กทม.เปิดแผนรับสูงวัยล้านคน “ชัชชาติ”ชูเมืองคุณภาพ เชื่อมระบบสาธารณสุข
“ชัชชาติ”เปิดแผนรองรับสังคมสูงวัยล้านคนใน กทม.โจทย์ใหญ่ดึงคนรุ่นใหม่กลับมาร่วมขับเคลื่อนเมือง ระบุนโยบายต้องเน้นระบบเส้นเลือดฝอยศูนย์สาธารณสุขชุมชนแข็งแรง เชื่อม รพ. 11 แห่ง เดินหน้าแซนด์บ็อกซ์ 2 แห่ง “ดุสิตโมเดล-ราชพิพัฒน์โมเดล” เผยภาระงบอีก 25 ปี แตะ 3.4 แสนล้าน
กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ เนชั่นทีวีและสปริงนิวส์ จัดสัมมนาหัวข้อ Health & Wealth Forum : สร้างสุขก่อนสูงวัย อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี วานนี้ (22 ส.ค.) โดยมีผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนร่วมนำเสนอแนวทางรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “คนไทย” ทำอย่างไรให้อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี ว่า กทม.ต้องเตรียมแผนรองรับสังคมผู้สูงวัย โดย กทม.เข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบและมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 21.68% หรือ 1.19 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 5.50 ล้านคน
สถานการณ์ใน กทม.จำนวนประชากรลดลงแต่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยสวนทางกับวัยรุ่น ซึ่งผู้สูงอายุติดอยู่ใน กทม.เยอะขึ้น เพราะไปไหนไม่ได้ ติดหมอ ขณะที่ลูกหลานหนีออกจากกรุงเทพฯ อาจเป็นเพราะมีทางเลือกมาก อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ต่อไปใครจะจ่ายภาษีดูแลผู้สูงอายุ เพราะจริงๆ แล้วคนที่มีกำลังในการจ่ายภาษีคือคนรุ่นใหม่
ฉะนั้น สิ่งที่ท้าทายที่สุดของเมืองในอนาคต และเป็นโจทย์ใหญ่ของทุกเมืองในโลก คือ จะดึงคนเก่ง วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ให้อยู่ในเมืองได้อย่างไร ไม่ให้หนีออกจากเมืองไป เป็นโจทย์ที่ กทม.ต้องคิด เพราะฉะนั้นคนเก่ง คนที่มีประสิทธิภาพ เขาเลือกที่อยู่ไหนก็ได้ ดังนั้นหน้าที่หลักของเมืองคือทำคุณภาพชีวิตให้ดีเพื่อดึงคนมาขับเคลื่อนเมืองเพื่อดูแลผู้สูงอายุด้วย
ผู้ว่าฯ กทม.ได้ยกตัวอย่างเขตเมืองชั้นในที่มีตึกห้องแถว มีผู้สูงอายุอยู่อาศัย ขณะที่ลูกหลานแยกตัวออกไปอยู่ที่อื่นและมาดูแลบางช่วง
เน้นเชื่อมระบบสาธารณสุข
แนวคิด นโยบายของ กทม.จะทำอย่างไร ต้องดูภาพรวมด้านสาธารณสุข ซึ่งขอเปรียบระบบ กทม.เป็นเส้นเลือดใหญ่ คือ เมกะโปรเจกต์ต่างๆ และเส้นเลือดฝอย คือ สิ่งต่างๆ ในชุมชน ซึ่งระบบจะไม่สมบูรณ์ หากทั้ง 2 ส่วนไม่ไปด้วยกัน ระบบสาธารณสุขก็เช่นกันจะแบ่งโครงสร้างระบบบริการสุขภาพเป็น 3 ระดับ คือ ตติยภูมิ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โรงพยาบาล (รพ.) ระดับมหาวิทยาลัยแพทย์ ทุติยภูมิ โรงพยาบาลทั่วไปใน กทม.และปฐมภูมิ คือ ศูนย์สาธารณสุข ศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอย
ผู้สูงอายุ ต้องการระดับปฐมภูมิ แต่ปัจจุบันเส้นเลือดฝอยเราอ่อนแอ ทำให้ไม่มีใครไว้ใจศูนย์สาธารณสุข เวลามีปัญหาก็วิ่งไปที่ รพ.ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ ทำให้ระบบไปโอเวอร์โหลดที่ รพ.ใหญ่ ซึ่งปัจจุบันก็มี รพ.ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ที่บางขุนเทียน อยู่ชานเมืองเพราะได้รับบริจาคที่ดิน แต่ระบบขนส่งยังไปไม่ถึง จึงต้องปรับปรุง
ทำเส้นเลือดฝอยให้แข็งแรง
ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ผู้ว่าฯ กทม.ยกตัวอย่างศูนย์ 41 คลองเตย มีเจ้าหน้าที่ 82 คน แต่ดูแล 1 แสนคน เมื่อเผชิญโควิด ด่านหน้าคือศูนย์เส้นเลือดฝอยเหล่านี้จึงแตก พังหมด และที่เล็กยิ่งกว่าคือ ศูนย์สุขภาพชุมชน ที่มีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) อยู่ และทำได้แค่แจกยา 6 ชนิด ซึ่งสภาพเช่นนี้ จึงดูแลผู้สูงอายุไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องปรับปรุงนโยบาย กทม.จึงต้องทำให้เส้นเลือดฝอยเหล่านี้แข็งแรงขึ้น
สำหรับโรงพยาบาล กทม.มี 11 แห่ง เทียบกับ รพ.ทั้งหมดในกทม.คือแค่ 10% ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุขเริ่มกระจายให้มากขึ้น มี 69 แห่ง และสาขาอีก 77 แห่ง การทำให้เข้มแข็งขึ้น จึงต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่นศูนย์ฯ เหล่านี้มีข้อจำกัดเพิ่มหมอได้ยาก ใช้เทเลเมด ในการพบหมอ ฯ
