"ไฟไหม้" ผับ "MountainB" บทเรียนและคำถามถึง ก.ม.ความปลอดภัยสถานบริการ

"ไฟไหม้" ผับ "MountainB" บทเรียนและคำถามถึง ก.ม.ความปลอดภัยสถานบริการ

สำรวจกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยสถานบริการ จากซาติก้าผับ พ.ศ. 2552 ถึงกรณีไฟไหม้ MountainB พ.ศ. 2565 อะไรคือบทเรียนและคำถามที่สังคมไทยต้องตอบไปพร้อมๆกัน

กรณีเพลิงไหม้สถานบันเทิงผับ MountainB ตั้งอยู่บริเวณปากซอยเขาหมอน ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตจำนวนหลายราย นำมาซึ่งความเสียใจและการตั้งคำถามอีกครั้งถึงการบังใช้กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยของสถานบริการ

นางสาวบุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ว่า สถานบันเทิงผับ MountainB ชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของการให้บริการ นั่นหมายความว่า การควบคุมความปลอดภัยของMountainB ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ. 2555

โดยเฉพาะในหมวดที่ 5 ระบุเรื่อง ทางออก ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ และประตูหนีไฟ ซึ่งจำนวนทางออกและประตูทางออกในสถานบริการต้องสอดคล้องกับจำนวนคนสูงสุดที่อยู่ในพื้นที่สถานบริการนั้น โดยสถานบริการจะต้องมีจำนวนทางออกและประตูทางออกไปสู่ทางหนีไฟหรือออกสู่ภายนอกอาคารตามที่กำหนด

“กฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยมีกรณีซานติก้าผับเมื่อปี 2552 เป็นบทเรียน เรามีบทเรียนที่ร้ายแรงเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ส่วนตัวยังไม่ได้ดูผังอาคาร แต่ตั้งคำถามถึงวัสดุ ประตูทางออก ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับ” ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วสท. กล่าว

สำหรับ กฎกระทรวงซึ่งว่าด้วยความปลอดภัยของอาคารนี้ มีเนื้อหาเน้นไปที่วัสดุอุปกรณ์ของสถานบริการ เช่น ผนังทนไฟ ซึ่งต้องผนังที่ทำด้วยวัสดุทนไฟที่มีคุณสมบัติในการป้องกันไฟได้ดีและมีอัตราการทนไฟเป็นไปตามที่กำหนด ทางหนีไฟ โดยเฉพาะประตูหนีไฟที่เป็นคำถามทุกครั้งกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ได้แก่ 

  • จำนวนคนสูงสุด ไม่เกิน 50 คน  จำนวนทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 1 แห่ง
  • จำนวนคนสูงสุด ตั้งแต่ 51-200 คน จำนวนทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 2
  • จำนวนคนสูงสุด ตั้งแต่ 201-400 คน จำนวนทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 3 แห่ง
  • จำนวนคนสูงสุด ตั้งแต่ 401-700 คน จำนวนทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 4 แห่ง
  • จำนวนคนสูงสุด ตั้งแต่ 701-1,000 คน จำนวนทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 5 แห่ง
  •  จำนวนคนสูงสุด ตั้งแต่ 1,001 คนขึ้นไป  จำนวนทางออกและประตูทางออกไม่น้อยกว่า 6 แห่ง

 

  • กฎหมายอาคารกับการใช้งานจริง

นอกจากกฎหมายความปลอดภัยสถานบริการแล้ว ในการก่อสร้างอาคารยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารทั่วไป โดยต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงและระบบดับเพลิง ประกอบด้วยกฎกระทรวงฉบับที่ 33, 39, 47, 48, 50, 55 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร

เช่น เนื้อหาในกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ซึ่งระบุในข้อ16 ในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทุกชั้น ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้อย่างน้อยต้องประกอบด้วย

อุปกรณ์ส่งสัญญาณเพื่อให้หนีไฟที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินหรือทราบทั่วถึง

อุปกรณ์แจ้งเหตุที่มีทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือเพื่อให้อุปกรณ์ตาม (1) ทำงาน

กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ.2537) ซึ่งระบุว่าอาคารดังต่อไปนี้ต้องมีวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยตามที่กําหนดในกฎกระทรวง ได้แก่ ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว บ้านแฝด และอาคารขนาดอื่นๆ

ทั้งนี้กฎหมายทุกฉบับระบุว่า อาคาร ตึกแถว ทุกชนิดต้องมีเครื่องดับเพลิงในจำนวนและขนาดสอดคล้องกับขนาดพื้นที่ และยิ่งเป็นอาคารสูงก็ต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ อย่างน้อย 1 เครื่อง ทุกชั้น และทุกคูหา  - หากพื้นที่เกิน 2,000 ตรม. ต้องมีป้ายทางหนีไฟทุกชั้น และตัวอักษรไม่เล็กกว่า 10 ซม.

ถึงเช่นนั้นอาคารสูงที่หลายคนคิดว่าเป็นอันตราย ยังไม่น่ากังวลมากกว่าอาคารขนาดเล็กที่มีการดัดแปลง ต่อเติม และนำมาใช้ผิดประเภท เช่น นำไปใช้เป็นสถานบริการร้านอาหาร โรงเรียนสอนพิเศษ คาเฟ่ ฯลฯ จนทำให้ลักษณะการใช้งานไม่เหมาะสมกับอาคารซึ่งเข้าข่ายอันตรายมาก

ที่สำคัญตั้งอยู่ตามตรอก ซอก ซอย ขณะที่หากเกิดไฟไหม้ขึ้น ทำเลที่คับแคบจะทำให้การช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ยากมาก อีกทั้งรถดับเพลิงยังเข้าไปสกัดเพลิงได้ลำบาก หรือบางแห่งต้องนำรถยนต์คันเล็กเข้าไปดับเพลิง ซึ่งอาจมีน้ำไม่เพียงพอที่จะใช้ดับไฟ

ไฟไหม้ผับMountainB ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จึงเป็น (อีก)  บทเรียนราคาแพงและคำถามดังๆ อีกครั้งถึง ก.ม.ความปลอดภัยสถานประกอบการ ว่าบังคับใช้ได้จริงๆหรือไม่

ที่มา : สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค