แอพฯตัวช่วย เมื่อจิตป่วน
สำหรับบางคน บางปัญหาไม่ได้แก้ง่ายๆ ทุกข์แล้วทุกข์อีก ปลดล็อคตัวเองไม่ได้ จะปรึกษาจิตแพทย์ ก็ต้องรอคิวนานมาก แต่ในยุคนี้มีแอพฯปรึกษาปัญหาชีวิต เป็นทางเลือก
เวลาทุกข์และเศร้า ปรึกษาเพื่อน หรือญาติพี่น้อง ก็ไม่ได้คำตอบที่ดีนัก เพราะผู้ให้คำปรึกษาอาจไม่รู้หลักจิตวิทยา จึงกลายเป็นว่าตอกย้ำความเจ็บปวดเข้าไปอีก ทำให้ทุกข์มากขึ้น
และอารมณ์ชั่ววูบ อาจทำให้คนคิดฆ่าตัวตายได้...
ว่ากันว่า เฉลี่ยแล้วคนไทยพยายามฆ่าตัวตายชั่วโมงละ 6 คน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ประมาณการว่า แต่ละปีมีคนไทยพยายามฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน และตัวเลขเมื่อปีพ.ศ. 2559 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,131 คน สูงเป็นอันดับ 57 ของโลก ในจำนวนนี้ชายมากกว่าหญิง 4 เท่า
ส่วนสาเหตุการฆ่าตัวตาย มีปัจจัยมาจากปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทั้งคนรักและครอบครัว เช่น ผิดหวังในความรัก น้อยใจ ถูกพ่อแม่ดุด่า เป็นต้น
อัตราการฆ่าตัวตายในสังคมไทยไม่ธรรมดาเลย นอกจากนี้ยังมีคนที่จมอยู่กับความทุกข์ ซึมเศร้าและเป็นโรคจิตไม่น้อยเลย
เรี่องเหล่านี้ คนที่ไม่เข้าใจ อาจมองว่า ปัญหาเล็กๆ ทำไมต้องฆ่าตัวตาย...
-1-
“เวลามีปัญหาอยากจะไปหาจิตแพทย์ที่โรงพยาบาล บางทีก็เป็นต้นทุนที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนๆ หนึ่ง บางคนต้องใช้เวลารอเป็นเดือน สองเดือน และบางทีหกเดือน ระหว่างรอ ถ้าเกิดวิกฤติแล้วจะเกิดอะไรขึ้น” ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ผู้ริเริ่ม Ooca แอพพลิเคชั่น แพลตฟอร์มให้บริการดูแลจิตใจ กล่าว บนเวที PUEY Talks ครั้งที่ 6
และไม่ใช่ว่า อยู่ๆ เธออยากทำเรื่องสุขภาพจิต ก็ทำได้เลย
เรื่องเหล่านี้มีที่มาที่ไปในการนำเทคโนโลยีมาบริการสำหรับคนที่มีความทุกข์ปลดล็อคตัวเองไม่ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขามีทางเลือกในการปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ผ่านวิดีโอคอล โดยนัดหมายเวลาพูดคุย ไม่ต้องไปโรงพยาบาลรอคิวเป็นเดือนๆ
“ก็เคยมีคนสงสัยว่า ทำไมหมอฟันมาทำแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพจิต เรามองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน ดิฉันเป็นคนๆ หนึ่งที่เคยเป็นคนไข้ที่มีปัญหาสภาวะจิตมาก่อน”
ไม่ต่างจากหลายคน เวลามีปัญหาชีวิต ไม่ว่าเรื่องเพื่อน เรื่องเรียน เรื่องแฟน และเรื่องครอบครัว ส่วนใหญ่มักจะวนเวียนอยู่กับความคิด จนนอนไม่หลับ
“ก็เคยปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต รู้สึกว่าเขาก็รับฟังเราไปอย่างนั้น ไม่ได้คำตอบอะไร เพราะคนที่ให้คำปรึกษา บางคนก็เป็นนักจิตวิทยา บางคนอาจไม่ใช่ คุณภาพการให้คำปรึกษาจึงแตกต่าง และปกติแล้วคนเราก็ต้องมีความเครียดบ้าง ตอนเด็กๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีปัญหาครอบครัวหรือเรื่องความรัก การปรึกษาเพื่อน บางทีก็โอเค บางทีก็ไม่โอเค แต่พอมีความเศร้ามากๆ มันจัดการไม่ได้"
เธอ บอกว่า ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เจอปัญหาเศร้าๆ มาก ก็ทำเหมือนวัยรุ่นทั่วไป ออกไปเที่ยว หรือไม่ก็ปรึกษาเพื่อน แต่ท้ายที่สุดนอนไม่หลับต้องไปหาจิตแพทย์
“ไปหาจิตแพทย์ ไม่ใช่ว่าได้คำตอบเลย เราต้องคุยให้หมอฟังก่อน หมอก็จะมีวิธีการให้เราคิด แต่ปัญหาคือ รอนัดหมอนานมาก”
-2-