นายชัชชาติ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับวิสัยทัศน์การทำให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็น Portion ใหญ่ของเมืองที่ต้องดูแลผ่านนโยบาย 9 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การเดินทาง ความปลอดภัย บริหารจัดการ โครงสร้าง เศรษฐกิจ สร้างสรรค์ และการเรียนรู้ ทุกมิติเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุทั้งหมด
ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า นโยบายต่างๆ ที่เน้นเส้นเลือดฝอย จะเชื่อมไปสู่ผู้สูงอายุทั้งสิ้น ทั้งการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ ทำสวนให้อยู่ใกล้บ้าน เพราะสุขภาพดีเป็นสิ่งสำคัญ การดูแลป้องกัน สำคัญไม่น้อยกว่าการรักษา ข้อมูลจากงานวิจัยของ ABCD Centre 2563 พบว่า ค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน 120,000 บาทต่อปี ยังไม่รวมค่าเสียโอกาสของผู้ดูแล และค่าใช้จ่ายดูแลผู้สูงอายุติดเตียง 230,000 บาทต่อปี ดังนั้นหากเราดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีจะไม่มีค่าใช้จ่ายตรงนี้
"ตรงนี้เป็นภาระหนักของเมืองในอนาคต ระบบบัตรทอง จะไปรอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้สูงอายุสุขภาพดีหรือไม่ หลักง่ายๆ อยากให้ผู้สูงอายุติดเพื่อนมากกว่า ไม่อยากให้ติดบ้าน ติดเตียง”
ห่วงงบดูแลคนแก่พุ่งสูงขึ้น
ผู้ว่าฯ กทม.ยังระบุถึง ค่าใช้จ่ายของประเทศในการดูแลระยะยาวที่บ้าน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในอนาคต จำนวน 6 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 จะเพิ่มเป็น 3.4 แสนล้านบาทในปี 2590 (รายงานระบบประกันการดูแลระยะยาว ระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย : 2560 ทีดีอาร์ไอ)
ดังนั้น การลดโอกาสการติดบ้านติดเตียง คือ ระยะทางเฉลี่ยที่คน กทม.เข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้ที่สุด คือ 4.5 กิโลเมตร เพิ่มการเข้าถึง สวนลุมพินี สวนจตุจักร อุทยานเบญจสิริ ซึ่งเปิดเช้าขึ้นเป็น 04.30 น. และขยายเวลาปิดเป็นเวลา 22.00 น. มีชมรมผู้สูงอายุ 189 กลุ่ม/ชมรม ทั้งหมด 15,653 คน และ 18 เขตยังไม่มีชมรมผู้สูงอายุ ก็ต้องเพิ่มให้ครบ
จัดกิจกรรม ฝึกอาชีพ หนังกลางแปลง ดนตรีในสวน ทำคลังปัญญาผู้สูงอายุ เพื่อให้แชร์ประสบการณ์กับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกชีวิตมีคุณค่า บริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ โดยเน้นศูนย์บริการสาธารณสุข และศูนย์สุขภาพชุมชน ในระดับปฐมภูมิ มีระบบเทเลเมดิซีน ลงชุมชนให้เข้าถึงผู้สูงอายุได้ง่ายขึ้น
สร้างแซนด์บ็อกซ์ดูแลสูงวัย
เนื่องจาก กทม.เป็นเจ้าของเตียงเพียง 11% ของเตียง รพ.ทั้งหมดในกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงเน้นระดับปฐมภูมิ โดยทำแซนบ็อกซ์ 2 แห่ง คือ “ดุสิตโมเดล” เขตดุสิต เขตพระนคร เขตบางซื่อ และเขตบางพลัด หลักการคือมี รพ.ศูนย์ และศูนย์สาธารณสุขเชื่อมกัน ใช้ระบบเทเลเมดิซีนลงสู่ชุมชน มีรถพยาบาล เพื่อเข้าถึงผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเชื่อมผู้ป่วยและศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่นอีก 4 แห่ง รวมถึงเทคโนโลยี
รวมถึง “ราชพิพัฒน์โมเดล” ประกอบด้วย เขตทวีวัฒนา บางแค หนองแขม ภาษีเจริญ และตลิ่งชัน โดยสร้างเป็น Excellent เวชศาสตร์เขตเมือง ดูแลโรคสำหรับคนเมือง มีระบบสนับสนุนเวชศาสตร์เขตเมือง (ระบบช่วยเหลือดูแลคนเมือง) และศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองราชพิพัฒน์ เพื่อการฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยประคับประคอง กทม.
ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายอาสาสมัครเทคโนโลยีประจำชุมชน ให้เด็กรุ่นใหม่ที่เก่งเทคโนโลยี อยู่ในคณะกรรมการชุมชน คอยสอนเทคโนโลยีให้กับผู้สูงอายุ ให้สามารถออนไลน์คุยกับแพทย์ได้ ไม่ต้องเดินทางไกลมาถึงศูนย์สาธารณสุข หรือโรงพยาบาล และมีการทำระบบโลจิสติกส์ส่งยา รับจากศูนย์หรือชุมชนเข้ามาส่วนกลางได้ ซึ่งระบบเทเลเมดิซีนเริ่มทำแล้วที่ราชพิพัฒน์
“ทั้งหมดเป็นภาพรวมของ กทม. เราเน้นเส้นเลือดฝอย และใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยเพื่อให้การทำงานสามารถเข้าถึงผู้สูงอายุได้มากขึ้น”