‘บูคู เอฟซี’ สันติภาพบนสนามหญ้า

‘บูคู เอฟซี’ สันติภาพบนสนามหญ้า

ทีมฟุตบอลที่รวมคนต่างเพศต่างวัยต่างศาสนาไว้ในสนามเดียวกัน กับภารกิจสำคัญคือการเปิดพื้นที่แห่งความเท่าเทียม

ภาพเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย วัยรุ่น วัยทำงาน และ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBT กำลังเล่นสนุกกับลูกหนังกลมๆ ที่กลิ้งไปมาในสนามหญ้า ผลัดเปลี่ยนจากเท้าคนหนึ่ง ไปยังอีกคนหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเดียวคือเตะลูกกลมๆ นั้น ให้เข้าประตูฝ่ายตรงข้าม แน่นอนว่า...เรากำลังพูดถึงการเล่นกีฬาฟุตบอล ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็เล่นกันได้ รวมถึงทีมฟุตบอลหญิงทั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ 

แต่ไม่ใช่ในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ที่เรารู้กันดีว่ากีฬาชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผู้หญิงมุสลิมจะเข้ามามีส่วนร่วม ยิ่งเล่นรวมกับเด็กผูัชาย ยิ่งเป็นภาพที่เห็นได้ยากมาก แต่แล้วก็มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำให้ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เธอสร้างพื้นที่ให้กับคนเหล่านั้นได้แสดงออกตัวตนและเรียนรู้ความหลากหลายในสังคม ผ่านกิจกรรมที่น่าตื่นเต้น ในนาม ‘บูคู เอฟซี (Buku FC)’ ทีมฟุตบอลที่เกิดขึ้นเพื่อยืนยันสันติภาพและความเท่าเทียมในพื้นที่แห่งนี้

 

บูคู เอฟซี_๑๙๐๖๑๗_0006

 

การปรากฏตัวของ บูคู เอฟซี

อันธิฌา แสงชัย หรืออาจารย์อัน สาวเหนือแต้ๆ จากเชียงใหม่ ที่พาตัวเองมาสอนปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ไกลถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นที่รู้จักกันดีในวงนักสิทธิมนุษยชน เพราะเธอเป็นนักกิจกรรมตังยงที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียมทางเพศ และเริ่มปรากฏตัวด้วยการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ชื่อว่า ‘บูคู’ (Buku) ในปี 2554 ที่เขาว่ากันว่าเป็นมากกว่าร้านหนังสือ แต่เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นต่างๆ จนเกิดเป็นห้องเรียนเพศวิถีขึ้นในปี 2556 กระทั่ง 3 ปี ถัดมา กลายเป็นพื้นที่ของทีมฟุตบอลในที่สุด

บูคู เอฟซี เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรง ทั้งจากคนในพื้นที่และคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่างตั้งแง่ว่า การเปิดพื้นที่นี้ให้ผู้หญิงและ LGBT จะเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเลียนแบบพฤติกรรมรักร่วมเพศได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การที่ผู้หญิงมาเตะบอลกับทอมจะทำให้กลายเป็นทอมไปด้วย และมองว่ากีฬาฟุตบอลไม่ได้ทำให้เกิดสันติภาพ แต่ทำให้เกิดความขัดแย้ง

“พอเป็นทีมฟุตบอล มันเหมือนเราออกไปสู่ชุมชนมากขึ้น มันถูกมองเห็นมากขึ้น หลายคนเข้าใจว่า การทำทีมฟุตบอลลักษณะนี้คือการสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงเป็นทอม ซึ่งมันเป็นข้อกังวลใจที่ค่อนข้างรุนแรง เขาไม่เห็นด้วยกับผู้หญิงที่เตะบอลในเวลาค่ำมืด แล้วในสนามยังมีผู้ชาย กับกลุ่ม LGBT มันไม่ใช่วัฒนธรรมที่ดีของคนในสามจังหวัด เป็นการทำลายวัฒนธรรมและสร้างความแตกแยก” นี่คือสิ่งที่เขาสะท้อนกลับมา อาจารย์อันธิฌา กล่าว

 

บูคู เอฟซี_๑๙๐๖๑๗_0002

 

การตั้งทีมฟุตบอลที่หลากหลายในพื้นที่ปลายด้ามขวานของอาจารย์อันธิฌา สร้างแรงกระเพื่อมไม่น้อยในสังคม เธอเล่าว่า คนที่โดนรุมอยู่ตลอดก็คือ กลุ่ม LGBT เขาถูกกีดกันไม่ให้มีตัวตนบนพื้นที่นี้ ทั้งหมดเป็นภาพจำลองของสังคมที่เกิดขึ้น เราก็เลยเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ผ่านสนามเล็กๆ ทั้งท้าทายความคิดความเชื่อ แล้วก็บอกทุกคนว่ามันเปลี่ยนได้ จริงๆ แล้วผู้หญิงเล่นฟุตบอลได้ และไม่ได้มีผลต่อสุขภาพขนาดนั้น ในกรณีที่บาดเจ็บ เราเปลี่ยนวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสนาม ปรับการเล่นโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ ซึ่งมันยิ่งทำให้วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันตรงนั้นเข้มแข็งขึ้น เกิดความเท่าเทียมกัน เห็นอกเห็นใจกัน ที่สำคัญคือพวกเขาเปิดพื้นที่ให้กันและกันมากขึ้นด้วย

หัวใจสำคัญในการสร้างทีมฟุตบอลที่อาจารย์อันธิฌาตอบอย่างเรียบๆ ว่าไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่อยากเห็นพื้นที่และความเป็นไปได้ในการอยู่ด้วยกันบนความหลากหลาย ทั้งเรื่องเพศและศาสนา ที่ไม่กีดกันใครคนใดคนหนึ่งออกไปจากกการมีส่วนร่วม รวมถึงการไม่ใช้ความรุนแรงด้วย

 

บูคู คือความหลากหลายที่ลงตัว

ในส่วนของทีมฟุตบอลตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 40 คน มีตั้งแต่เด็ก 10 ขวบ ไปจนถึงวัยทำงาน 30-40 ปี พวกเขาสามารถเล่นด้วยกันได้อย่างลงตัว เพราะทุกคนเชื่อว่าเรามีความเท่าเทียมกัน

“เราหาวิธีให้สามารถเล่นร่วมกันได้ ในการแบ่งทีมหลักๆ ดูจากความใกล้เคียงของทักษะการเล่น เพราะจะมีน้องส่วนหนึ่งที่เขามีทักษะฟุตบอลดีทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ซึ่งตอนนี้เขาเล่นด้วยกันได้ค่อนข้างสูสี แต่เมื่อมีน้องใหม่เข้ามาที่อาจจะตัวเด็กที่สุดในทีม อายุน้อยที่สุด เราก็จะคุยกันในทีมว่ารูปแบบการเล่นจะต้องเปลี่ยน เราต้องดูแลคนที่ตัวเล็กกว่า อาจจะลดความเร็วลง ลดความท้าทายในการเล่นลง” อาจารย์อันธิฌา เล่าถึงทีมฟุตบอลบูคู เอฟซี

ไม่เพียงอาจารย์อันที่รักและผูกพันในฐานะผู้สร้างทีมมากับมือ แต่มีอีกหนึ่งคนที่บอกว่าเธอเองก็หลงรักบูคู และอยากจะสานต่อสิ่งที่อาจารย์ทำ เรากำลังพูดถึงหญิงสาววัย 25 ปี ที่สวมฮิญาบลงเล่นในสนาม บ่งบอกว่าเธอเป็นชาวมุสลิม นั่นคือ สุฮัยดา กูทา หรือ ‘ดา’ ผู้จัดการทีมฟุตบอลบูคู ที่ชื่นชอบกีฬาเป็นทุนเดิม จึงไม่ปฏิเสธเมื่ออาจารย์อันชวนมาทำทีมฟุตบอล แม้จะชื่นชอบกีฬา แต่จริงๆ แล้วเธอสารภาพว่าไม่เคยเตะฟุตบอลมาก่อน จึงท้าทายตัวเองมาก ครั้นพอได้มาลองจริงๆ กลายเป็นว่าผู้จัดการทีมคนนี้หลงรัก บูคู เอฟซี เข้าแล้ว

