กรมวิทย์เปิดรับอาสาสมัคร 3 กลุ่มอายุ  ทดสอบภูมิคุ้มกันฝีดาษลิง

กรมวิทย์เปิดรับอาสาสมัคร 3 กลุ่มอายุ  ทดสอบภูมิคุ้มกันฝีดาษลิง

กรมวิทย์เผยผู้ป่วยยืนยันฝีดาษลิงในไทย 4 ราย  สายพันธุ์ย่อยต่างกัน พบเพียง 1 ราย เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดทั่วโลกตอนนี้  เปิดรับอาสาสมัคร 3 กลุ่ม อายุเคยรับวัคซีนฝีดาษ  ทดสอบภูมิคุ้มกัน

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวอัปเดตสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง(Monkeypox) ในไทย ว่า การติดเชื้อทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งจะมี 2 สายพันธุ์ใหญ่คือ B.1 และ A.2 ที่พบมากคือ B.1 ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทั่วโลกกว่า 3 หมื่นราย ส่วนประเทศไทย ยังพบผู้ติดเชื้อ 4 ราย จำนวนยังน้อยอยู่ ซึ่งไทยพบเป็น A.2 มากกว่า จำนวน 3 ราย

  โดยมี B.1 เพียงรายเดียว คือ รายที่ 2 ชายไทย รักษาที่ รพ.วชิระพยาบาล ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเพราะเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกเหมือนกัน อาการจะไม่รุนแรง ต่างกับสายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่จะอาการรุนแรงมากกว่า ทั้งนี้ ทั่วโลกมีผู้ป่วย 3 หมื่นกว่าราย ยืนยันเสียชีวิต 5 ราย ถือว่าสัดส่วนน้อย สาเหตุส่วนใหญ่คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางรายมีอาการหนักเพราะติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย

  ขณะนี้กรมวิทย์ฯ เพาะเชื้อฝีดาษลิงได้จำนวนมากพอที่จะนำไปทดสอบกับภูมิคุ้มกันจากผู้ที่เคยได้รับวัคซีนฝีดาษ(Smallpox) ซึ่งคนสุดท้ายในไทยก็น่าจะปลูกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว หรือราวๆ ปี พ.ศ.2523 - 2524 ฉะนั้น กรมวิทย์ฯ ก็จะเปิดรับอาสาสมัครใน 3 กลุ่ม คือ ผู้ที่อายุ 40 , 50 และ 60 ปีขึ้นไป จำนวนกลุ่มละ 10 คน ก็จะอยู่ราวๆ 30 - 40 ตัวอย่าง โดยเมื่อได้รับเลือดมาแล้วก็จะนำมาทดสอบ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะทราบผลว่าภูมิฯ จะป้องกันได้มากน้อยอย่างไร ต่างกันอย่างไร ในแต่ละช่วงอายุที่รับได้วัคซีน ซึ่งจากข้อมูลระบุว่า สามารถป้องกันได้ 85% จะยังโอเคหรือไม่ โดยจะนำมาเป็นฐานข้อมูลของคนไทย

         ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ สามารถตรวจหาเชื้อได้แล้ว ส่วนห้องปฏิบัติการ(แล็บ) ใน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ สามารถแสดงเจตจำนงมาที่กรมวิทยฯ เพื่อทดสอบความชำนาญของแล็บตามเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อได้รับอนุญาตให้ตรวจได้ในแล็บระดับ 2+ ป้องกันเชื้อรั่วไหล

    “ประชาชนไม่มีความจำเป็นต้องไปตรวจว่ามีฝีดาษลิงหรือไม่ เสียเงินเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์ ยกเว้นแต่มีความเสี่ยง เป็นผู้สัมผัสเสี่ยง ก็ให้ตรวจได้ แต่ด้วยต้นทุนที่ยังสูงอยู่ ก็จะหารือกัน เพื่อลดต้นทุนในระดับที่เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

     ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีผู้ป่วยสงสัย ชายชาวฝรั่งเศส จ.ตราด ที่มีแผลคล้ายฝีดาษลิงมาตรวจหาเชื้อ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ผู้ป่วยมีประวัติไข้ร่วมกับมีแผลที่อวัยวะเพศมานานแล้วมากกว่า 1 เดือน ทาง รพ.จึงเก็บตัวอย่างจากเลือด และช่องคอมาตรวจ ผลเป็นลบ ส่วนตัวอย่างจากแผลตัวอย่างแรกไม่สมบูรณ์ให้ค่าที่แปลไม่ชัด จึงต้องเก็บมาตรวจใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม รายนี้มาพบแพทย์ค่อนข้างช้า มีอาการเป็นเดือนแล้วเพิ่งมา หากมีเชื้อจริงก็ไม่อยู่ให้ตรวจแล้ว จึงต้องเก็บตัวอย่างบางส่วนมาทำ Genome sequencing เพื่อยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ แต่เบื้องต้นก็คาดว่า จะเป็นลบเพราะตัวอย่างจากช่องคอกับเลือด เป็นลบ

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์