17 ส.ค. "วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ" จาก "มาเรียม" ถึง "ภาระดอน" ภารกิจสุดหิน!

17 ส.ค. "วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ" จาก "มาเรียม" ถึง "ภาระดอน" ภารกิจสุดหิน!

17 สิงหาคม "วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ" ชวนย้อนรอยเคสพะยูน "มาเรียม" จนมาถึงเคสล่าสุด..โลมาอิรวดี "ภาระดอน" ที่พบเกยตื้น ณ อ่าวไทยฝั่งตะวันออก กับภารกิจดูแลลูกสัตว์ทะเลกำพร้าที่ไม่เคยง่าย!

ย้อนกลับไปในปี 2562 หลายคนยังคงจำได้ดีว่าวันนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว “น้องมาเรียม” ลูกพะยูนน้อยขวัญใจชาวไทยแห่งเกาะลิบง จ.ตรัง ได้จากไปอย่างสงบ โดยพบสาเหตุการตายเกิดจากการอุดตันของลำไส้เล็กจากขยะพลาสติก ทำให้ลำไส้บวมมาก ปวดท้อง มีผิวหนังตายที่ลำไส้ด้านใน ร่างกายขาดน้ำ ปอดเป็นหนอง ติดเชื้อในกระแสเลือด จนทำให้เกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตในที่สุด

แม้ว่าก่อนหน้านั้น ทีมสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลฯ และอาสาสมัครกลุ่มพิทักษ์ดุหยง จะช่วยกันดูแลและฟื้นฟูร่างกายให้มาเรียมเป็นอย่างดีตลอด 24 ชั่วโมง จนมีอาการดีขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม

โดยขั้นตอนการดูแลมาเรียมของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในครั้งนั้น มีตั้งแต่การป้อนนม, ฝึกให้กินหญ้าทะเล, การตรวจร่างกาย, การพายเรือ (แม่ส้ม) พาไปว่ายน้ำออกกำลังกาย, การลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำ, การวางตาข่ายป้องกันแมงกะพรุน, การขอความร่วมมือเรือประมงไม่ให้เข้าใกล้จุดที่อนุบาลน้อง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนต้องใช้ความตั้งใจ ความอดทน และความเสียสละอย่างมากจากทีมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย

17 ส.ค. \"วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ\" จาก \"มาเรียม\" ถึง \"ภาระดอน\" ภารกิจสุดหิน! ภาพ : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

แม้สุดท้าย ผู้ดูแลและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะไม่สามารถยื้อชีวิตมาเรียมไว้ได้ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้สร้างความตระหนักถึงการอนุรักษ์ “พะยูน” ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศท้องทะเลไทย รวมถึงกลายเป็นการถอดบทเรียนครั้งสำคัญให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและคนไทยทั้งประเทศ ได้เรียนรู้เรื่องวิธีการปฐมพยาบาล ฟื้นฟู และดูแลสัตว์หายากในไทยในเคสอื่นๆ ต่อไปด้วย

นอกจากเคส “น้องมาเรียม” แล้ว การเกยตื้นของสัตว์ทะเล (กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น พะยูน วาฬ โลมา) เคสอื่นๆ ก็มีให้เห็นในชายฝั่งทะเลไทยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น “ยามีล” พะยูนน้อยเพศผู้ที่ตายหลังจากมาเรียมไม่นาน และ “โฮป” วาฬหัวทุยแคระที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น

โดยสาเหตุการตายก็คล้ายๆ กันคือ ลำไส้อักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วเกิดภาวะช็อคจนเสียชีวิต ซึ่งหลายครั้งที่ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถช่วยเหลือพวกมันให้รอดชีวิตได้ เพราะสัตว์ทะเลที่มาเกยตื้นส่วนใหญ่จะมีโอกาสรอดชีวิต​เพียง 1% เท่านั้น

ล่าสุด.. กับเคส “น้องภาระดอน” ลูกโลมาอิรวดีที่พบเกยตื้นที่ จ.ตราด โดยไม่พบแม่โลมาในบริเวณใกล้เคียง ต่อมาเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.ระยอง ได้เข้าช่วยเหลือและนำมาดูแลฟื้นฟูตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

มีข้อมูลจากเพจ thaiwhales ระบุว่า ส่วนมากเมื่อโลมาและวาฬเข้ามาเกยตื้น อาการมักจะค่อนข้างซีเรียส ไม่สามารถทรงตัวว่ายน้ำได้เอง ในเคส “ภาระดอน” ก็เช่นกัน เจ้าหน้าที่ต้องประคองและผลัดเวรเฝ้าดูอาการกัน 24 ชั่วโมง ให้การรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้น้องแข็งแรงขึ้น