 

บูคู เอฟซี_๑๙๐๖๑๗_0004

 

“ทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วง 19.00-20.00 น. จะเป็นเวลาซ้อมฟุตบอล ทุกคนพร้อมใจกันมาที่สนามหลังมอ.ปัตตานี ไม่มีเส้นแบ่งของเพศและวัย เราสามารถทำให้ทุกคนเล่นด้วยกันได้อย่างสมดุล แต่ถึงอย่างนั้น ทีมฟุตบอลบูคูก็ค่อนข้างจะมีระบบระเบียบในการปฏิบัติที่ชัดเจน การมาซ้อมในแต่ละครั้งต้องลงทะเบียนเช็คดูว่ามีใครมาบ้าง เพื่อจะได้จัดการแบ่งทีมให้ลงตัว จากนั้นก็ลงสนามวอร์คร่างกายกันก่อนสัก 5-10 นาที เพื่อลดการบาดเจ็บ ยืดเส้นยืดสายให้คล้ายกล้ามเนื้อ แล้วก็วิ่งรอบสนามสักสามสี่รอบหรืออาจต่อด้วยลิงชิงบอลเรียกน้ำย่อยก่อนเล่นจริง และเพื่อจะรอเพื่อนๆ ในทีมที่ยังมาไม่ถึง หรือไม่ก็ซ้อมเดาะบอลกับเตะลูกบอลชนคานประตูไปพรางๆ” ผู้จัดการทีม เล่าถึงกิจวัตรของการซ้อมฟุตบอล

เธอย้ำเสมอว่า จุดประสงค์ของทีมไม่ใช่เพื่อการแข่งขัน เพียงแต่สร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้มาออกกำลังกาย ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยไม่มีการกีดกันด้วยเพศ วัย หรือความแตกต่างทางอัตลักษณ์ที่แสดงออก พื้นที่นี้ทุกคนจะได้แสดงออก ได้กล้าที่จะลองเล่น ได้ลองท้าทายตัวเองบ้าง ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้ทำแบบนี้ในพื้นที่อื่น อย่างผู้หญิงบางคนที่ไม่กล้าจะออกจากบ้าน ฟุตบอลก็จะดึงเขาให้ออกมาจากมุมเดิมๆ ให้เปิดโลก ได้มาแสดงออกและสนุกไปกับมัน บางทีผู้หญิงอาจจะชอบเตะบอล แต่เขาไม่มีพื้นที่ที่จะแสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้

และในช่วงแรกที่ทีมฟุตบอลปรากฏตัวต่อสาธารณะ ผู้จัดการทีมบอกว่า ก็มีทั้งคนที่พยายามเปิดใจและคนที่ปิดกั้น ไม่เห็นด้วยกับการให้พื้นที่นี้กับผู้หญิงและ LGBT หลายคนแสดงออกด้วยคำพูดที่รุนแรง หลายคนเมินเฉย ในขณะที่ก็มีหลายคนก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีม และผู้จัดการทีมอย่างดาก็ยังคงต้องเผชิญกับคำถามที่ว่า ผู้หญิงเตะบอลได้ด้วยเหรออยู่บ่อยครั้ง เธอก็ตอบกลับไปอย่างเรียบง่ายว่า ทำไมจะเตะไม่ได้ ฟุตบอลมันก็แค่ลูกกลมๆ ลูกหนึ่ง ผู้ชายเตะได้แล้วทำไมเราจะเตะไม่ได้ เพราะเราก็ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ไปทำให้ใครเดือดร้อน แค่เปิดพื้นที่ให้น้องๆ เท่านั้นเอง

