ส่อง Top 10 ประเทศ "ประชากรสูงสุด" ภายในปี 2593
“สหประชาชาติ” เผยแพร่ข้อมูล “ประชากรโลก” ล่าสุด “อินเดีย” จ่อเตรียมขึ้นแท่นประเทศที่มีประชากรสูงสุดในโลกแซงหน้า “จีน” ภายในปี 2569 และในสิ้นปีนี้ประชากรโลกจะแตะ 8,000 ล้านคน
สหประชาชาติ หรือ UN ได้เผยแพร่ข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับแนวโน้มประชากรโลกทุก 2 ปี โดยได้เผยแพร่ข้อมูล “แนวโน้มประชากรโลก” ฉบับที่ 27 เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา เนื่องใน “วันประชากรโลก” (World Population Day) โดยกรุงเทพธุรกิจได้สรุปสาระสำคัญมาให้อ่านอย่างครบถ้วนดังนี้
อินเดียจะมีจำนวนประชากรแซงหน้าจีน
แม้ว่าจีนครองตำแหน่งอันดับ 1 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมาอย่างยาวนานด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน แต่อัตราการเติบโตของประชากรในจีนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ทั้งด้วย “นโยบายลูกคนเดียว” ที่ริเริ่มในปี 2522 ในยุคของรัฐบาล “เติ้ง เสี่ยวผิง” เพื่อควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป ทำให้หลายครอบครัวเลือกที่จะไปทำแท้งเมื่อรู้ว่ากำลังจะได้ลูกสาว ตามความเชื่อของคนจีนที่มักอยากจะได้ลูกชายไว้สืบสกุลมากกว่า
นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังส่งผลกระทบในระยะยาวให้แก่จีน ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดแคลนแรงงาน จำนวนประชากรชายที่มากกว่าหญิงหลายเท่าตัว ตลอดจนการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2559
ต่อมาในปี 2564 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้อนุมัตินโยบายนโยบาย “ลูก 3 คน” แทน พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีลูกด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การให้เงินโบนัสในการมีบุตร การอุดหนุนการคลอดบุตรและการช่วยเหลือค่าเรียนการศึกษาของเด็ก แต่ดูเหมือนว่านโยบายนี้จะมาช้าไป
จากข้อมูลอัตราการเกิดประจำปี 2564 ของคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติของจีนพบว่า ในหลายมณฑลของจีนมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และบางพื้นที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี โดยมีอัตราการเกิดเฉลี่ยเพียง 7.52 คนต่อประชากร 1,000 คน
"กวางตุ้ง" ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมณฑลที่ร่ำรวยและมีประชากรมากที่สุดในจีนนั้น เป็นเพียงมณฑลเดียวจาก 31 มณฑลที่มีเด็กเกิดใหม่ในปีที่แล้วมากกว่า 1 ล้านคน ส่วนมณฑลหูหนาน มีอัตราการเกิดต่ำกว่า 500,000 คนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 60 ปี ขณะที่มณฑลเจียงซี ทางภาคตะวันออกของประเทศ มีอัตราการเกิดใหม่ต่ำกว่า 400,000 คนเป็นครั้งแรกนับจากทศวรรษ 1950
หยาง เหวินจ้วง หัวหน้าฝ่ายกิจการประชากรและการวางแผน ของคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติของจีน บอกว่า คาดว่าประชากรจีนจะเริ่มหดตัวลงอีกในระหว่างปี 2564-2569 เนื่องจากคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่มีลูก ด้วยเหตุผลด้านค่าครองชีพและภาวะความกดดันจากการทำงาน
ขณะที่อินเดีย แม้ว่าจะมีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงจาก 5.7 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนในทศวรรษที่ 1950 เหลือเพียง 2 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนในปัจจุบัน แต่อัตราอัตราการลดลงนี้เป็นอย่างช้า ๆ ซึ่งแตกต่างจากที่มีนโยบายลูกคนเดียว โดยจากข้อมูลของสหประชาชาติพบว่า ในปี 2568 จำนวนประชากรของจีนและอินเดียจะมีเท่ากันที่ 1,430 ล้านคน ก่อนที่อินเดียจะแซงหน้าจีนในปี 2569 ด้วยจำนวนประชากร 1,440 ล้านคน ส่วนจีนยังคงอยู่ที่ 1,430 ล้าน
นอกจากนี้ รายงานยังพบว่า การเติบโตของประชากรโลกมากกว่าครึ่งตั้งแต่ปัจจุบันจะถึงปี 2593 จะกระจุกตัวอยู่ใน 8 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สหรัฐ และแทนซาเนีย
สำหรับ 10 อันดับประเทศที่มีประชากรสูงสุดของโลกในทศวรรษ 2050 นั้นประกอบไปด้วย
- อินเดีย 1,670,490,601 คน เพิ่มขึ้น 18% จากปี 2565
- จีน 1,312,636,324 คน ลดลง 8% จากปี 2565
- ไนจีเรีย 377,459,883 เพิ่มขึ้น 73% จากปี 2565
- สหรัฐ 375,391,965 เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2565
- ปากีสถาน 367,808,468 คน เพิ่มขึ้น 56% จากปี 2565
- อินโดนีเซีย 317,225,212 คน เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2565
- บราซิล 230,885,728 คน เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2565
- สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 217,494,004 เพิ่มขึ้น 120% จากปี 2565
- เอธิโอเปีย 214,812,308 คน เพิ่มขึ้น 74% จากปี 2565
