Tianjin Binhai Library ภาพเสมือนของการอ่าน
เมื่อพฤติกรรมการอ่านบนหน้ากระดาษน้อยลงทุกที ห้องสมุดจะปรับตัวอย่างไรให้ไม่น่าเบื่อ
ใครๆ มักพูดอ้างอิงสถิติว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละไม่กี่บรรทัดต่อคนอยู่เสมอ แม้ล่าสุดปี 2561 ได้มีการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของคนไทย จาก 55,920 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่า คนไทยใช้เวลาในการอ่านเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park)
สิ่งที่น่าสนใจ คือ สถิติการอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกสูงขึ้น มีสัดส่วนใกล้เคียงกับการอ่านหนังสือเล่ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หนังสือพิมพ์ นิตยสารหลายฉบับหลายเล่มปิดตัวลง หรือแม้กระทั่งร้านหนังสือที่ต่างก็ต้องปรับตัวตั้งรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้
ถ้าอย่างนั้น คลังความรู้ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมหนังสือแหล่งสำคัญอย่าง ‘ห้องสมุด’ คงต้องตั้งรับ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เช่นกัน
เมื่อพฤติกรรมการอ่านบนผิวสัมผัสหน้ากระดาษน้อยลงทุกทีๆ ห้องสมุดจะปรับตัวอย่างไรให้ไม่น่าเบื่อ แต่น่าดึงดูดใจมากขึ้น Tianjin Binhai New Area Library หรือ ห้องสมุดเทียนจินปินไห่ ที่ตั้งอยู่ใน ศูนย์วัฒนธรรมเทียนจินปินไห่ (Tianjin Binhai Cultural Center) เมืองเทียนจิน ประเทศจีน เมืองชายฝั่งนอกกรุงปักกิ่ง หนึ่งในเมกะโปรเจคของจีน ที่ต้องการปลุกปั้นเทียนจินให้เป็นอีกหนึ่งเขตเศรษฐกิจสำคัญ ได้สร้างตัวเองให้กลมกลืนกับยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่ว่าได้อยู่หมัด
อาคารห้องสมุดเทียนจินปินไห่ ออกแบบโดยบริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ชื่อ MVRDV ร่วมกับสถาบันผังเมืองและออกแบบเทียนจิน (Tianjin Urban Planning and Design Institute) บนพื้นที่ใช้สอยประมาณ 33,700 ตารางเมตร มีทั้งหมด 5 ชั้น โดยคาดหวังให้เป็นอาคารการเรียนรู้แห่งใหม่ที่พร้อมบรรจุหนังสือนับ 1.2 ล้านเล่ม แม้ปัจจุบันมีหนังสืออยู่ราว 2 แสนเล่ม เปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017 โดยใช้เวลาสร้างเพียง 3 ปีเท่านั้น
Winy Maas ผู้ร่วมก่อตั้ง MVRDV บอกว่า พวกเขาตั้งใจสร้างพื้นที่สาธารณะที่สวยงามและเต็มไปด้วยประโยชน์ใช้สอยใจกลางอาคาร สื่อสารถึงคอนเซ็ป ‘A new urban living room’ หรือการสร้างห้องนั่งเล่นในเมืองใหญ่ รูปแบบชั้นวางหนังสือที่มีความโค้งไปมา เป็นทั้งที่นั่งและเป็นทางเดินเชื่อมไปยังชั้นต่างๆ ส่วนเว้าที่เกิดจากความโค้งสร้างมุมหรือพื้นที่ปลอดภัยอยู่ทั่วพื้นที่ เหมาะกับการสร้างบทสนทนาแลกเปลี่ยน รวมถึงการอ่าน ห้องสมุดเทียนจินปินไห่จึงไม่ใช่แค่พื้นที่ด้านการศึกษา แต่เป็นพื้นที่ทางสังคมและเชื่อมโยงวัฒนธรรมของผู้คนเข้าด้วยกัน
เมื่อเอ่ยถึง MVRDV อาจไม่คุ้นหูนัก แต่บริษัทสถาปนิกแห่งนี้ ฝากฝีมือไว้ที่ Taipei Twin Towers เมืองไทเป ไต้หวัน อาคารแฝดย่านสถานีรถไฟหลักกลางกรุงไทเป รูปทรงคล้ายกล่องเรียงซ้อนกัน พร้อมกรุฟาซาดรอบด้านด้วยจอดิจิทัลอินเตอร์แรกทีฟ และ Hamburg Innovation Port ที่เยอรมนี ด้วยเช่นกัน
