รู้จัก "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" พร้อมส่อง 5 เขต กทม. มีคนสูงวัยมากที่สุด

รู้จัก "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" พร้อมส่อง 5 เขต กทม. มีคนสูงวัยมากที่สุด

รู้จัก "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" พร้อมส่องข้อมูลผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ จากการบรรยายของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าฯ กทม. ที่กล่าวบนเวที Health & Wealth Forum โดยระบุว่าในปี 2565 กทม. มีผู้สูงอายุสูงถึง 21.6%

คนกรุงพร้อมยัง? เมื่อวันนี้ กทม. กลายเป็น "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" แล้ว! ยืนยันจาก "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าฯ กทม. ที่กล่าวบนเวที Health & Wealth Forum โดยชี้ว่าในปี 2565 กทม. มีผู้สูงอายุในสัดส่วนสูงถึง 21.6% 

ข้อมูลจาก “กรมกิจการผู้สูงอายุ” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ระบุนิยามของสังคมสูงวัยไว้ว่า เป็นสังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง

โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: World Population Ageing) ได้จำแนกลักษณะของสังคมผู้สูงอายุเป็น 2 ระดับ คือ

  • สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)

เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่อยู่อาศัยร่วมกับประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่อยู่อาศัยร่วมกับประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ขึ้นไป

  • สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)

เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่อยู่อาศัยร่วมกับประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่อยู่อาศัยร่วมกับประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป

โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เคยคาดการณ์ไว้ว่า สังคมไทยกำลังจะเข้าสังคมผู้สูงอายุในปี 2568 แต่ล่าสุดพบว่าในปี 2565 ประเทศไทยไม่เพียงแต่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเท่านั้น แต่มีหลายจังหวัดเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” แล้วด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พบสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรทุกวัย เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 20

ล่าสุด.. ในการบรรยายของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม. ที่กล่าวบนเวที Health & Wealth Forum เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 65 แสดงให้เห็นข้อมูลประชากรผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เปรียบเทียบระหว่างปี 2550 และช่วงปี 2560-2565 พบว่าคนชราเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 คน โดยมีรายละเอียดดังนี้

5 เขตใน กทม. ที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด

  • บางแค   43,440  คน
  • บางเขน  38,353  คน
  • สายไหม  37,557 คน
  • จตุจักร    36,954 คน
  • จอมทอง  34,387 คน

5 เขตที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุด

  • สัมพันธวงศ์  34.98%
  • พระนคร  32.21%
  • ป้อมปราบฯ  32.1%
  • ดุสิต  29.13%
  • บางกอกน้อย  29.03%

จำนวนผู้สูงอายุใน กทม. รวมทุกเขต

  • ปี 2550 มีผู้สูงอายุ   604,646 คน  คิดเป็นสัดส่วน 10.5%
  • ปี 2560 มีผู้สูงอายุ 1,034,145 คน  คิดเป็นสัดส่วน 18.1%
  • ปี 2561 มีผู้สูงอายุ 1,077,328 คน  คิดเป็นสัดส่วน 18.9%
  • ปี 2562 มีผู้สูงอายุ 1,121,701 คน  คิดเป็นสัดส่วน 19.7%
  • ปี 2563 มีผู้สูงอายุ 1,140,511 คน  คิดเป็นสัดส่วน 20.4%
  • ปี 2564 มีผู้สูงอายุ 1,171,900 คน  คิดเป็นสัดส่วน 21.1%
  • ปี 2565 มีผู้สูงอายุ 1,194,171 คน  คิดเป็นสัดส่วน 21.6%

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยถึงข้อมูลค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุ ระบุว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านอยู่ที่ประมาณ 120,000 บาท/ปี ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลผู้สูงอายุติดเตียงอยู่ที่ 230,000 บาท/ปี

นี่ยังไม่นับรวมค่าเสียโอกาสของผู้ดูแลที่ต้องสูญเสียรายได้อีกด้วย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดูแล “ผู้สูงอายุ” แบบระยะยาวที่บ้าน ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ส่วนค่าใช้จ่ายรวมในการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมในปี 2560 ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท/ปี และคาดการณ์ว่าในอนาคตปี 2590 จะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 3.4 แสนล้านบาท/ปี

---------------------------------------

อ้างอิง : กรมกิจการผู้สูงอายุ , ABCD Center (2563), รายงานระบบประกันการดูแลระยะยาว จาก TDRI (2560), Health & Wealth Forum (22 ส.ค. 65)