ปัญหาของแต่ละคนที่เกิดขึ้น ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย บางคนแก้ปัญหาได้ แต่บางคนแก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ หากจะบากหน้าไปโรงพยาบาล ก็หวั่นเกรงสายตาผู้คน เพราะการปรึกษาจิตแพทย์ แม้คนในสังคมจะเข้าใจมากขึ้น แต่ยังไม่อยู่ในวิถีปฏิบัติของคนไทย
“ตอนที่เราไปหาจิตแพทย์ที่โรงพยาบาล สังเกตว่า ในแผนกจิตเวช บุคคลที่นั่งรอจำนวนไม่น้อยเป็นพระสงฆ์ หลายคนอาจจะมองว่า เรื่องสุขภาพจิตไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แล้วจะพิสูจน์ยังไง ” กัญจน์ภัสสร เล่า และโยงว่า ปัจจุบันมีเยาวชนฆ่าตัวตายเยอะขึ้น ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ทุกๆ ครั้งที่มีเด็กหนึ่งคนฆ่าตัวตาย ยังมีอีกหลายสิบคนพยายามฆ่าตัวตาย แต่ไม่สำเร็จ มีการบันทึกอย่างเป็นทางการว่า คนไทยที่ป่วยด้วยสุขภาพจิต ไม่ว่าจะซึมเศร้า การปรับตัว และเรื่องอื่นๆ ประมาณหนึ่งล้านกว่าคน
เธอ ยกตัวอย่างช่วงที่เธอตกอยู่ในภาวะความเครียดว่า หลังจากเรียนจบไม่นาน ก็ไปใช้ทุนทำงานในโรงพยาบาลซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่มีสนามบิน จะเดินทางมาปรึกษาจิตแพทย์ที่กรุงเทพฯ ก็ต้องใช้เวลาเป็นวันๆ และต้องเลื่อนนัดคนไข้ประมาณยี่สิบกว่าคน
“ดิฉันรู้สึกว่า ช่วงเวลาที่ได้ปรึกษาจิตแพทย์ เป็นช่วงเวลาที่มีค่า ทำให้เราก้าวข้ามช่วงเวลาแย่ๆ ไปได้ ทำให้มีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเรามีความทุกข์ขนาดนี้ คนที่อยู่ตรงนั้น ก็น่าจะเจออะไรแบบเราเหมือนกัน ดังนั้นพวกเขาควรมีโอกาสคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์”
ด้วยเหตุผลดังกล่าว เธอจึงทิ้งอาชีพหมอฟัน มาทำแอพพลิเคชั่น Ooca นำเสนอแพลตฟอร์มดูแลจิตใจหลากหลายรูปแบบ เพราะอยากมีส่วนช่วยคนให้พ้นทุกข์ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมโยงบริหารจัดการด้วยรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม
"ก็พยายามหาข้อมูลว่า เคยมีคนทำแพลตฟอร์มรูปแบบนี้ไหม ในเมืองไทยหลายสิบปีก่อนก็เคยมีคนทำมาบ้าง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาเทคโนโลยี เรารู้ว่าโซลูชั่นที่ทำน่าจะช่วยเหลือคนได้ เพราะคนส่วนใหญ่น่าจะเหมือนเราที่มีความเขินอายไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาล แอพฯที่ทำคงทำให้คนเข้าถึงจิตแพทย์และนักจิตวิทยาง่ายขึ้น ได้ปรึกษาสุขภาพจิตโดยไม่รู้สึกกลัว”
-3-
จากคนๆ หนึ่งที่มีปัญหาความเครียด พยายามหาทางออกเพื่อที่จะดูแลตัวเองมาสู่แพลตฟอร์ม Ooca แอพพลิเคชั่น เริ่มจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาไม่กี่คน ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญประมาณ 50 คน ถือว่าเยอะที่สุดในประเทศนี้ เธอมองว่า ผู้ประกอบวิชาชีพนี้ ต้องมีรายได้อยู่ได้ด้วย ไม่ใช่การกุศล แต่ต้องเอื้อประโยชน์ให้สังคมด้วย
“จะทำยังไงให้สิ่งที่เราทำ อยู่รอดนานๆ เพราะเรื่องแบบนี้มีคนพยายามทำมาตลอด แรกๆ ที่ทำ มีนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ในสังกัดน้อยมาก และยังมีคนตั้งคำถามว่า ทำไมคุณหากินกับความทุกข์ของคนอื่น คนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจเรื่องการปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตว่า ไม่ต่างจากคุณซ่อมบ้าน ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้พวกเขา เราก็ต้องสร้างระบบตรงนี้ เราอยากทำให้ตลาดเรื่องนี้ใหญ่ขึ้น ทุกคนสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น” ผู้ริเริ่มแอพพลิเคชั่น Ooca กล่าว และบอกว่า นอกจากให้คนทั่วไปปรึกษา ยังมีบริการสำหรับคนทำงานในองค์กรต่างๆ และให้บริการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในราคาที่ถูกกว่าคนทั่วไป
