"ฝีดาษลิง" เปิดแนวทางปฏิบัติวินิจฉัยดูแลรักษาป้องกัน ฉบับล่าสุด
แนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อโรค "ฝีดาษลิง" หรือ ฝีดาษวานร (Monkeypox) จาก กรมการแพทย์ ฉบับล่าสุด
กรมการแพทย์ ออกประกาศฉบับล่าสุด (31 ก.ค.2565) แนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อโรค "ฝีดาษลิง" หรือ ฝีดาษวานร (Monkeypox)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไทยพบผู้ป่วยยืนยัน "ฝีดาษลิง"รายที่ 3 ชายต่างชาติ เตรียมวัคซีนฉีด 2 กลุ่ม
- เปิดแนวทางรักษา "ฝีดาษลิง" และ 6 กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง
โรค "ฝีดาษลิง" เป็นโรคที่อาการไม่รุนแรง หายเองได้ แต่จะมีอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและเด็กเล็กโดยมีอัตราการตายต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยระยะเวลามีอาการของโรคประมาณ 2-4 สัปดาห์ โรคนี้เพิ่งมีรายงานในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ดังนั้น จึงจําเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในทุกราย ซึ่งระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ 7-21 วัน
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการไข้และผื่น จะเริ่มจากตุ่มแดงประมาณ 5-7 วันหลังรับเชื้อและตุ่มจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแห้งเป็นสะเก็ด ตุ่มมีจำนวนมากน้อยตามความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของผู้ป่วย รวมระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
การแพร่กระจายเชื้อและการติดต่อส่วนใหญ่โดยการสัมผัสผื่นผู้ป่วยโดยตรงในระยะแพร่เชื้อ หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยยืนยัน อาจมีการติดต่อทางละอองฝอยได้ โดยเฉพาะหากมีการทําหัตถการที่ทําให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็ก
ผู้ป่วยต้องสงสัยเข้าข่ายติดเชื้อ ฝีดาษลิง มีลักษณะดังต่อไปนี้
1.ไข้ (อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส) หรือ ให้ประวัติมีไข้ร่วมกับอาการอย่างน้อย 1 อย่างต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
2.มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง หรือเคยมีผื่นหรือตุ่มกระจายตามใบหน้า ศีรษะ ลําตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า เป็นผื่นหรือตุ่มลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด โดยเป็นผื่นระยะเดียวกันพร้อมกันทั้งตัว หรือ เป็นผื่นที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาปกติ
รวมถึง การมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายในเวลา 21 วันที่ผ่านมา 1 ข้อดังต่อไปนี้
- มีประวัติการสัมผัสที่ทําให้แพทย์วินิจฉัยสงสัยโรคฝีดาษวานร
- มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ / เข้าร่วมงานหรือกิจกรรมที่เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ
- มีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่นําเข้ามาจากถิ่นระบาด เช่น ทวีปแอฟริกา
ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ ฝีดาษลิง
คือ ผู้ป่วยสงสัยที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันอย่างน้อย 2 ห้องปฏิบัติการ จากเทคนิคการตรวจข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- พบสารพันธุกรรม monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธี Real-time PCR จําเพาะต่อ MPXV
- พบสารพันธุกรรม monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธี DNA sequencing เพื่อหายีนที่จําเพาะต่อ MPXV
- พบเชื้อ monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธีเพาะเชื้อไวรัส
โดยผู้ป่วยยืนยัน จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อจําแนกว่าเป็นผู้ป่วยนําเข้า หรือ ผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศ โดยพิจารณาตามนิยามผู้ป่วยนําเข้า
การรักษา
สำหรับการรักษาตามอาการ เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วย เช่น ลดไข้ ลดอาการไม่สบายจากตุ่มหนอง และดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน, การรักษาจำเพาะ ยาต้านไวรัสจำเพาะเป็นยาที่ใช้ในการรักษาอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ทั้งนี้ ยาที่มีรายงานให้รายผู้ป่วยที่อาการรุนแรง คือ tecovirimat (TPOXX)
ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อโรครุนแรง ได้แก่ กลุ่ม ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี , มะเร็งเม็ดเลือด ได้แก่ leukemia, lymphoma, โรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ , ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ , ผู้ได้รับการรักษาด้วย alkylating agents, antimetabolites, radiation, tumor necrosis factor inhibitors , high-dose corticosteroids , ผู้ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกมาภายใน 2 ปี หรือตั้งแต่2 ปีขึ้นไป แต่มีภาวะ graft-versus-host disease หรือโรคเดิมกำเริบ , โรค autoimmune disease ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเด็ก , เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปี