เปลี่ยนเกษตรแบบดั้งเดิม สู่ "เกษตร 4.0" ดัน "ครัวไทยสู่ครัวโลก"
AgrowPlus (อโกรว์พลัส) และบริษัทในเครือ เดินหน้ายกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม สู่ “เกษตร 4.0” นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรมาใช้ในภาคการเกษตร เข้าสู่ “วิถีเกษตรแม่นยำ” ผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก
สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากเดิม และการที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโลกระบาดอย่างโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ระบบห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้มีหลายประเทศที่มีความกังวลในเรื่อง วิกฤติอาหาร เช่น อินโดนีเซีย จำกัดเรื่องการส่งออกปาล์ม อินเดีย จำกัดการส่งออกน้ำตาล และข้าวสาลี มาเลเซีย จำกัดการส่งออกไก่ อาร์เจนติน่า จำกัด การส่งออกถั่วเหลือง
ขณะเดียวกัน แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็น "ครัวโลก" แต่การพัฒนาการเกษตรก็ยังเป็นประเด็นที่ยังต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยให้การทำเกษตรแม่นยำมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือวิกฤติอาหารที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
จากการเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ และเป้าหมายขับเคลื่อนภาคการเกษตร สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและยารักษาโรค เป็นที่มาของ AgrowPlus (อโกรว์พลัส) และบริษัทในเครือ ในการเดินหน้ายกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม สู่ “เกษตร 4.0” นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรมาใช้ในภาคการเกษตร เพื่อให้การ "เกษตรแม่นยำ" มากขึ้น
"ตะวัน น้อยมีธนาสาร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อโกรว์พลัส จำกัด และกลุ่มบริษัทในเครือ เผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค “เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร” หรือที่ภาครัฐ เรียกว่า “เกษตร 4.0” การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรมาใช้ในภาคการเกษตร ย่อมเปลี่ยนวิถีการเกษตร เข้าสู่ “วิถีเกษตรแม่นยำ” ตั้งแต่เริ่มต้นเพาะปลูกจนกระทั่งถึงการเก็บเกี่ยว
ทำให้สามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตรได้ดีขึ้น และยังเป็นการยกระดับผลิตผลทางการเกษตร ให้เข้าสู่ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic) และมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) ตอบโจทย์ในเรื่องมาตรฐานวัตถุดิบทางอาหารที่ดี และปลอดภัย
เกษตรกรสามารถขายผลิตผลทางการเกษตรได้มากขึ้น ราคาดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น ฐานะความเป็นอยู่ย่อมดีขึ้น เป็นภาระของภาครัฐน้อยลง และในมุมของ ภาคธุรกิจ ทั้งรายย่อย และรายใหญ่ ที่ต้องนำผลิตผลทางการเกษตร มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต และแปรรูป ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ
ตอบโจทย์ นโยบายทางเศรษฐกิจ ที่ตั้งเป้าหมายว่า “ครัวไทยสู่ครัวโลก” และสุดท้ายในมุมของ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจเพื่ออนาคต หรือเรียกว่า New S-Curve อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์ประกอบด้วย การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
ไฮไลท์ที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เพราะประเทศไทยยังไม่มียาตำรับแพทย์แผนไทยเข้าสู่ตลาดโลก หนึ่งในสาเหตุหลักๆ ก็คือ วัตถุดิบสมุนไพรไทย ซึ่งถ้าเราสามารถยกระดับอุตสาหกรรมยาไทย ประเทศไทยจะมีแบรนด์ของยาไทยส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ และสมุนไพรไทยจะกลายเป็นสินค้าส่งออกติด Top 10 หรือ แม้กระทั่งผลิตผลทางการเกษตรที่ไม่เคยผ่านมาตรฐานการตรวจสอบสารปนเปื้อนต่างๆ และเคยถูกตีกลับ ก็จะกลับมาส่งออกได้อีกครั้ง
"ถ้าอยากเห็นประเทศไทยก้าวเข้าสู่ New S-Curve ในธุรกิจและอุตสาหกรรมเหล่านี้ ก็ต้องเริ่มที่วันนี้ และนี่คือสิ่งที่กลุ่ม อโกรว์พลัส กำลังดำเนินการ ไม่ได้ตอบโจทย์แค่ภาคชุมชน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นการตอบโจทย์ในระดับนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ"
ทุ่มกว่า 50 ล้านบาท วิจัย พัฒนา
ทั้งนี้ อโกรว์พลัส ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 50-55 ล้านบาท กว่า 80-90% เป็นงบลงทุน ที่ใช้เพื่อการวิจัย ค้นคว้า พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร ส่วนที่เหลือเป็นงบลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทในกลุ่ม Agrow เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจ โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มเกษตรกร ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ และผู้บริโภค ทุกเพศ ทุกวัย ในส่วนแผนการตลาด และช่องทางการเข้าถึงลูกค้า
ตัวกลางเชื่อมธุรกิจ "การเกษตร" ครบวงจร
ทั้งนี้ อโกรว์พลัส ได้เปิดตัวกลุ่มบริษัทในเครือ 4 บริษัท ประกอบด้วย
- บริษัท อะโกรว์แล็บ จำกัด หน่วยวิจัยและเทคโนโลยี ในรูปแบบของโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) และการปลูกพืชในโรงเรือน (Greenhouse)
- บริษัท เธอร์บาลิสต้า จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกกลางแจ้งมาตรฐานออร์แกนิค
- บริษัท อะโกรว์ฟาร์ม จำกัด จัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร
- บริษัท อโกรว์แคร์ จำกัด จัดจำหน่ายผลผลิตแปรรูปทางการเกษตร เช่น ยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง
"อโกรว์พลัส ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อโมเดลการทำธุรกิจทางการเกษตรครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งในระดับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการร่วมพัฒนาธุรกิจ การต่อยอดทางธุรกิจ การร่วมลงทุน ไปจนถึงผู้บริโภครายย่อย โดยมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับการเกษตรแบบเดิมให้กลายเป็นเกษตรสมัยใหม่ นำเทคโนโลยีทางวิศวกรรมเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพและเข้าถึงได้ง่าย"
เกษตรกรสามารถขายผลิตผลทางการเกษตรได้มากขึ้น ราคาดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น ฐานะความเป็นอยู่ย่อมดีขึ้น เป็นภาระของภาครัฐน้อยลง และในมุมของ ภาคธุรกิจ ทั้งรายย่อย และรายใหญ่ ที่ต้องนำผลิตผลทางการเกษตร มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต และแปรรูป ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพืช กัญชา และกัญชง กำลังอยู่ในกระแสความต้องการของตลาด และมีการปลดล็อกให้มีการปลูกได้อย่างเสรี อโกรว์พลัส เห็นโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มพืชเหล่านี้ และกำลังศึกษาตลาดเช่นกัน