“เราอยากให้นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์สามารถสร้างคุณค่ากับวิชาชีพของเขา ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ดิฉันจึงพยายามทำหลายๆ แพลตฟอร์ม เราก็ต่อยอดจากสิ่งที่ทำ ทำโมเดลดูแลจิตใจสำหรับพนักงานในบริษัทด้วย ไม่ใช่ว่าองค์กรให้แค่ฟิตเนสและสปาก็พอแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตสำคัญมาก ตอนนี้เราทำสัญญากับ11 องค์กรขนาดใหญ่และเล็ก และยังมีแพลตฟอร์มตัวช่วยให้ฝ่ายบุคคลในบริษัทตรวจสอบว่า ตอนนี้ระดับความเครียดสูงสุดขององค์กรอยู่ตรงไหน ซึ่งเราสามารถดูแลวิกฤตขององค์กรได้ด้วย เพื่อให้แอดมินตรวจสอบและช่วยเหลือ และกำลังจะทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัย สามารถใช้บริการราคาไม่แพง เดือนหน้าจะเปิดบริการ โดยทำสัญญากับสี่มหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อว่าWall of Sharing”
-4-
ลองนึกง่ายๆ ว่า หากใครสักคนกำลังมีปัญหาสุขภาพจิต คิดว่า โลกนี้ไม่น่าอยู่ อยากปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาในทันที ทำได้ไหม
ถ้ามีโอกาสนั่งคุยผ่านวิดีโอคอลบนมือถือที่ไหนก็ได้ ถ้าคลิกและคุยแล้วกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
กัญจน์ภัสสร ยกตัวอย่าง นักวิจัยระดับสูงจบปริญญาเอกคนหนึ่ง เรียนจบและทำงาน และวันหนึ่งมีปัญหาความเครียดในที่ทำงานและปัญหาทางครอบครัว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไปทำงานไม่ได้ ไม่กล้าเผชิญหน้ากับเพื่อนร่วมงาน ไม่กล้าออกไปใช้ชีวิตปกติ ไม่กล้าแม้กระทั่งเดินออกจากห้อง
แล้วจะทำยังไงให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น....
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เธอต้องไปพบจิตแพทย์ และเธอก็เจอแอพฯ Ooca ก็ลองใช้ หาจิตแพทย์ที่จะปรึกษา จนในที่สุดเธอก็กล้ากลับมาใช้ชีวิต กล้าไปสมัครงานและดำเนินชีวิตปกติ ทั้งหมดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 เดือน”
ว่ากันว่า หลังจาก Ooca แอพลิเคชั่น เปิดบริการผ่านมาสามปีกว่าๆ มีผู้ใช้บริการแอพฯกว่า 45,000 คน ทุกๆ วัน แอพฯนี้สามารถช่วยเหลือคนทุกข์ที่ปลดล็อคตัวเองไม่ไ่ด้ เพราะแอพฯนี้เป็นแหล่งรวมนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ที่มีอยู่ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศจำนวน 50 กว่าคน และเคยมีคนที่เข้ามาปรึกษาปัญหาจริงจังเป็นรายชั่วโมงกว่าหนึ่งพันราย
“เราก็อยากมีส่วนลดตราบาปสำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านมือถือ มันเป็นเรื่องง่าย คุณจะปรึกษาเรื่องลูกหรือการทำงานก็ได้ เราอยากสร้างตลาดสุขภาพจิตให้ใหญ่ อยากสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น ธุรกิจเพื่อสังคมรูปแบบนี้าไม่ควรอยู่แค่ในประเทศไทย ต้องขยายไปต่างประเทศด้วย ตอนนี้จะร่วมทุนกับสิงคโปร์ด้วย” กัญจน์ภัสสร กล่าวและว่า เรามีเป้าหมายชัดเจนว่า แพลตฟอร์มที่ทำขึ้นต้องมีความยั่งยืนและช่วยเหลือคนให้มากที่สุด
แม้ค่าปรึกษาสำหรับคนไทยรายชั่วโมงในแอพฯนี้จะมีราคาถึง 1,000 – 2,000 บาท เธอบอกว่า ต้องรักษามาตรฐานของนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อที่พวกเขาจะไม่ต้องละทิ้งอาชีพไปทำอย่างอื่น ส่วนความยากในการทำงานด้านนี้ คือ การหานักจิตวิทยามาร่วมทีม
“ทุกวันนี้ก็ยังยากอยู่ รวมถึงการสร้างความเข้าใจกับคนทั่วไป เพื่อที่จะบอกว่า การคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ไม่ใช่เรื่องไม่ดีอย่างที่หลายคนเข้าใจ”