต่างกัน มีอาการเหมือนกัน มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทเช่นเดียวกัน แต่รูปแบบภายนอกแตกต่างกันมาก ซึ่งยาอีหมีพูห์ จะเป็นประโยชน์ทางการค้า การตลาดของผู้ขายเพื่อให้เข้าถึงผู้เสพได้มากขึ้น เพราะหากซื้อยาอีทั่วไปเป็นเม็ดๆ หลายคนอาจจะไม่ซื้อ หรือไม่ลอง แต่ถ้าเป็นรูปหมีพูห์อาจจะรู้สึกว่าน่ารัก รับประทานได้เหมือนเจลลี่ และอาจจะนำมาใช้โดยที่ผู้อื่นไม่รู้ ทำให้เขาถึงผู้เสพได้ง่ายขึ้น" นพ.อังกูร กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- “กัญชา”จากยาเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ สูตร(ลับ)ฉบับรวยต้องได้มาตรฐาน
- สบยช. เตือนนักเที่ยวกลางคืนนิยมเสพยาอี อันตรายถึงชีวิต
- ทลาย 97 เครือข่ายยาเสพติด ยึดทรัพย์กว่า 2.4 พันล้าน
- ไม่รอด กวาดจับ ยาอี ส่งผ่านไปรษณีย์ข้ามชาติ
- 4 เรื่องน่ากังวล หลังปลดล็อกกัญชาพ้นยาเสพติด 9 มิ.ย.นี้
ยาอีหมีพูห์ ใช้ร่วมกับยานอนหลับ อันตรายถึงชีวิต
ไม่ว่าจะเป็น ยาอีทั่วไป หรือยาอีหมีพูห์ ต่างออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้เกิดอาการหลอน ยิ่งใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ หรือดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้อันตรายต่อร่างกายถึงเสียชีวิตได้ โดยรายงานในต่างประเทศ พบว่า มีผู้เสพยาอีในงานปาร์ตี้จำนวนมากที่เสียชี
"ยาอี (ecstacy)" เป็นสารสังเคราะห์ ที่ออกฤทธิ์ทั้งกระตุ้นประสาท (amphetamine – like) และหลอนประสาท (lsd – like) จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ยาอี (ecstasy) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ 3,4 methylenedioxy methamphetamine หรือ mdma
ส่วนยาเลิฟ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ 3,4-methylenedioxy amphetamine หรือ mda ซึ่งมีสูตรโครงสร้างคล้ายกับ เมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า แต่มีฤทธิ์ที่รุนแรงกว่าประมาณ 10 เท่า โดยออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท และ ทำลายเซลล์สมองที่เกี่ยวข้องกับความคิดและความจำเช่นเดียวกัน
นพ.อังกูร กล่าวต่อว่า ยาอีหมีพูห์ หรือยาอีทั่วไป เมื่อใช้ร่วมกับยาเสพติด หรือยากล่อมประสาท ยานอนหลับชนิดรุนแรงร่วมด้วย ซึ่งผู้เสพส่วนใหญ่มักจะใช้ร่วมกัน เพื่อทำให้รู้สึกมีความสุข สนุกสนาน สดชื่น อารมณ์ดี แต่เมื่อสารเหล่านี้หมดฤทธิ์ จะทำให้ความสุขหายไปกลายเป็นความซึมเศร้า หดหู่มากกว่าเดิม และเมื่อใช้ร่วมกันทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้มากขึ้น
"ยาอี" จะเข้าไปทำลายระบบประสาททำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน (Serotonin)
ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ทำงานผิดปกติ โดยจะหลั่งสารนี้ออกมามากกว่าปกติทำให้สดชื่น อารมณ์ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปสารดังกล่าวจะลดน้อยลง ทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะอารมณ์เศร้าหมองหดหู่ เกิดอาการซึมเศร้า และอาจกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า (Depression) มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ
เช็กอาการ สังเกตลูกหลาน วัยรุ่นเสพยาอี?