สำหรับห้องสมุดเทียนจินปินไห่ สถาปัตยกรรมของห้องสมุดแห่งนี้มีความโดดเด่นทั้งแนวคิดและงานออกแบบ มีชื่อเล่นว่า 'The Eye' ที่ให้ความหมายถึง ‘การมอง’ และ ‘การเห็น’ ที่เชื่อมโยงกับการอ่าน
โดมรูปทรงกลมขนาดยักษ์กลางอาคาร เมื่อมองเข้ามาจากภายนอกมีลักษณะคล้ายดวงตากลมโตที่กำลังเบิกกว้าง หลายคนบอกว่าให้ความรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในหนังไซไฟ
สังเกตว่าการเรียงตัวของชั้นหนังสือในโถงกลางภายใน ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นคลื่นขาว โค้งไปมา ให้ความรู้สึกมีชีวิต ยืดหยุ่นและพลิ้วไหว อย่างไรก็ตามริ้วหนังสือที่เห็นนั้น ไม่ใช่หนังสือจริง เป็นเพียงการปรินท์ภาพสันหนังสือแปะลงบนฝาผนัง เพื่อสร้างกิมมิกและจุดสนใจเย้ายวนให้ชาวโซเชียลมีเดียแวะมาเยี่ยมชม แล้วก็ทำได้สำเร็จเสียด้วย เพราะกระแสโซเชียลมีเดียนี้เองที่ทำให้ห้องสมุดเทียนจินปินไห่เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจไปทั่วโลกในระยะเวลาไม่นาน
อันที่จริงพื้นที่โถงขนาดใหญ่ที่ว่านี้ถูกออกแบบให้เป็น public space เชื่อมต่อไปยังแต่ละชั้นในตัวอาคาร เป็นพื้นที่สำหรับนั่งพักและใช้เพื่อการประชุมพูดคุยได้ ลักษณะที่นั่งไล่ระดับไปตามความสูงคล้ายโรงละคร หมดปัญหาขาดแคลนที่นั่งสบายๆ ผ่อนคลายเมื่ออยู่ในห้องสมุดหรือพื้นที่สาธารณะไปเลย เพราะแทบทุกส่วนของโถงแห่งนี้ เป็นที่ให้เลือกจับจองนั่งได้เสียจนตัดสินใจไม่ถูกว่าจะไปอยู่มุมไหน
ส่วนห้องสมุดจริงที่เก็บรวบรวมหนังสือไว้ ถูกแยกออกไปอีกฝากหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาจีน ประวัติศาสตร์ การเมือง และปรัชญาจีน นอกจากนี้ยังมีห้องหนังสือเด็กและผู้สูงวัยให้บริการ ด้านล่างมีมุม Reader Recommendation หนังสือจีนน่าสนใจที่คัดสรรมาแล้วว่าควรค่าแก่การอ่าน
การออกแบบที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ในโลกดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ห้องสมุดเทียนจินปินไห่ คว้ารางวัล Jury and Public Choice Award ปี 2017 จาก Architizer A+ Awards หนึ่งในเวทีประกวดงานด้านสถาปัตยกรรมที่โด่งดังที่สุดของโลกไปครอง
เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ศูนย์วัฒนธรรมเทียนจินปินไห่จะประกอบด้วย 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ Tianjin Binhai Library, Museum of Modern Art : MOMA พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่, Science & Technology Museum พิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, โรงหนัง และ Citizens’ Center พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมสันทนาการ ทัศนศึกษา และอีเวนท์ที่ให้ทั้งความบันเทิง ความรู้และความสนุกสนานสำหรับคนทุกเพศทุกวัย
เห็นได้ว่า ห้องสมุดเทียนจินปินไห่ เป็นอีกหนึ่งการปรับตัวและนวัตกรรมการสร้างความจริงที่เสมือนจริง เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น ห้องสมุดแห่งนี้เป็นที่หมายปองต้องตา จนทำให้หลายคนอยากไปเยือนสักครั้ง ส่วนเมื่อได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองแล้ว สถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในสามารถกระตุ้นและสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ได้อย่างยอดเยี่ยม