เทียบการแก้น้ำท่วม ‘กทม.-ลอนดอน-โซล-จาการ์ตา’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
ฤดูฝนน่าจะเป็นฤดูที่คนกรุงเทพฯ กลัวที่สุด เพราะ ฝนตก = รถติด = หารถกลับบ้านยาก ทำให้ชีวิตการทำงานและสัญจรนั้นลำบากอย่างยิ่ง
กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นเมืองหลวงที่วิเศษหรือเป็นเมืองที่ทำเลที่ตั้งแย่ที่สุด ที่ทำให้เกิดปัญหาฝนตก น้ำระบายไม่ทันจนเกิดเป็นน้ำท่วมฉับพลันเพียงที่เดียวในโลก เมืองใหญ่ทั่วโลกก็ล้วนเคยประสบปัญหานี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรุงลอนดอน นครนิวยอร์ก หรือแม้กระทั่งกรุงโซลของเกาหลีใต้ ที่เพิ่มเกิดน้ำท่วมใหญ่ล่าสุด เหตุเพราะปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก เรียกได้ว่าหนักที่สุดในรอบ 80 ปี
กรุงเทพฯ ลอนดอน และโซล ต่างเป็นเมืองหลวงตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องด้วยทำเลที่ตั้งริมแม่น้ำใหญ่เพื่อความสะดวกต่อการสัญจรเดินทางและเพาะปลูก หากกรุงเทพฯ มีเจ้าพระยาเป็นเส้นเลือดหลัก ลอนดอนก็มีแม่น้ำเทมส์ และโซลก็มีแม่น้ำฮัน โดยเมืองหลวงทั้ง 3 มีแม่น้ำเหล่านี้ผ่ากลางเมืองที่ขยายขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับคลองสาขาอีกมากมาย
แต่สิ่งที่กรุงเทพฯ ลอนดอน และโซล มีความแตกต่างกันคือ แผนการรับมือกับน้ำท่วมในระยะยาว กรุงเทพฯ อาจจะมีทั้งแก้มลิง ฟลัดเวย์ อุโมงค์ยักษ์ สะพานน้ำ ขณะที่ลอนดอนนั้นมีเขื่อนกั้นรอบแม่น้ำเทมส์ เช่นเดียวกับโซลที่ยกระดับพื้นที่ริมแม่น้ำฮันให้สูงขึ้น ตลอดจนมีการพัฒนาระบบคลองอย่าง “ชองกเยชอน” เพื่อเป็นตัวช่วยในการระบายน้ำ เป็นต้น
รัฐบาลอังกฤษได้มีการวางแผนการรับมือป้องกันจัดการน้ำท่วมแล้วกว่า 1,500 โครงการ ภายใต้งบประมาณกว่า 171,600 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2558-2564 แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการให้ความสำคัญโดยการโปรยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลกับเมืองหลวงอย่างลอนดอนและปริมณฑลเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ
ยกตัวอย่างเช่น เม็ดเงินในการป้องกันน้ำท่วมเฉลี่ยต่อจำนวนประชากรต่อหัวเปรียบเทียบระหว่างลอนดอนที่ 116 ปอนด์ กับเมืองบริเวณภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ 180 ปอนด์ต่อหัว ขณะที่เมืองบริเวณภูมิภาคอื่น ๆ อาทิ West Midlands ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 3 ปีก่อนนั้น ที่ได้รับเพียง 14 ปอนด์และภูมิภาคในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศที่ 33 ปอนด์ต่อหัว
กลับมาที่กรุงเทพฯ ต้นตอของปัญหาน้ำท่วมนั้น แท้จริงแล้ว เป็นปัญหาที่ทุกคนล้วนมีส่วนร่วมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การพัฒนาของเศรษฐกิจและที่ดินบนพื้นที่ลุ่มน้ำแต่เดิม การถมคลอง หรือปัญหาในเชิงพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ อาทิ การทิ้งขยะ การละเลยการบำบัดน้ำและของเสีย ทั้งจากครัวเรือนและที่สำคัญจากร้านอาหาร โดยเฉพาะหาบเร่แผงลอย
ปัญหาของน้ำท่วมกรุงเทพฯ คือการระบายน้ำจากเส้นเลือดฝอย คือท่อระบายน้ำตามถนนหรือบ้านเรือนนั้นไม่ทันต่อปริมาณน้ำฝนที่มากในช่วงเวลาสั้น ๆ เวลาฝนตกใหญ่ และท่อระบายเหล่านั้นก็ยังอุดตันไปด้วยขยะและไขมัน ดังนั้น โครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นฟลัดเวย์ ทางด่วนน้ำ อุโมงค์ยักษ์ หรือแม้กระทั่งแก้มลิงธรรมชาตินั้นจึงไม่สามารถทำแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ได้ เพราะน้ำไม่ได้ไหลจากเส้นเลือดฝอยสู่เส้นเลือดใหญ่เหล่านี้
ดังนั้น เกือบทุกทางออกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ นั้น สามารถพูดได้ว่า เป็นการบรรเทาอาการ มิใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอ หากจะพูดอย่างไม่เกรงใจคนฟังและตรงไปตรงมากที่สุด ก็สามารถทำนายได้ว่า กรุงเทพฯ จะยังคงมีน้ำท่วมต่อไป หากปัญหาเชิงโครงสร้างและพฤติกรรมของคนกรุงฯยังไม่เปลี่ยน
กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย ก็เป็นเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ซ้ำร้ายยังมีความเหมือนทางด้านปัญหาประชากรหนาแน่น การจราจรที่ติดขัดแสนสาหัส ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าอาการหนักกว่ากรุงเทพฯ เสียอีก
รัฐบาลอินโดฯมีความพยายามในการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนในที่สุดตัดสินใจย้ายเมืองหลวง ซึ่งก็ถือเป็นกรณีศึกษาชั้นดีให้กับเมืองใหญ่ในหลายประเทศที่ประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน อันเนื่องมาจากการพัฒนาเมืองที่รวดเร็วกับการจัดระบบผังเมืองที่แย่เป็นทุนเดิม
ดังนั้น “กรุงเทพฯ…ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” นั้น ไม่มีทางลงตัวแน่นอนทุกครั้งที่ฝนตกหนัก ๆ