เจอฤทธิ์ "พายุมู่หลาน" เช็กพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน 11-17 ส.ค. 65
"พายุมู่หลาน" ขึ้นฝั่งเวียดนาม ไทยยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง เช็กพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ช่วงวันที่ 11 - 17 สิงหาคม 2565
วันที่ 11 สิงหาคม 2565 "พายุมู่หลาน" ขึ้นฝั่งเวียดนามแล้ว ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก โดย กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำ หลัง "พายุมู่หลาน" ขึ้นฝั่งเวียดนามวันนี้ ระบุว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.บึงกาฬ (153 มม.) จ.ปราจีนบุรี (111 มม.) และ จ.เชียงใหม่ (74 มม.)
พื้นที่ประสบอุทกภัย ในระหว่างวันที่ 7 - 10 สิงหาคม 2565 บริเวณ จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิจิตร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และพิจิตร
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น "ปริมาณน้ำ" แหล่งน้ำทุกขนาด 47,432 ล้าน ลบ.ม. (58%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 41,226 ล้าน ลบ.ม. (58%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (1 แห่ง)
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 11 - 17 สิงหาคม 2565 มีดังนี้
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ : จ.เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน น่าน พิษณุโลก และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และศรีสะเกษ ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขาของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 9 แห่ง ได้แก่
- อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่
- อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จ.ลำปาง
- บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์
- อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี
- อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร
- อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
- อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี
- อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง
รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
จากสถานการณ์ฝนตกหนักหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีมวลน้ำไหลหลากมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงวันที่ 10 - 16 สิงหาคม 2565 อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
ดังนั้นขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำป่าสัก และผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องจากสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน 11 - 17 สิงหาคม 2565 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด
สำหรับการคาดการณ์สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 11 - 13 สิงหาคม 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง
ในขณะที่พายุโซนร้อน "มู่หลาน" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก