‘เสียง’ที่มีความหมาย Read for the Blind

ถ้าคุณมองไม่เห็น เสียงที่คุณได้ยิน จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตไม่ใช่น้อย ถ้าอย่างนีั้นคุณจะมีส่วนช่วยคนบกพร่องทางสายตาอย่างไร
ชีวิตที่ผ่านมา หากคนตาดีอยากช่วยคนบกพร่องทางสายตา ก็ทำได้แค่จูงข้ามถนน บอกทาง บริจาคเงิน ฯลฯ แต่ไม่สามารถทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กระทั่งเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องนี้ ปัจจุบันในเมืองไทย มีแอพฯและเพจ Read for the Blind รวมถึง เพจ Help Us Read ช่วยอ่านหน่อยนะ เพื่อช่วยเหลือคนบกพร่องทางสายตาให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น และล่าสุดคนตาดีหลายคนก็เพิ่งรู้ว่า คนที่มองไม่เห็นใช้เฟซบุ๊คและโซเชียลเน็ตเวิร์คในชีวิตประจำวันไม่ต่างจากคนตาดี
“ถ้าแอพฯที่ทำออกมา ได้มาตรฐานสากล คนตาบอดก็ใช้ได้หมด มันมีเสียงที่เราได้ยินและใช้ได้เลย” ชลทิพย์ ยิ้มย่อง ผู้ดูแลระบบบริการข่าวสารสำหรับคนตาบอด มูลนิธิคนตาบอดไทย และแอดมินเพจ ช่วยอ่านหน่อยนะ เล่า
ล่าสุด เฟซบุ๊คประเทศไทย และ HBOT บริษัทพัฒนาและผลิตแชทบอท มาช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยี Bot for Messengerให้ Read for the Blind บริการแชทบอทเพื่อช่วยเพิ่มอาสาสมัครให้สามารถเข้าถึงข้อมูลบนแพลตฟอร์มมากขึ้น
-1-
มีรายงานจากองค์การอนามัยโลกว่า มีประชากร 285 ล้านคนที่สูญเสียความสามารถด้านการมองเห็นอย่างรุนแรง เช่น มีระดับค่าสายตาเกินกว่าระยะ 20 ฟุต และต้องอาศัยเครื่องมือเพื่อช่วยขยายและอ่าน ในขณะที่มีจำนวน 39 ล้านคน เป็นผู้พิการทางสายตา (อาจต้องใช้โปรแกรมอ่านหน้าจอเข้าช่วย) และราว 360 ล้านคนมีความผิดปกติด้านการได้ยินรวมอยู่ด้วย (อาจต้องอาศัยการบรรยา่ยแทนเสียง)
จากการสำรวจของเฟซบุ๊ค 50 ประเทศพบว่า กว่าร้อยละ 30 ของผู้ใช้งานมีปัญหาต่างๆ อย่างน้อยหนึ่งด้าน เช่น ปัญหาด้านการมองเห็น การได้ยิน การพูด การเรียบเรียงความคิด การเดินหรือการหยิบจับ
ทั้งนี้ ยังพบว่า 1 ใน 10 ของผู้คนจะต้องอาศัยฟังก์ชั่นขยายหน้าจอ เมื่อใช้งานเบราว์เซอร์ของเฟซบุ๊ค ในขณะที่ร้อยละ 20 ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊คจำเป็นต้องขยายขนาดตัวอักษรบนระบบปฏิบัติการiOS
ปัจจุบันในเมืองไทยมีผู้บกพร่องด้านสายตากว่า 700,000 คน และใช่ว่าในจำนวนนั้นจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้เหมือนกัน ยังขาดเครื่องมือในการสื่อสาร ดังนั้นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างเช่นแชทบอท มาใช้ในชุมชน Read for the Blind ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ก็เพื่อตอบคำถามซ้ำๆ ที่อาสาสมัครถามเข้ามา และทำให้ข้อมูลการสร้างหนังสือเสียง และวิธีการทำงานง่ายขึ้น
ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Read for the Blind และกลุ่ม ช่วยอ่านหน่อยนะ บอกว่า ตอนแรกๆ การอ่านหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอด คนส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการเดินทางและเวลา ก็เลยคุยกันว่ามาทำแอพฯ จนมีจำนวนผู้ติดตามกว่า 187,000 คน และเพจRead for the Blind ทางเฟซบุ๊ค อาสาสมัครจะได้สร้างหนังสือเสียงจากบ้านได้เลย ไม่ต้องเดินทางมา
“เดี๋ยวนี้คนบกพร่องทางสายตาใช้เฟซบุ๊คพิมพ์(โดยใช้เสียงพูด)เร็วกว่าผมอีก นอกจากคนตาดีช่วยอ่านหนังสือเสียงลงในแอพฯให้ ยังมีรูปภาพ เอกสาร ที่คนตาบอดโพสต์บนเพจ เพื่อให้อาสาสมัครคนตาดีช่วยอ่าน”
ชลทิพย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Read for the Blind และกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ และยังทำหน้าที่แอดมินของทั้งสองชุมชน กล่าวว่า ผู้บกพร่องด้านสายตา มักประสบปัญหาในการหาความช่วยเหลือด้านพื้นฐานในแต่ละวัน
“กว่า13,000 คนที่มาเข้าร่วมกลุ่มRead for the BlindและHelp Us Readเ ราสามารถเชื่อมต่อผู้มีปัญหาด้านสายตาเข้ากับกลุ่มอาสาสมัคร เครื่องมือต่างๆ บนเฟซบุ๊คช่วยให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูล ไม่ว่าคำอธิบายวิดีโอ ป้ายข้อความ หนังสือ หรือแม้กระทั่งรูปภาพและการ์ดอวยพรจากลูกๆ “
-2-
“เฟซบุ๊คเองก็ทำฟังก์ชั่นการใช้งานช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการมองเห็น ทั้งเรื่องการปรับสี ปรับฟร้อนต์ รวมทั้งการฟังวิดีโอ มีแคปชั่นออโต้ ดูวิดีโอง่ายขึ้น ไม่ว่าจะบกพร่องทางการเคลื่อนไหว หรือการได้ยิน เราก็นำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยช่วยอธิบายรูปภาพเยอะๆ เราต้องพัฒนาเอไอไปเรื่อยๆ” แมทธิว คิง วิศกรที่มีความบกพร่องด้านสายตาคนแรกของเฟซบุ๊ค เล่าโดยเขาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโปรเจ็กต์การอธิบายภาพด้วยเสียง (automatic alt-text) ที่เริ่มเมื่อปี 2559 เป็นโปรเจ็กต์ที่ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาด้วยการใช้แคปชั่นวิดีโอ ช่วยอธิบายวัตถุต่างๆ ซึ่งปรากฎอยู่ในภาพ
“เราศึกษาวิธีการใช้งานของกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางสายตา เพื่อนำไปพัฒนาระบบ และช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อกับผู้คนและสิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดในอนาคต อย่างคนพิการทางสายตาในอินเดีย อยากให้มีเนื้อหาภาษาท้องถิ่นมากขึ้น หรือคนบกพร่องทางการได้ยินของบราซิลรู้เฉพาะภาษามือของบราซิล เขาก็อยากรู้ภาษามือชาติอื่นด้วย ”
เพื่อให้คนตาดี นึกภาพออกว่า คนบกพร่องทางสายตาใช้สมาร์ทโฟนอย่างไรในการดำเนินชีวิต จึงมีการนำเสนอวิดีโอคนญี่ปุ่นที่เป็นโรคหัวใจแล้วต้องสูญเสียการมองเห็น เขารู้สึกว่า ต่อไปชีวิตของเขาคงพังทลาย แต่อย่างไรก็ตาม เขายังมีผิว ลิ้น จมูก และความรู้สึก สามารถสัมผัสสิ่งรอบตัวได้
ในวิดีโอ เขาถือสมาร์ทโฟน ออกไปยืนกลางทุ่งหญ้า แล้วถ่ายภาพบรรยากาศยามเช้าและอาหารที่กินอัพลงในเฟซบุ๊ค อาสาสมัครก็มาช่วยกันบรรยากาศภาพให้ฟัง
เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยคนบกพร่องทางสายตาให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น ณัฐวุฒิ บอกว่า ช่วยเปิดโลกให้พวกเขา
“ในออนไลน์ มีอย่างเดียวที่คนบกพร่องทางสายตาเข้าไม่ถึง คือ รูปภาพที่เป็นทั้งข้อมูลและภาพต่างๆ แม้จะมีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยบรรยาย แต่ไม่ทั้งหมด ผมอยากให้ทุกคน ไม่ว่าตาดีหรือบกพร่องทางสายตา สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ได้เท่าเทียมกัน “
นอกจากนี้ เขายังบอกว่า แอพ Read for the Blind จะมีทั้งภาษาอังกฤษ ไทย และภูฏาน แม้แอพภาษาภูฏานจะไม่สมบูรณ์แบบ เราก็ทำไปก่อน และปลายปีนี้คนบกพร่องทางสายตาหรือคนอ่านหนังสือไม่ออกในภูฏานจะสามารถใช้ได้แล้ว
“เราอยากให้ไอเดียนี้เกิดขึ้นในหลายๆ ชุมชนหลายประเทศ เราไม่ใช่องค์กรธุรกิจ ดังนั้นถ้าใครเห็นว่า ดี ก็อปปี้ไปทำได้เลย เรายินดีช่วยสนับสนุน เหมือนเฟซบุ๊คช่วยเรา ถ้าเทคโนโลยีไปถึงจุดที่ AI แย่งตอบคำถามก่อนอาสาสมัคร เราจะมีความสุขมาก แต่ยังไงคนก็ยังเก่งกว่า AI ในเรื่องศิลปะ การบรรยายความรู้สึก”
................
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ทำเรื่องนี้
ณัฐวุฒิ : เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ทำเรื่องนี้ แล้วพบว่าอาสาสมัครช่วยพิมพ์หนังสือเสียงมีน้อยมาก จนมาเจอชลทิพย์ จึงคุยกันว่า น่าจะลองทำแอพฯ และเพจ พอทำออกมาไม่กี่เดือน มีคนเข้ามาใช้กว่าหมื่นคน เราก็มีกำลังใจ ผมไม่ได้ทำโครงการนี้แบบตัดริบบิ้นเปิดงานแล้วจบๆ ไป และไม่ใช่ซีเอสอาร์ในบริษัทผม แต่มันคือชีวิต ผมทำกับมูลนิิธิคนตาบอด และหลายๆ องค์กร ซึ่งเทคโนโลยีอันนี้เกี่ยวข้องคนบกพร่องทางสายตา ซึ่งผมอยากผลักดันเรื่องนี้ให้ดีที่สุด
ตอนเริ่ม Read for the Blind เป็นอย่างไรบ้าง
ณัฐวุฒิ : แรกๆ ที่ทำแอพฯ คนตาบอดเข้ามาฟังโดยตรงไม่ได้ ต้องถูกส่งไปให้ห้องสมุดเสียงก่อน จากนั้นค่อยๆ พัฒนา จนมีวันนี้
ชลทิพย์- : คุณณัฐบอกว่า Read for the Blind มันคือส่วนหนึ่งในชีวิต เขาอยากเห็นการเติบโต จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ตอนเราเริ่มทำงานร่วมกัน จากคนรู้จักกลายมาเป็นเพื่อนสนิท และเราอยากให้สิ่งที่เราทำเติมเต็มให้คนบกพร่องทางสายตา ใช้กันทั่วโลก ซึ่งการทำงานส่วนนี้ทำให้เราเห็นว่า จริงๆ แล้วทุกคนเป็นผู้ให้ได้หมด ไม่ต้องเสียเงิน สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยคนตาบอดได้ เป็นสังคมก้มหน้าที่ทำความดีกันได้
ทำไมในแอพฯ มีภาษาภูฏานด้วย
ชลทิพย์ : 3 ปีที่แล้วเราไปพรีเซนต์ Read for the Blindที่สหประชาชาติ ประเทศเม็กซิโก ตอนนั้นมีคนภูฏานฟังอยู่ เพราะประเทศของเขามีทั้งคนตาบอดและคนที่อ่านหนังสือไม่ได้เยอะมาก และเราไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์
ณัฐวุฒิ : เรื่องนวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอให้เริ่มต้น ไม่ยอมแพ้ เมื่อมีก้าวแรก ก้าวต่อไปก็ตามมา
แล้วคนในสังคมจะช่วยอะไรได้บ้าง
ณัฐวุฒิ : ถ้าคนตาบอดทำงานด้านโปรแกรมเมอร์ได้ ผมยินดีรับเข้าทำงาน แต่ไม่ค่อยมี เมื่อไม่นานผมเพิ่งทำโครงการ วิ่งกระตุกหัวใจให้สภากาชาดไทย ให้คนวิ่งแล้วส่งจำนวนกิโลเมตรเข้ามาทางออนไลน์ มีคนมาร่วมวิ่งประมาณสามแสนคน ทุกกิโลเมตรที่วิ่งก็จะมีสปอนเซอร์บริจาคเพื่อการกุศล ซึ่งตอนนั้นได้เงินบริจาคประมาณ 140 ล้านบาทให้สภากาชาดไทย ไปซื้อเครื่องกระตุ้นหัวใจ (AED)
ส่วนเพจ ช่วยอ่านหน่อยนะ คนสนใจสามารถเข้ามาเป็นสมาชิก ช่วยคนตาบอดอ่าน เมื่อเข้ามาร่วมก็จะได้รู้ว่า คนตาบอดทำอะไรได้บ้าง เวลาองค์กรหรือหน่วยงานใดไปทำเว็บหรือแอพ จะได้นึกออกว่า จะทำให้คนตาบอดใช้งานได้ยังไง ยกตัวอย่าง ถ้าธนาคารต่างๆ ทำแอพฯ ให้ได้มาตรฐาน ก็จะช่วยคนตาบอดได้ด้วย
ชลทิพย์ : แอพฯ เบิกเงินธนาคารช่วยคนตาบอดได้เยอะ บางธนาคารไม่ต้องใช้บัตร ATM กดเงิน อาศัยว่าคนตาบอดจำปุ่มกดเงินเอง ปุ่มนูนๆ เลข 5 อยู่ตรงกลาง ซ้ายเป็น 4 ขวาเป็น 6