รวมถึงการที่สารซีโรโทนินลดลง จะทำให้การนอนหลับผิดปกติ เวลาการนอนลดลง หลับไม่สนิท อ่อนเพลียขาดสมาธิในการเรียนและทำงาน
ปัจจุบัน "ยาอี" ได้รับความนิยมเสพในกลุ่มของวัยรุ่น หรือนักท่องเที่ยวสถานบันเทิงที่มีฐานะค่อนข้างดี เนื่องจาก ยาอี ราคาค่อนข้างสูง ตกเม็ดละ 800-1,000 บาท ทำให้ในประเทศไทยไม่ได้มีการเสพยาอีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ แต่ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะยาอีหากใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ มีความรุนแรงอย่างมาก รุนแรงมากกว่ายาบ้า นพ.อังกูร กล่าวอีกว่า
อาการของผู้ที่เสพยาอี สามารถสังเกตได้เบื้องต้น คือ
- เมื่อกลับมาจากงานปาร์ตี้ แล้วมีอาการเหนื่อยล้า ซึมเศร้า
- เก็บตัวอยู่เฉพาะในห้อง หรือที่บ้านเท่านั้น เพราะพวกเขาได้สูญเสียสารแห่งความสุขไปจำนวนมาก
- บางคนอาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย เช่น ประสาทหลอน หูแว่ว
- เมื่อผู้ใช้ยาได้รับยาอีเข้าสู่ร่างกาย ระบบประสาทส่วนกลางจะถูกกระตุ้นอย่างแรง
- ผู้เสพจะรู้สึกสนุกสนาน มีอารมณ์เป็นสุข และมีอาการประสาทหลอน เห็นภาพ และได้ยินเสียงที่ผิดปกติ
- ความคิดสับสน หวาดวิตก
- อาการทางกายที่ปรากฎ คือ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น หายใจเร็ว นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อกระตุก มีอาการอยู่ไม่สุข
- ยาจะเริ่มออกฤทธิ์หลังจากเสพเข้าไปภายในเวลา 30 – 45 นาที
- มีฤทธิ์อยู่ในร่างกายได้ประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง แล้วถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อ และปัสสาวะ หมดภายในประมาณ 72 ชั่วโมง
ดังนั้น เมื่อบุตรหลานกลับมาจากเที่ยวกลางคืน ปาร์ตี้ อยากให้คอยสังเกตพฤติกรรมของพวกเขา สอบถามเรื่องของสุขภาพ อย่าดุด่าหรือโต้เถียงกับพวกเขา เนื่องจากพวกเขามักจะมีอาการซึมเศร้ารุนแรง อาจทำให้คิดฆ่าตัวตายได้
"ยาอีทั่วไป ในไทยมีคนใช้น้อย ไม่ได้ติดตลาด เนื่องด้วยราคา แต่เมื่อมีการปรับรูปลักษณ์ให้เป็นหมีพูห์ อาจจะเป็นการเปิดตลาดยาอีให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้ง่ายขึ้น และด้วยความรุนแรงของยาอี หากเข้าถึงวัยรุ่นจำนวนมาก สถานการณ์การใช้ยาเสพติดของประเทศไทยจะยิ่งย่ำแย่มากขึ้น ฉะนั้น ฝากเตือนไปยังเด็ก เยาวชน วัยรุ่น นักท่องเที่ยวกลางคืนอย่าไปยุ่งกับยาเสพติด โดยเฉพาะการเสพยาอีหมีพูห์คู่กับยานอนหลับชนิดรุนแรงจะทำให้เสียทั้งอนาคตและเสียชีวิตได้" นพ.อังกูร กล่าว
ฝากพ่อแม่ทำความเข้าใจยาเสพติด เมื่อพบขอให้เข้าบำบัด
ขณะนี้ทาง สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ห่วงใย เปิดสายด่วน 1156 และมีการประสานความร่วมมือการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลประจำตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งหากมีบุตรหลาน เสพยาเสพติด หรือยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้สามารถเข้ามาขอคำปรึกษา คำแนะนำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (คลิก)
รวมทั้ง เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี
"เมื่อพบว่าลูกหลานยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เบื้องต้นอยากให้พ่อแม่ค้นหาความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด และทำความเข้าใจถึงอาการ อันตรายจากยาเสพติด คอยสังเกตอาการ พูดคุยกับลูกอย่างเข้าใจ เปิดใจ และสามารถขอความรู้ ปรึกษาได้ตามช่องทางต่างๆ ของสบยช. และที่สำคัญ อยากให้พ่อแม่ยุคใหม่พยายามเป็นผู้ฟังลูกมากกว่าผู้พูด และขอให้เข้ากับเพื่อนๆ ของลูกให้ได้ เพราะเด็กไม่ว่าจะยุคสมัยใหม่ เขาก็จะติดเพื่อน อยู่กับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ หากเราเข้ากับเพื่อนของเขาได้ ก็จะได้อยู่ในสังคม ในโลกของเขา และพาเขาไปบำบัดตามสถานที่ต่างๆ" นพ.อังกูร กล่าว