17 ส.ค. \"วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ\" จาก \"มาเรียม\" ถึง \"ภาระดอน\" ภารกิจสุดหิน! ภาพ : thaiwhales

สำหรับ การดูแลฟื้นฟูร่างกาย “น้องภาระดอน” ของเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยฝั่งตะวันออก มีไทม์ไลน์คร่าวๆ ดังนี้

22-28 ก.ค. 65 : เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ “ภาระดอน” นำมาดูแลฟื้นฟูในบ่อพักฟื้น ช่วงแรกน้องทรงตัวไม่ได้ ว่ายน้ำไม่ได้ มีบาดแผลตามตัว สัตวแพทย์ให้ยารักษา ป้อนนม พร้อมฝึกทรงตัวว่ายน้ำ

29 ก.ค. 65 : โลมาอิรวดีน้อย “ภาระดอน” เริ่มว่ายนำ้เองได้ หลังจากได้นมและการรักษาจากทีมสัตวแพทย์ เริ่มมีพลังกายที่ดีขึ้น

30 ก.ค. 65 : น้องเริ่มทรงตัวว่ายน้ำเองได้บ้างแล้ว

31 ก.ค. 65 : สัตวแพทย์ของศูนย์วิจัยฯ อ่าวไทยฝั่งตะวันออก และทีมสัตวแพทย์ ทช. ต้องหาวิธีป้อนนมให้น้องกินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถป้อนได้ เปลี่ยนท่าไปมา มีทั้งเดินให้ ให้ปริ่มๆ น้ำ ให้ที่อก พยายามให้น้องดูดเองเยอะๆ น้องมาขอนมกินบ่อยขึ้นๆ

1 ส.ค. 65 : เริ่มกินนมเองได้แล้ว ขอนมตลอดเวลา ยังมีการให้นมทางสายยางร่วมด้วย เริ่มว่ายน้ำได้มากขึ้น บางครั้งก็ดีดแรงๆ บ้าง สัตวแพทย์และพี่เลี้ยงจึงต้องระวังกันมากเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้น้องเจ็บตัวจากการชนบ่อยาง มีการวางแผนงานผลัดเวรกันดูแล 24 ชม. และหาอาสาสมัครเพิ่ม

2 ส.ค. 65 : อาสาสมัครผลัดกันป้อนนมให้น้อง ทั้งกลางวัน-กลางคืน ในกะกลางคืนมีนักศึกษาฝึกงานสัตวแพทย์จาก มหาวิทยาลัยมหิดล มาช่วยป้อนนมให้น้องตอนตี3-ตี4

3 ส.ค. 65 : การช่วยเหลือลูกโลมาเกยตื้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย หลังจากภาระดอนเริ่มว่ายน้ำทรงตัวได้เอง ดูดนมได้เอง ทีมสัตวแพทย์จึงลองหยุดให้อาหารทางสายยาง เมื่อคืนน้องยังกินได้อยู่ แต่เช้านี้ดูเซื่องๆ ไม่ active และหลับเยอะกว่าเดิม อาการทรงๆ ไม่ดีขึ้น เย็นนี้หากไม่ดีขึ้นคุณหมอจะพิจารณาให้อาหารทางสายยางอีกครั้ง สัตวแพทย์และพี่เลี้ยงต้องคอยดูอาการตลอดเวลา

5 ส.ค. 65 : สำหรับนมที่ใช้ป้อนภาระดอน ทีมสัตวแพทย์อธิบายว่าช่วงแรกใช้นมสำหรับลูกแมวลูกหมา KMR พร้อมเติมสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็น หลังจากนั้นปรับมาใช้นม Zoologic และเติมส่วนผสมอื่นๆ ตามสูตรเฉพาะเพื่อเลี้ยงลูกสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง “โลมา”

8 ส.ค. 65 : เกิดฝนตกหนักติดกันอยู่หลายวัน ทำให้บ่ออนุบาลชั่วคราวมีอุณหภูมิน้ำช่วงกลางคืนเย็นมากเกินไปหน่อย ทีมอาสาสมัครและสัตวแพทย์จึงใส่ฮีตเตอร์เพิ่มอุณหภูมิในบ่อ เพื่อช่วยทำความร้อนไม่ให้น้ำหนาวเย็นเกินไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและน้องภาระดอนอุ่นขึ้น  (หลังจากนั้นมา ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติม)

ทั้งนี้ โลมาอิรวดี เป็นสัตว์คุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และเพิ่งได้รับการเห็นชอบจากการเสนอให้เข้าเป็นสัตว์สงวนโดยคณะกรรมการทะเลแห่งชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ก็จัดให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Endangered)

-----------------------------------------

อ้างอิง : thaiwhalesngthai