"หมอธีระ" เปิดผลวิจัย Long COVID ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

"หมอธีระ" เปิดผลวิจัย Long COVID ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

"หมอธีระ" เปิดผลวิจัย Long COVID ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมาก ขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 553,076 คน ตายเพิ่ม 726 คน รวมแล้วติดไป 589,300,587 คน เสียชีวิตรวม 6,436,340 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี ออสเตรเลีย และไต้หวัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.98 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.2

สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

Long COVID ในสหราชอาณาจักร

ข้อมูลจาก Office for National Statistics สหราชอาณาจักร วันที่ 4 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

ประเมินว่าขณะนี้มีคนประสบปัญหา Long COVID อยู่ราว 1.8 ล้านคน คิดเป็น 2.8% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

หากวิเคราะห์กลุ่มผู้ป่วย Long COVID ทั้งหมดนั้น มีราว 243,000 คน (14%) ที่เพิ่งประสบภาวะนี้มาน้อยกว่า 12 สัปดาห์

ในขณะที่กว่า 1.4 ล้านคน (81%) ประสบปัญหามายาวนานอย่างน้อย 12 สัปดาห์ 761,000 คน (43%) เผชิญกับ Long COVID มาอย่างน้อย 1 ปี และมีจำนวนถึง 380,000 คน (21%) ที่ทรมานกับ Long COVID มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี

ผู้ป่วยLong COVID ที่มีอยู่ทั้งหมดนั้น ราว 1 ใน 3 (เกือบหกแสนคน) ที่เกิดขึ้นในช่วงระบาดของ Omicron

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ผลกระทบของ Long COVID ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ข้อมูลของ ONS ชี้ให้เห็นว่า 1.3 ล้านคน (72% ของจำนวนผู้ป่วย Long COVID ทั้งหมด) ระบุว่าส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

ในขณะที่มีถึง 1 ใน 5 ของผู้ป่วยทั้งหมด ที่ยอมรับว่า Long COVID กระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมาก

สถานการณ์ของไทยเรานั้น จำนวนผู้ติดเชื้อจริงในแต่ละวันนั้นจะสูงกว่าที่เห็นตัวเลขรายงานประจำวันซึ่งเลือกรายงานเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น

ดังที่เคยบอกไปแล้วว่า การติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ และผลกระทบที่ทั่วโลกกังวลคือ Long COVID ที่จะทำให้มีผู้คนจำนวนมากที่ประสบกับปัญหาการเจ็บป่วยระยะยาว ทุพพลภาพ และเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

ปัญหาท้าทายของไทยคือ ไม่มีการนำเสนอตัวเลขรายละเอียดเหมือนประเทศอื่น ซึ่งจะทำให้ทั้งประชาชน นายจ้าง และหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วนนั้นยากที่จะทำการวางแผนรับมือ ดูแล สนับสนุน ช่วยเหลือ

เปรียบเหมือนการรอให้สึนามิถล่มมา แล้วค่อยหาทางเอาตัวรอด

อย่างไรก็ตาม หากเราติดตามข้อมูลรายละเอียดของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประชาชนไทยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน ก็ควรหมั่นประเมินสถานะสุขภาพของตนเองเป็นระยะ ตรวจสุขภาพหลังหายจากการติดเชื้อมาแล้วราว 3-6 เดือน และปรึกษาแพทย์หากพบอาการผิดปกติของร่างกาย ความคิด จิตใจ อารมณ์

นอกจากนี้ นายจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่สาธารณสุข ก็ควรพิจารณานโยบาย มาตรการ และพัฒนากลไกภายในหน่วยงาน เพื่อประเมินสถานะสุขภาพ และแนวทางสนับสนุน ช่วยเหลือทางสังคมให้แก่ผู้ที่ประสบภาวะ Long COVID สำหรับบุคลากรของตน รวมถึงประชาชนในขอบเขตที่หน่วยงานรับผิดชอบ ก็น่าจะสามารถลดผลกระทบไปได้บ้างไม่มากก็น้อย

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ เป็นหัวใจสำคัญ