สปสช.จัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์ ให้ผู้ป่วยโควิดแล้วเกือบ 2,000 ราย
สปสช. หลังเปิดให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โทรแจ้งอาการและขอรับยาผ่านสายด่วน 1330 สามารถส่งยาให้ผู้ป่วยใน กทม. และปริมณฑลเกือบ 2,000 ราย เผย สธ.สนับสนุนยาโมลนูพิราเวียร์ให้อีก 1.5 แสนเม็ด
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ในระยะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้ สปสช. จัดระบบเฉพาะกิจเป็นระบบเสริมเพื่อช่วยโรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ดูแลผู้ป่วย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา สปสช. ได้เปิดให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการดูแล สามารถโทรเข้าสายด่วน 1330 เพื่อแจ้งอาการ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการประเมินอาการในเบื้องต้น หากเข้าข่ายที่จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ก็จะดำเนินการจัดส่งยาให้ถึงบ้าน
ส่งยาฟาวิฯ ส่งผู้ป่วยแล้ว 2,000 คน
สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 23-30 ก.ค. ที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาแล้วทั้งสิ้น 1,941 เคส เตรียมนำจ่าย 361 เคส และอยู่ระหว่างการจัดส่งอีก 93 เคส ขณะที่เคสที่จัดส่งไม่สำเร็จมีจำนวน 25 เคส ส่วนมากจัดส่งไม่สำเร็จเพราะผู้ป่วยปิดบ้าน บริษัทหยุด ติดต่อผู้รับไม่ได้ และผู้รับปฏิเสธการรับ
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์ให้กับ สปสช. ซึ่งรอบแรกได้รับ 40,000 เม็ด และครั้งที่ 2 ได้รับอีก 100,000 เม็ดจากโรงพยาบาลราชวิถี และวานนี้ (1 ส.ค.2565) กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรยาโมลนูพิราเวียร์มาให้ สปสช.เพิ่มอีก 150,000 เม็ด ซึ่งผู้ป่วยที่โทรแจ้งสายด่วน 1330 ที่จำเป็นต้องได้รับยาในช่วงต่อไป จะได้รับยาโมลนูพิราเวียร์แทน
โดยยาตัวนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัสและลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงเช่นเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยได้รับการอนุมัติจากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข และ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ให้ใช้ในไทยแล้ว
สธ.หนุนยาโมลนูพิราเวียร์ พร้อมจัดส่งให้ผู้ป่วย
"ตามแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกรมการแพทย์ สปสช.จะจัดส่งยาโมลนูพิราเวียร์ให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยเน้นในกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ผู้มีภาวะอ้วน ผู้ป่วยตับแข็ง ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มี CD. cell count น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. แต่จะไม่ใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร" นพ.จเด็จ กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือ คลิก และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