“ฟุตบอลทำให้เราได้เรียนรู้การเป็นผู้นำ จากที่แรกๆ ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นผู้นำได้ดี และยังทำให้เราอยู่ร่วมกับสังคมภายนอกได้ จากไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด กีฬาก็ได้เปิดโลกเรามากขึ้น ทำให้เราได้ค้นพบตัวเองมากด้วยว่า อนาคตเราอยากจะเป็นผู้จัดการทีมบูคูอย่างเต็มตัว เพราะตอนนี้ก็เรียนจบแล้วด้วย ด้านการจัดการกีฬา จากมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ปัตตานี หรืออาจจะเลื่อนไปเป็นโค้ชในอนาคตก็เป็นสิ่งที่เราวาดฝันไว้” ดาค้นพบแล้วว่าบูคูคือสิ่งที่เธอต้องการในชีวิต

 

บูคู สร้างแรงผลักดันในสังคม

นอกจากทีมฟุตบอลที่อาจารย์อันธิฌาปลูกปั้น จะเป็นพื้นที่ช่วยสื่อสารในเรื่องเพศ สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมต่างๆ แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายก็คือ การที่เด็กๆ ได้ค้นพบศักยภาพของตัวเองและนำสู่การทำในสิ่งที่รักเป็นอาชีพ จากตอนแรกไม่คิดจะลงสนามแข่งเป็นเรื่องเป็นราว แต่ตอนนี้สมาชิกผู้หญิงในทีมมีโอกาสสามารถเข้าเล่นกับทีมฟุตซอลของจังหวัดปัตตานี แม้จะไม่ใช่ฟุตบอลแต่ก็เป็นโอกาสที่สมาชิกไม่ปล่อยผ่านไปอย่างไร้ค่า

อนาคตของบูคู เอฟซี จะเติบโตไปอีกขั้น ที่ผ่านมาอาจารย์อันบอกว่า เธอเป็นตัวหลักในการกำหนดทิศทางของทีม แต่ตอนนี้มีน้องๆ ในทีมขึ้นมาเป็นผู้นำทีม เขาโตขึ้นทั้งอายุและความคิด หลายคนต้องการที่จะเป็นโค้ช หลายคนอยากทำทีมฟุตบอลเล็กๆ ในชุมชน เราอาจขยายทีมฟุตบอลลักษณะนี้สู่ชุมชนมากขึ้น หรืออาจเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดทีมฟุตบอลหญิงในสามจังหวัดมากขึ้น

“เกือบ 10 ปี ที่เราสื่อสารเรื่องพวกนี้ ตั้งแต่ร้านหนังสือจนถึงทีมฟุตบอล ทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วม มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความมั่นใจขึ้น เราเห็นเด็กผู้หญิงหลายคนที่ตอนแรกๆ เขาแค่อยากจะเตะบอลเล่นๆ สนุกๆ กลายเป็นว่าตอนนี้เขาเก่งขึ้น มั่นใจและกล้าที่จะเล่นมากขึ้น บุคลิกเขาเปลี่ยน ชุนชนในทีมก็เข้มแข็ง น้องๆ LGBT เขาก็อบอุ่นมากขึ้น หลายคนก็มองเราอย่างเข้าใจและเปิดใจ” ผู้ก่อตั้งทีมฟุตบอลบูคู เอฟซี กล่าวทิ้งท้าย

บูคู เอฟซี ก็เหมือนชุมชนเล็กๆ ชุมชนหนึ่ง ที่สร้างวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ล้อเลียนกัน และยอมรับในความแตกต่าง เป็นการสร้างแรงขับเคลื่อนในสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเกินกว่าคนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจจะทำได้ แต่สำหรับอาจารย์อัน เธอเชื่อว่า การสร้างแรงผลักดันที่ดีต้องเริ่มที่ตัวเรา ถ้าคนเปลี่ยน สังคมจะกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น 

วิธีคิดที่มานั่งเหยียดคนอื่น ยึดติดกับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ หรือมองว่าความเท่าเทียมไม่มีจริง...ควรหมดไปจากสังคมนี้ได้แล้ว

บูคู เอฟซี_๑๙๐๖๑๗_0001