"ผังเมือง" สะท้อนเศรษฐกิจ
การออกแบบผังเมืองยุคใหม่ นอกจากต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนเมืองแล้ว ยังต้องตอบโจทย์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในภาพใหญ่ได้ด้วย
นโยบายการจัดผังเมืองใหม่ใน กทม. ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นับเป็นประเด็นสำคัญและน่าสนใจ เพราะเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตของคนเมือง การมีผังเมืองที่ดี จะช่วยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของเมือง ยิ่งถ้าเป็นเมืองหลวงก็จะเป็นหน้าเป็นตาสำคัญของประเทศ สะท้อนภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ผังเมืองจึงไม่ได้เป็นเพียงการจัดระเบียบพื้นที่ แต่คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้คนในพื้นที่อยู่อย่างมีความสุขในทุกตารางนิ้วของเมือง ขณะที่ระบบเศรษฐกิจของเมืองก็ขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทุกวันนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญทำให้ “เมือง” ขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย และเป็นที่มาของปัญหามากมายด้วยเช่นกัน การปล่อยให้เมืองเติบโตอย่างไร้ทิศทาง ทำให้เกิดชุมชนแออัด การจราจรติดขัด เกิดมลพิษ และอาชญากรรม ไม่ต่างจากที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจทำให้ความสุขของคนเมือง รวมถึงชุมชนถูกบดบังไปกับตึกที่สูงเสียดฟ้า อสังหาฯ มูลค่ามหาศาล
สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้บริบทของเมืองแต่ละประเทศไม่เหมือนเดิม กระทบต่อการพัฒนาเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ว่า เช่น ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงต่อภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มจำนวนขึ้นของชนชั้นกลาง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนเมืองที่ต้องพัฒนาไปสู่ “สมาร์ตซิตี”
สิ่งเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อผังเมืองต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การออกแบบผังเมืองยุคใหม่ นอกจากต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนเมืองแล้ว ยังต้องตอบโจทย์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในภาพใหญ่ได้ด้วย การพัฒนาและบริหารจัดการเมืองในอนาคตจึงต้องอาศัยองค์ความรู้สร้างโอกาสจากความเป็น “เมือง” และรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของเมือง ภายใต้บริบทของโลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงเร็ว
เมืองใหญ่ทั่วโลกสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทุกตารางนิ้วอย่างมีประสิทธิภาพ บางเมืองสามารถยกระดับตัวเองกลายเป็นเมืองแห่งนวัตกรรม หลายเมืองกลายเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวระดับโลก เป็นเมืองแห่งศิลปะ เมืองแห่งแฟชั่น เมืองแห่งอาหารการกิน จากการวางผังเมืองที่ชาญฉลาด โครงสร้างพื้นฐานที่พรั่งพร้อม ระบบของเมืองที่ทันสมัย วางสัดส่วนระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตของคนได้แบบไม่เบียดเบียนกัน
สำคัญที่สุด นโยบายการพัฒนาเมือง ต่อจากนี้ ต้องเน้นพัฒนาเมืองที่คิดถึงความยั่งยืนในอนาคต เพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด วางแผนพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ บนศักยภาพและความเหมาะสมของเมือง คนในเมืองได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม ส่วน “คนที่บริหารจัดการเมือง” ต้องบริหารอย่างโปร่งใส สร้างการมีส่วนร่วมของคนเมืองในการพัฒนาทุกขัั้นตอน