- บังกลาเทศ 203,904,891 คน เพิ่มขึ้น 19% จากปี 2565
ส่วนประเทศไทย คาดว่าจะมีประชากรอยู่ที่ 67,880,087 คน ภายในทศวรรษดังกล่าว ลดลง 5% จากปี 2565
ประชากรโลกจะเกิน 8,000 ล้านคนภายในสิ้นปี
ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา ประชากรจะเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านคนในทุก 12 ปี ซึ่งในปีนี้สถิติยังคงเป็นเช่นเดิม โดยในสิ้นปี 2554 โลกมีประชากรครบ 7,000 คน และในสิ้นปีนี้ (2565) ทั่วโลกจะมีประชากร 8,000 ล้านคน แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตสัมบูรณ์จะใกล้เคียงกับในทศวรรษก่อนหน้า แต่อัตราการเติบโตของประชากรโลกยังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา อัตราการอัตราการเติบโตของประชากรลดลงเหลือต่ำกว่ากว่า 1% โดยในปี 2564 เหลือเพียง 0.82% ซึ่งน้อยกว่ายุคทศวรรษ 1960 ที่มีอัตราการเติบโตของประชากรสูงกว่า 2.3% กว่าครึ่ง
โควิด-19 คร่าชีวิตคนไปกว่า 15 ล้านราย
การแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประชากรโลกและแนวโน้มการย้ายถิ่น แม้จะมีการเปิดเผยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันจากรัฐบาลแต่ละประเทศ แต่มีแนวโน้มที่จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากการตรวจผลโควิด-19 นั้น ทำได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มาก
ดังนั้นวิธีหนึ่งที่สหประชาชาติใช้ตรวจสอบยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นั่นคือ ตรวจสอบจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับ ปีก่อนหน้าที่ยังไม่เกิดการแพร่ระบาด นั่นคือปี 2562 ที่มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกราว 57,940,000 ราย
ขณะที่ปี 2563 มีผู้เสียชีวิต 63,170,000 ราย เพิ่มขึ้นราว 5,230,000 ล้านราย และในปี 2564 มีผู้เสียชีวิต 69,250,000 ราย เพิ่มขึ้น 11,310,000 ราย จึงอนุมานได้ว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยประมาณ 15 ล้านราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับการประเมินของหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลก ราว 14,900,000 ราย ส่วน หนังสือพิมพ์ The Economist ประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ที่ 17,600,000 ราย
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้มีความไม่แน่นอนสูง แต่มีแนวโน้มสูงที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะมากกว่าการรายงานจริงที่มีเพียง 5,400,000 รายทั่วโลก
จำนวนประชากรโลกพุ่งสูงสุด 10,400 ล้านคน ในปี 2629
ก่อนหน้านี้ “แนวโน้มประชากรโลก” ฉบับที่ 26 ได้คาดการณ์ว่าในปี 2643 จะมีประชากรโลกราว 10,880 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอีก แต่ในการรายงานครั้งล่าสุดสหประชาชาติระบุว่า ประชากรโลกจะพุ่งสูงสุดในปี 2629 มีประชากรเพียง 10,400 ล้านคน โดยสาเหตุที่ตัวเลขประชากรสูงสุดต่ำกว่าและมาเร็วกว่าการคาดการณ์เดิมนั้นมีสาเหตุมาจาก สหประชาชาติคาดว่าอัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rates) ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำจะลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ในกลุ่มประเทศรายได้สูงจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงครึ่งศตวรรษหลังนั่นเอง
อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลงต่อเนื่อง
อัตราการเจริญพันธุ์ เป็นตัวเลขที่ระบุว่าในตลอดชีวิตของผู้หญิงจะให้กำเนิดบุตรกี่คน ซึ่งจะส่งผลต่อปัจจัยกำหนดอัตราประชากรโลก ซึ่งอัตราการเจริญพันธุ์นั้นลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษแล้ว ในทศวรรษ 1950 โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงจะให้กำเนิดบุตร 5 คนตลอดช่วงชีวิต แต่อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกในครึ่งปีหลังของปี 2564 ลดลงเหลือเพียง 2.3 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากดูอัตราการเจริญพันธุ์ในรายประเทศ จะพบว่า ประเทศส่วนใหญ่นั้นจะมีอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ในเกณฑ์เทียบเท่าหรือต่ำกว่าระดับทดแทน (Replacement level) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้สูงหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สเปน หรืออิตาลี มีอัตราการเกิดต่ำเพียง 1.3 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน อีกทั้งประชากร 2 ใน 3 ของโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่า 2.1 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม, Global Times, Matichon, Our World in Data, World Economic Forum, World Population Prospects 2022, World Population Review